Saturday, April 20, 2024
AgriTechArticlesCase StudySmart Farm

กรณีศึกษา ความสำเร็จไร่มันสำปะหลัง พลิกโฉมด้วย Smart Farming

Smart Farming

กรณีศึกษา ความสำเร็จไร้มันสำปะหลัง พลิกโฉมด้วย Smart Farming การเกษตรแม่นยำ ประยุกต์ใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ก้าวสู่การเกษตรแบบดิจิทัลสามารถวิเคราะห์และวางแผนได้อย่างแม่นยำ

ารเกษตรยุคใหม่ หรือ สมาร์ทฟาร์มมิ่ง (Smart Farming) เป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก ได้มีการส่งเสริมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะสมาร์ทฟาร์มมิ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความอยู่ดีกินดีของเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สมาร์ทฟาร์มมิ่งยังสอดคล้องกับทิศทางของประเทศในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตร ด้วยการนำความหลากหลายทางชีวภาพ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้เพื่อช่วยให้บริหารจัดการการเกษตรได้ง่ายขึ้น มีต้นทุนลดลง แต่ได้ผลผลิตที่ดีและมากกว่าเดิม รวมทั้งเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรให้สูงขึ้น

ปัญหาซ้ำซากของชาวไร่มันสำปะหลัง

ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำสำหรับชาวไร่ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ที่ต้องเผชิญมาหลายปี คือ ขาดความสามารถในการคาดการณ์ผลผลิต สภาพสิ่งแวดล้อม ดินฟ้าอากาศที่ควบคุมไม่ได้ การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลัง ระบบขนส่งผลผลิต การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร

อิษฎากร ดาราษฎร์ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เล่าว่า “เพิ่งเปลี่ยนมาปลูกมันสำปะหลังได้ 10 ปี เริ่มแรกยังไม่มีความรู้เลย ทำให้ได้ผลผลิตไม่แน่นอนและไม่คุ้มทุนเพราะต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีมาก แต่หลังจากไทยวาเข้ามาให้ความรู้และคำแนะนำ ช่วยวางระบบน้ำหยดและสอนการทำปุ๋ยน้ำหมักเพื่อฉีดพ่นทางใบ ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 30%”

อิษฎากร ดาราษฎร์ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

“และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้รับการแนะนำให้ทดลองลองปลูกมันสำปะหลังพันธ์แว็กซี่ที่มีราคารับซื้อสูงกว่าพันธุ์ปกติถึง 50% ทำให้ผมและครอบครัวมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม อยากเชิญชวนชาวไร่คนอื่นๆ มาลองปลูกมันสำปะหลังแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่ง เพราะมีข้อดีมากกว่าเดิมจริงๆ”

ขณะที่ อารีรัตน์ หอมอ่อน เกษตรกรอีกท่านหนึ่งในอำเภอหนองวัวซอ เปิดเผยว่า “ครอบครัวเราเคยปลูกมันสำปะหลังแบบดั้งเดิม พอมีภัยธรรมชาติหรือฝนแล้งก็ไม่รู้จะปรับตัวยังไง จะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก็พบว่าได้ผลผลิตดีและมันสำปะหลังหัวใหญ่ขึ้น ถึงบางปีจะเจอฝนแล้งแต่ต้นมันสำปะหลังก็ยังแข็งแรงอยู่รอดเพราะเรารู้วิธีการดูแล เช่น บำรุงดินด้วยปุ๋ยหมักจากเปลือกมันสำปะหลัง และเพิ่มอินทรียวัตถุในพื้นที่เตรียมปลูก”

“แต่ก่อนจะเน้นใส่ปุ๋ยเคมีมากๆ แต่เมื่อลองใช้ปุ๋ยหมักพบว่าต้นทุนลดลง ได้ผลผลิตมากขึ้นจากเดิมที่ได้ไร่ละ 5 ตัน ก็สูงขึ้นเป็น 8 – 10 ตัน”

“หลังจากติดตั้งระบบน้ำหยด และหันไปปลูกมันสำปะหลังพันธ์แว็กซี่ที่มีราคารับซื้อดี อยากแนะนำให้ชาวไร่มันสำปะหลังคนอื่นๆ หันมาปลูกมันสำปะหลังพันธุ์นี้ และมาลองทำการเกษตรแบบใหม่ตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เพราะยังมีอะไรดีๆ อีกมากที่เรายังไม่เคยรู้”

อารีรัตน์ หอมอ่อน เกษตรกร ชาวไร่มันสำปะหลัง อำเภอหนองวัวซอ
ไทยวา เข้าร่วมผลักดันการนำสมาร์ทฟาร์มมิ่ง

ไทยวา ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แป้งและอาหาร เป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการเกษตรยุคใหม่ จากแนวคิดของบริษัทที่ต้องการนำนวัตกรรมมาสร้างคุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ บริษัทให้ความสำคัญกับการส่งเสริมชาวไร่มันสำปะหลังซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหลัก โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาไทยวาได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร และยกระดับการทำเกษตรกรรม โดยยึดหลักเกษตรยั่งยืน

หทัยกานต์ กมลศิริสกุล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์ ความยั่งยืน นวัตกรรม บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน)

หทัยกานต์ กมลศิริสกุล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์ ความยั่งยืน นวัตกรรม บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไทยวาร่วมผลักดันการนำสมาร์ทฟาร์มมิ่งมาใช้ทั้งในแง่เทคโนโลยีและความรู้ เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตต่อไร่และผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น”

“เช่น การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลัง ระบบขนส่งผลผลิต การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร รวมถึงวิธีการเพาะปลูกที่ถูกต้อง เพราะเราเชื่อว่าการเติบโตร่วมกับเกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรของไทยในระยะยาว”

ที่ผ่านมาไทยวาได้จัดโครงการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ให้แก่เกษตรกร ทดแทนการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ใช้แรงงานจำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ให้ผลผลิตไม่แน่นอน โดยในขั้นตอนการเตรียมแปลงเพาะปลูก ไทยวาได้แนะนำให้รู้จักการใช้เครื่องปลูกมันสำปะหลังพร้อมยกร่องและใส่ปุ๋ย ที่ช่วยประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานลงได้อย่างมาก

จึงวางแผนและเพาะปลูกได้เร็วขึ้น ส่วนในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ไทยวาได้แนะนำให้เกษตรกรใช้เครื่องขุดเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังกึ่งอัตโนมัติ หรือ TW Raptor ที่เก็บเกี่ยวได้รวดเร็ว ทำให้สามารถเตรียมแปลงเพาะปลูกรอบถัดไปหรือปลูกพืชบำรุงดินได้เร็วกว่าเดิม

นอกจากการให้ความรู้เรื่องเครื่องจักรกลทางการเกษตรแล้ว ไทยวายังร่วมกับพันธมิตรในการนำ Precision agriculture หรือการเกษตรแม่นยำ มาประยุกต์ใช้ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเกษตรแบบดิจิทัลที่ทำให้สามารถวิเคราะห์และวางแผนได้อย่างแม่นยำ

เป็นแนวทางบริหารจัดการที่เกษตรกรในประเทศพัฒนาแล้วนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว สามารถให้น้ำ ปุ๋ย และผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชได้อย่างเหมาะสมทั้งในแง่ปริมาณและเวลา ถือเป็นหลักการบริหารจัดการเพาะปลูกในระดับแปลงหรือโรงเรือนที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพบว่าเกษตรกรในเครือข่ายของไทยวาที่นำการเกษตรแบบแม่นยำมาใช้ ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับวิธีการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม

ตัวอย่างของเทคโนโลยีเกษตรแบบแม่นยำที่ไทยวาร่วมพัฒนาให้กับเกษตรกรในเครือข่าย เช่น ระบบระบุตำแหน่งความแม่นยำสูง และการตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกด้วยภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งให้ความแม่นยำในการตรวจวัดผลผลิตและพื้นที่เพาะปลูกได้สูงกว่า 90% นอกจากนี้ยังพัฒนาแอปพลิเคชันตรวจวัดสภาพอากาศที่สามารถวิเคราะห์และพยากรณ์อากาศและปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าได้ถึง 9 เดือน และมีความละเอียดในระดับวันและสัปดาห์

Smart Farming

ไทยวายังนำการเกษตรแบบแม่นยำมาใช้เพิ่มคุณภาพของผลผลิต ผ่านโมเดลวิเคราะห์และประเมินคุณภาพมันสำปะหลัง เพื่อช่วยให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและราคารับซื้อที่น่าพอใจ ปัจจุบันโมเดลดังกล่าวสามารถวัดเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งได้แม่นยำถึง 70% และไทยวาตั้งเป้าจะพัฒนาความแม่นยำให้ได้ 90% ในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทยังแนะนำมันสำปะหลังพันธุ์แวกซี่ให้แก่เกษตรกรในเครือข่าย ซึ่งเป็นมันสำปะหลังสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตและคุณภาพสูงกว่าเดิม และให้ลักษณะของแป้งที่เหนียวซึ่งเป็นที่ต้องการของหลายอุตสาหกรรม ทำให้มีราคารับซื้อสูงกว่าพันธุ์ทั่วไป นอกจากนี้ยังเพาะต้นพันธุ์ที่สะอาดปลอดโรคเพื่อแจกจ่ายให้กับชาวไร่ในเครือข่ายด้วย

ทั้งหมดนี้คือความสำเร็จในการส่งเสริมสมาร์ทฟาร์มมิ่งของไทยวา เพื่อช่วยให้เกษตรกรไทยอยู่ดีกินดี และทำให้อุตสาหกรรมการเกษตรของไทยแข่งขันได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ความร่วมมือร่วมใจเหล่านี้จะก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรไทยต่อไป