Saturday, April 20, 2024
NEWS

EIC ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 65 โต 3 % และขยายตัวได้ 3.7% ในปี 66

EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็น 3.0% และขยายตัวได้ 3.7% ในปี 2566 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเงินเฟ้อที่ยังสูง โดยมีการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ฟื้นตัว ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนของไทยมีแนวโน้มชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก

EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็น 3.0% (เดิม 2.9%) และ 3.7% ในปี 2566 ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและภาคบริการ จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและการผ่อนคลายมาตรการเดินทาง ข้ามพรมแดนทั่วโลกโดย EIC ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยจะเพิ่มเป็น 10.3 ล้านคนในปีนี้

และ 28.3 ล้านคนในปี 2566 หลังจีนมีแนวโน้มเริ่มเปิดประเทศผ่อนคลายการท่องเที่ยวตั้งแต่ปลายปีนี้ ประกอบกับแนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีกลับไปใกล้ระดับก่อนเกิด COVID-19 ในปี 2566 ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง

และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีแรงกดดันจากค่าครองชีพที่ยังสูงอยู่ EIC ปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2565 เป็น 6.1% (เดิม 5.9%) และคาดว่าเงินเฟ้อจะทยอยปรับลดลงอย่างช้า ๆ อยู่ที่ 3.2 % ในปี 2566 สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

จากราคาพลังงานและอาหารที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปยังราคาสินค้าในกลุ่มอื่นที่มีมากขึ้น ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC)

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า “เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจนขึ้น ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคในครึ่งแรกของปีชะลอตัวลงชัดเจนทั่วโลก ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคในหลายประเทศก็ปรับลดลงใกล้ระดับวิกฤตรอบก่อน ๆ แล้ว

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เศรษฐกิจโลกน่าจะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วพร้อมกันทั่วโลก วิกฤตพลังงานในยูโรโซนที่จะทวีความรุนแรงขึ้นอีก และการชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจจีน

รวมถึงปัญหาอุปทานคอขวดมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดไว้ EIC จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ลงจาก 3.2% มาอยู่ที่ 3.0% และในปีหน้าจะขยายตัวชะลอลงอีกไปอยู่ที่ 2.7% ที่สำคัญคือ EIC มองว่า ช่วงปลายปีนี้ถึงสิ้นปีหน้าอาจเริ่มเห็นเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ยูโรโซน และสหรัฐฯ แต่คาดว่าการถดถอยจะไม่รุนแรง (Mild recession) เนื่องจากสถานะการเงินของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังเข้มแข็งพอรองรับได้อยู่

นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า “สำหรับเงินเฟ้อโลกที่เร่งตัวมามาก ก็เริ่มผ่านจุดสูงสุดแล้วในไตรมาส 3 และน่าจะชะลอตัวลงบ้างในช่วงปลายปี จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มปรับลดลงและอุปทานคอขวดที่ทยอยคลี่คลาย EIC มองว่า แม้เงินเฟ้อจะชะลอลง แต่จะยังสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางไปอีก 1-2 ปี

เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปทานในภาคพลังงาน อาหาร และสินค้าคงทน คลี่คลายช้ากว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ อีกทั้ง ค่าจ้างจะยังอยู่ในระดับสูงตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง จึงมองว่า ธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ อีกเรื่องสำคัญในโลกที่ต้องติดตาม คือ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เพิ่มขึ้นมา

ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของห่วงโซ่การผลิต โดย EIC ประเมินในกรณีฐานไว้ว่า ความขัดแย้งระหว่างไต้หวันและจีนจะยังไม่รุนแรงขึ้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นจึงจะมีจำกัด แต่การแบ่งขั้วระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะรุนแรงขึ้น

โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ในระยะต่อไปความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่สูงขึ้น จะทำให้ธุรกิจข้ามชาติเริ่มหาทางปรับกระบวนการผลิต ซึ่งจะเห็นผลกระทบ 4 ด้านด้วยกัน คือ (1) การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศลดลง (2) ธุรกิจย้ายมาตั้งฐานการผลิตในภูมิภาคใกล้เคียงหรือในประเทศมากขึ้น (3) ธุรกิจผลิตสินค้าคงคลังมากขึ้น และ (4) การเคลื่อนย้ายทรัพยากรระหว่างประเทศจะลดลง”

ดร.สมประวิณ  มันประเสริฐ  รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

ดร.สมประวิณ  มันประเสริฐ  รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC)  และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “EIC ปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในปีนี้ และมองว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายในปีหน้าอีกปี ซึ่งจะกดดันกำลังซื้อและการบริโภคในประเทศ

รวมถึงกระทบต้นทุนและการลงทุนของธุรกิจ มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบางอยู่ บางกลุ่มครัวเรือนและภาคธุรกิจมีความเสี่ยงรายได้โตไม่ทันค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็ก

นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยราว 5% ในปลายปีนี้ ซึ่งยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อสะสมนับตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งสุดท้ายในปี 2563 ทำให้แรงงานที่พึ่งพาค่าจ้างขั้นต่ำมีรายได้ที่แท้จริงลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นในปัจจุบัน

เนื่องจากแรงงานต่างชาติออกจากประเทศแล้วยังกลับเข้ามาไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินยังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั้งในไทยและประเทศเศรษฐกิจหลัก ยิ่งซ้ำเติมแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 ที่มีอยู่ก่อนแล้ว”

ในภาพรวม EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการมากขึ้น แทนที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออกและการลงทุน แต่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศจะยังมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ทยอยลดลงไม่เร็วนักไปจนถึงสิ้นปี 2566 ท่ามกลางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ลดลง

ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างช้า ๆ โดย GDP จะยังไม่กลับไปเท่าช่วงก่อน COVID-19 จนกระทั่งไตรมาส 2 ปี 2566 และเศรษฐกิจไทยยังมี Output gap เป็นลบ และอาจต้องรอจนปลายปี 2567 ที่เศรษฐกิจจะกลับไประดับศักยภาพได้อีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่า กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่องจนถึงปีหน้า

โดย กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง (ครั้งละ 25 bps) ในเดือน ก.ย. และ พ.ย. สู่ระดับ 1.25% ณ สิ้นปีนี้ และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง (ครั้งละ 25 bps) สู่ระดับ 2% ณ สิ้นปีหน้า เพื่อให้นโยบายการเงินค่อย ๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว

สำหรับค่าเงินบาทนั้น เผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าจาก 1) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐตามทิศทางนโยบายการเงินตึงตัวของ Fed และความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย 2) เศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอกว่าคาด ทำให้เงินหยวนและค่าเงินภูมิภาค รวมถึงเงินบาทอ่อนค่า 3) เงินทุนไหลออกจาก EMs รวมถึงไทยในช่วงที่นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง และ

4) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า เงินบาทจะมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นจาก 1) เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง 2) ดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะกลับมาเกินดุลปลายปีนี้ (EIC ประเมินว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 จะกลับมาเกินดุลได้ที่ 1.5% ต่อ GDP)

3) เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าตลาดการเงินไทยตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น และ 4) อัตราเงินเฟ้อไทยที่จะปรับลดลงเร็วกว่าของสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ จึงประเมินว่า เงินบาทจะแข็งค่าลงมาอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ และ 33.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2566

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ทิ้งท้ายว่า “เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญในระยะต่อไป คือ (1) ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป กดดันการส่งออกและลงทุนในระยะถัดไป (2) เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาดจากมาตรการ Zero Covid และปัญหาในภาคอสังหาฯ ที่ยังมีหนี้ในระดับสูง

(3) เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากราคาโภคภัณฑ์ที่กระทบกาลังซื้อของครัวเรือน และต้นทุนในภาคธุรกิจ (4) ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคการผลิตและลงทุน

ดังนั้น บทบาทของภาครัฐ ในการดูแลกลุ่มเปราะบางยังคงมีความจำเป็นอยู่ ขณะที่ข้อจำกัดทางการคลังมีมากขึ้นจากทั้งเม็ดเงินและกรอบระยะเวลาใน พ.ร.ก กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่ใกล้หมดลง โดยในระยะถัดไปคาดว่าแรงสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นไปอย่างเฉพาะจุดมากขึ้น”