Friday, April 26, 2024
ArticlesDigital TransformationExecutive Talk

สสว. เร่งสร้างความสามารถการแข่งขันของ SME ด้วยเทคโนโลยีไอซีที – ดิจิทัล

สสว

แนวคิดและคำแนะนำจาก วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กับการปรับตัวใช้เทคโนโลยีไอซีที – ดิจิทัล เพื่อฟื้นฟูและสร้างความสามารถการแข่งขันหลัง COVID-19

ากข้อมูลของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม_(สสว.) พบว่า วิกฤต COVID-19 ได้ส่งผลกระทบผู้ประกอบการ SMEs กว่า 1.33 ล้านราย โดยเฉพาะภาคบริการที่รับผลกระทบหนักสุด คิดเป็น 44% ของ SMEs ทั้งหมด มีแรงงานที่เสี่ยงตกงานถึง 4 ล้านคน ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อถึงสิ้นปี SMEs อาจสูญรายได้กว่า 3.5 แสนล้านบาท

ผลกระทบที่เกิดนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบทางตรงเกิดขึ้นกับกลไกสำคัญของธุรกิจได้แก่ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมี supply chain ต่อเนื่องไปถึงธุรกิจรายย่อยทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ร้านอาหาร สปา ที่พักขนาดเล็ก และบริการขนส่ง

รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่บริโภคสินค้าในประเทศไทยที่ลดจำนวนลงอย่างมีนัยสำคัญจากมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนผลกระทบทางอ้อมเกิดจาก ผู้บริโภคระมัดระวัง ลดการจับจ่ายใช้สอย และหันไปซื้อสินค้าผ่านออนไลน์แทน

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้เปิดเผย แนวคิด คำแนะนำ รวมถึงโครงการของสสว._ที่จะเป็นเครื่องมือให้ผู้ประกอบการ สำหรับการปรับตัวใช้เทคโนโลยีไอซีที – ดิจิทัล เพื่อฟื้นฟูและสร้างความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ SME หลัง COVID-19

วีระพงศ์ กล่าวว่า “จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแข่งขันอย่างสูง พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัล บวกกับการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ และเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ”

“พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ประกอบการเหล่านั้นมีการปรับระบบและวิธีการทำงาน และหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพก็คือการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เช่น การใช้แพลตฟอร์ม หรืออาจจะมีพันธมิตรการค้าใหม่”

“นโยบายของ_สสว.ในปีนี้ จึงมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุน การเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในรูปแบบ Online และ Offline และการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน ทั้งผ่านกองทุน_สสว.และเครือข่ายพันธมิตร เป็นการลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเพื่อเข้าสู่ธุรกิจยุคดิจิทัล”

เปิดรับเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลเพื่อก้าวกระโดดหลัง COVID-19

“สิ่งสำคัญของผู้ประกอบการ SME ในช่วงเวลานี้คือ ความสามารถประคองตัวให้อยู่รอดได้ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย อันเป็นการเสริมสภาพคล่องในระยะสั้นแก่ธุรกิจ และเตรียม ความพร้อมให้ธุรกิจพัฒนา ปรับตัวรองรับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ พร้อมเข้าสู่การแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว”

การปรับกระบวนความคิดหรือ Mindset ในการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัลจึงมีความสำคัญ เป็นการเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการด้วยคุณภาพ มาตรฐาน และความคิดสร้างสรรค์

เทคโนโลยีดิจิทัล ได้เข้ามาเสริมประสิทธิภาพในหลายๆ มิติ อาทิ ช่องทางการขายสินค้า การผสมผสานช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์, การทำธุรกรรมการเงินผ่านดิจิทัลแบงก์กิ้ง, ช่องทางทางการตลาด การประยุกต์แพลตฟอร์มต่างๆ นำระบบดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อให้เกิดการซื้อขาย และให้บริการเร็วขึ้น เช่น บริการถาม-ตอบในไลน์ หรือถาม-ตอบผ่านแชทบอท ซึ่งผู้ประกอบการ SME หลายรายได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว

ในสถานการณ์หลัง COVID-19 ผู้ประกอบการอาจพบปัญหาหรือจุดอ่อนในหลายๆ ประเด็น หากเริ่มต้นด้วยมุมมองที่ปัญหาหรือจุดอ่อน ทำอย่างไรก็ไม่ชนะ ในกรณีเดียวกัน ถ้าเริ่มต้นด้วยการมองเห็นโอกาส และเปลี่ยนจุดอ่อนให้สามารถแข่งขันได้ โดยอาศัยเครื่องมือดิจิทัล

เทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในปี 2565

ผู้อำนวยการ สสว._ให้คามเห็นว่าเผยว่า “การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และการเข้าสู่ระบบของภาครัฐ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ประกอบการ และดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในยุค New Normal และ Next Normal โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องอาศัยเงินหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง”

“ผมเห็นว่า ผู้ประกอบการต้องเร่งเสริมความรู้และสร้างทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะการเลือกใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำการตลาดยุคดิจิทัล การยกระดับมาตรฐานสินค้า การทำบัญชีที่ถูกต้อง เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น”

ดันหลายโครงการหนุนผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

แม้ว่าในปีนี้ประเทศไทย และทั่วโลกต่างเผชิญกับวิกฤต COVID-19 แต่ สสว._ก็ยังคงเดินหน้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ ให้มีศักยภาพสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง และสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่พร้อมเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจของไทยต่อไปในอนาคต รวมถึงสนับสนุนรายเก่าให้แข็งแกร่งขึ้น

ทั้งนี้ มีหลายโครงการที่สสว._ได้ผลักดัน อาทิ โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ (Early Stage All Stars) เพื่อสร้าง SMEs รุ่นใหม่ที่ปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาสินค้า และบริการใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

ซึ่งตลอดระยะเวลาดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยกว่า 5 หมื่นราย ให้สามารถต่อยอดการดำเนินธุรกิจของตนและเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและวิจัยพัฒนา รวมถึงเสริมแกร่งกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 โดยใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการการผลิต บริหารจัดการและการตลาด

ผอ.สสว._กล่าวว่า “ผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จะได้รับความรู้เกี่ยวกับ ขั้นตอนในการเริ่มต้นทำธุรกิจ และรูปแบบการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ จาก สสว._ผ่านกิจกรรมการสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบออนไลน์และออฟไลน์”

“ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับการส่งเสริมศักยภาพตามปัญหาหรือความต้องการ อาทิ การเขียนแผนธุรกิจ แนะนำแผนธุรกิจที่ได้รับการตรวจสอบและพิจารณาจากสถาบันการเงิน การทำ Content Marketing แนะนำการใช้สื่อสำหรับประชาสัมพันธ์ การเชื่อมโยง Online to Offline (O2O) สอนการเชื่อมโยงร้านค้าโลกออนไลน์กับไลน์เข้าด้วยกัน”

“การยกระดับมาตรฐาน แนะนำการเตรียมความพร้อมเพื่อการขอรับรองมาตรฐาน ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) และการเชื่อมนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้าสู่ธุรกิจหรือ Internet of Things (IoT)”

ยกระดับการบริการข้อมูล

ขณะที่การยกระดับบริการข้อมูลดิจิทัลของ สสว._ก็ได้รุดหน้า โดยความก้าวหน้าการพัฒนาระบบ SME ACCESS ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการ SME เต็มรูปแบบ เน้นปรับรูปแบบการให้บริการ MSME ในด้านต่างๆ สู่รูปแบบ e-Service เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้ผู้ประกอบการ เตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจในอนาคต

วีระพงศ์ กล่าวว่า “สสว._ได้ดำเนินการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ประกอบการ SME ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 โดยเริ่มจากการต่อยอดการบูรณาการงบประมาณการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ด้วยการพัฒนาเว็บไซต์กลางที่รวบรวมข้อมูลการส่งเสริมและโครงการในการพัฒนาผู้ประกอบการ SME ของภาครัฐและเอกชนมากกว่า 50 หน่วยงาน มาไว้ในที่เดียวกัน”

“เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลการส่งเสริมของรัฐบาลให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชัน SMECONNEXT สำหรับการประชาสัมพันธ์โครงการและกิจกรรมต่างๆ ของ_สสว._และการเป็นชุมชน (Community) ของผู้ประกอบการ SME ที่เคยใช้บริการของ_สสว.”

ผอ._สสว._เผยอีกว่า “การให้บริการด้วยระบบดิจิทัลออนไลน์ของ สสว.ได้รับกระแสตอบรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากจำนวนผู้ใช้งานเว็บไซต์ smeone ที่มีผู้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 9,287 ราย ในปี 2561 เพิ่มเป็น 332,741 ราย ในปี 2563 และมีจำนวน 580,185 ราย ในปี 2564 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์จากความจำเป็นของเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด”

“สสว._จึงพัฒนา ระบบให้บริการ SME ACCESS ที่เป็นการบูรณาการส่วนงานที่ทำหน้าที่ให้บริการแก่ผู้ประกอบการ SME ในรูปแบบดิจิทัลของ สสว.ทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องผู้ประกอบการ SME และจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบการส่งเสริม SME ของประเทศที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มของบริบททางสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต”

“ซึ่งประกอบด้วยเว็บไซต์ SME ONE (Web Portal) SME Academy 365 (ระบบการเรียนรู้ออนไลน์) SME Coach (ระบบฐานข้อมูลที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญหรือที่สามารถให้คำแนะนำผู้ประกอบการ MSME) และ แอปพลิเคชัน SME Connext”

เดินหน้าสู่เป้าหมายความสำเร็จของผู้ประกอบการ

สสว._ยังคงมุ่งเน้นการสนับสนุน ช่วยเหลือให้ SME สามารถประคองตัวให้อยู่รอดภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเตรียมความพร้อม ให้ SME พัฒนา ปรับตัวรองรับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต (UpSkill) และ การสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการ (ReSkill) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็น ทักษะในการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ อาทิ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิต,ความสามารถในการทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้ของเครื่องจักร, การทำงานร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ

พร้อมกับเสริม ทักษะในการพัฒนาและบริหารจัดการธุรกิจให้ผู้ประกอบการ อาทิ การเข้าถึงข้อมูล, การคิดเชิงวิเคราะห์, การพัฒนาบุคลากรให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ

ถือได้ว่าเป็นภาพรวมของกระบวนการพัฒนาศักยภาพ SME ของยุคนี้ เพราะความรู้ชุดเดิมที่มีอยู่ย่อมไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต การดำเนินธุรกิจ ในขณะที่โลกมีความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ