Friday, April 26, 2024
NEWS

ดีแทค เปิดบริการ dtac Safe สร้างความปลอดภัยไซเบอร์ บนแอปฯ ดีแทค

ดีแทคห่วงใยลูกค้าโดนหลอกจากภัยไซเบอร์ เปิดบริการ dtac Safe สร้างภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัล ให้คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ลังจากที่ดีแทค ประกาศเดินหน้าบริการสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ ภายใต้กลยุทธ์ Fast Forward Digital หนึ่งในบริการดิจิทัลใหม่สำคัญสำหรับผู้บริโภคในยุคดิจิทัล คือ dtac Safe

ล่าสุด ดีแทค ประกาศรายละเอียดของบริการ dtac Safe บริการใหม่ให้ลูกค้าดีแทคใช้เน็ตได้สบายใจ ไม่โดนหลอกลวงจากภัยไซเบอร์ ปลอดภัยจากแฮกเกอร์ ใช้งานง่าย สอดรับเป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ เร่งเปลี่ยนผ่านบริการสู่ดิจิทัลให้คนไทยเข้าถึงบริการดิจิทัลอย่างทั่วถึงเท่าเทียมและใช้งานได้อย่างปลอดภัย

บริการ dtac Safe ช่วยสร้างความมั่นใจในยุคดิจิทัล

dtac_Safe เป็นบริการเสริมใหม่ บนดีแทคแอป ในลักษณะการป้องกันผ่านระบบคลาวด์ (Cloud-based security) โดยสามารถป้องกันประเภทของการคุกคามทางไซเบอร์ได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นมัลแวร์ ไวรัส ฟิชชิ่ง แรนซัมแวร์ Botnets รวมถึงการคุมคามในลักษณะ Command & Control ซึ่งดำเนินการโดยไวรัสที่ออกคำสั่งไปยังอุปกรณ์ที่ติดไวรัสเพื่อควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ

ฮาว ริ เร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ดีแทค

ลูกค้าดีแทคที่ใช้บริการ dtac_Safe จะได้รับการแจ้งเตือนและป้องกันการเข้าใช้งานเว็บไซต์ทันที หากตรวจพบการเข้าถึงเว็บไซต์หรือลิงค์ที่คาดว่ามีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ตามฐานข้อมูลในระบบ

โดยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานโดยระบบจะอัพเดทให้อัตโนมัติโดยไม่ต้องมีการอัพเดทด้วยตัวเอง

ฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ดีแทค กล่าวว่า “ดีแทค มุ่งมั่นที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานมือถือได้มีประสบการณ์ในการใช้งานที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ด้วยการร่วมมือกับ Cyan ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ นำเสนอบริการ dtac_Safe ที่ง่ายในการปกป้องการใช้งานจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น มัลแวร์, ฟิชชิ่ง”

“ดีแทคเชื่อว่า cyber-security จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความกังวลหรือ ประเด็นที่ผู้ใช้งานจะได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในการใช้บริการดิจิทัล”

“ในฐานะที่ดีแทคเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ดิจิทัล ดีแทคตระหนักถึงภัยคุกคามในโลกดิจิทัลที่พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เราให้ความสำคัญกับนโยบายในการคุ้มครองความปลอดภัย และพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตประจำวันของลูกค้าที่ทำกิจกรรมบนออนไลน์อยู่ตลอดเวลา

ETDA ยินดีภาคเอกชนร่วมสร้างความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์
ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA

ดร.ชัยชนะ  มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กล่าวว่า “การส่งเสริมให้ประเทศมีการทำธุรกรรมทางออนไลน์อย่างความมั่นคงปลอดภัย และมีความน่าเชื่อถือ จนเกิดความเชื่อมั่นในการใช้งานเพิ่มมากขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่ ETDA ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เสมอมา ควบคู่กับการเสนอแนะทั้งในด้านมาตรฐาน

ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมาย รวมถึงการร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน เนื่องจากในปัจจุบันคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นผ่านบริการต่าง ๆ และส่งผลให้ชั่วโมงของการใช้งานมากขึ้นตามไปด้วย จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้งานเกิดความเสี่ยงต่อการถูกภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ง่าย

ดังนั้น การที่ภาคเอกชน อย่างดีแทค ได้ให้ความสำคัญกับความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์และมีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อปกป้องการใช้งานอินเทอร์เน็ต ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ

รวมถึงการยกระดับให้คนไทยได้มีความตระหนักรู้ในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงบริการดิจิทัลสำหรับการทำธุรกรรมได้อย่างมั่นคงปลอดภัยแพร่หลายมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต”

ดีแทคมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายแรกในไทยที่ริเริ่มการสร้างทักษะและภูมิคุ้มกันให้ผู้ใช้งานที่เป็นเด็กและเยาวชน สามารถแยกแยะและรับมือกับภัยเสี่ยงบนโลกออนไลน์ได้ ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันบนโลกออนไลน์ผ่านโครงการ dtac_Safe Internet อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดดีแทคจะร่วมมือกับ ETDA ในการนำหลักสูตร Digital Citizen ที่อิงมาตรฐานจากกรอบ DQ Framework โดยดีแทคและ ETDA จะร่วมกันจัดค่าย Young Safe Internet Leaders Cyber Camp ครั้งที่ 4 ในช่วงปิดภาคเรียน ประจำเดือนเมษายนนี้

ข้อมูลพบภัยคุกคามยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง

ปัญหาด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์กำลังมาสร้างความกังวลใจในชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ ไทยเซิร์ต ระบุว่า ในปี 2564 คนไทยเผชิญภัยคุกคามทางไซเบอร์ทุกประเภท 2,250 รายการ

ขณะเดียวกันผู้ใช้งานในกรุงเทพฯ เพียงจังหวัดเดียว ติดมัลแวร์กว่า 700,000 ไอพี (Cyberthreat Landscape in Thailand and the Asia Pacific Region – Microsoft Digital Crimes Unit) อันเป็นผลมาจากการเข้าถึงและใช้งานดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นของคนไทยและการขาดความรู้ในการใช้งานอย่างถูกต้อง ทำให้ผู้ใช้งานเผชิญกับความเสี่ยงได้ทุกขณะ