Friday, April 26, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

RCEP การร่วมมือครั้งสำคัญที่ไทยต้องได้ประโยชน์

ผู้เขียนขอแชร์ไอเดีย ที่เรียกว่า กรอบความคิดโมเดลบูรณาการ 8C หรือ Dr. Dan Can Do 8C Integration Model เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับความร่วมมือของ RCEP ให้แน่นแฟ้นขึ้นเพื่อให้การรวมกลุ่มนี้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกประเทศและกับประเทศไทย

ทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่องและยาวนาน การร่วมมือทางเศรษฐกิจจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นเศรษฐกิจประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้รับคำเชิญจาก China Development Institute (CDI)ให้บรรยายหัวข้อ The RCEP Signing: Common Future and Shared Prosperity Towards Regional Cooperation ในงานสัมมนาของ China-ASEAN Think Tank Webinar

โดยสาระสำคัญที่ผมต้องการชี้ชวน คือ ทำให้ไทยเห็นโอกาส และใช้ประโยชน์จาก ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ในฐานะ 1 ชาติสมาชิก เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศให้ได้มากที่สุด

RCEP เป็นการลงนามร่วมกันในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งมีขนาดประชากรใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกรองจากการร่วมมือของ APEC และ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP)

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ประเทศสมาชิกจะสามารถเข้าถึงตลาดเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่ เข้าถึงทรัพยากรการผลิตราคาถูก เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยตรง และโดยเฉพาะเข้าถึงโอกาสจากความร่วมมือในมิติอื่นๆ

เช่น วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises หรือ MSMEs), การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, e-Commerce และความร่วมมือในอีกหลากหลายมิติ ซึ่งเป็นทิศทางที่ทั้งโลกกำลังเดินหน้าต่อไป

อย่างไรก็ตามความร่วมมือ RCEP นี้ การร่วมมือกันให้แน่นแฟ้นเพื่อจะทำให้เกิดประโยชน์จริงกับทุกฝ่ายนั้นอาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก มีประเทศสมาชิกจำนวนมาก แต่ละประเทศมีความแตกต่างหลากหลาย

ทั้งจำนวนประชากร ระดับการพัฒนา มาตรฐานการเจรจาและการค้า เป็นต้น อีกทั้งบางประเทศยังมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างกันมาก่อน และ ยังไม่เคยมีการเจรจาการค้าระหว่างกันมาก่อน

ในเวทีสัมมนาครั้งนี้ผมจึงได้เสนอแนวทางในการยกระดับความร่วมมือของ RCEP ให้แน่นแฟ้นขึ้นเพื่อให้การรวมกลุ่มนี้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกประเทศและกับประเทศไทย

โดยได้อธิบายตามกรอบความคิดโมเดลบูรณาการ 8C หรือ Dr. Dan Can Do 8C Integration Modelที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ในตอนทำเรื่องยากให้เข้าใจง่าย ในหนังสืออารยวิถีทัศน์: คุณค่าแห่งความเป็นคน

ในการรวมกลุ่ม RCEP อาจจะมี C1 Joint Vision และ C2 Joint Mission แล้ว สะท้อนออกมาให้เห็นในลักษณะ และ เนื้อหาของข้อตกลง

C1: Coordinatization Joint Vision หรือ การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ซึ่งในการรวมกลุ่ม RCEP มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในระดับหนึ่งที่จะสร้างข้อตกลงทางเศรษฐกิจที่ ทันสมัย ครอบคลุมประเด็นใหม่ๆ เช่น การค้าออนไลน์, MSMEs “ครอบคลุม” ในเรื่องต่างๆ รวมทั้งเป็นข้อตกลงที่ตั้งใจ เอื้อประโยชน์ร่วมกัน อย่างแท้จริง

C2: Cooperatization C1 + Joint Mission หมายถึง การมีพันธกิจร่วมกัน ซึ่งในการรวมกลุ่ม_RCEP นั้นมีความตั้งใจที่จะลดอุปสรรคทางการค้า และปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการทำการค้าระหว่างกัน รวมทั้งการพัฒนากฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งกลุ่ม ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการค้าระหว่างประเทศและยกระดับห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาคด้วย

อย่างไรก็ตามการมีความร่วมมือในระดับ C1, C2 ยังไม่เพียงพอ หากต้องการยกระดับ Regional Collaboration ควรจะมี C อื่นๆ หรือ Joint อื่นๆ ด้วย

C3: Collaboratization Joint Action คือการร่วมทุ่มเทแรงทำประสานแรงใกล้ชิดโดยการตั้งแพลตฟอร์มเพื่อให้มีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบเช่น

1) การจัดตั้งกลไกแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อรวบรวมและเผยแพร่แนวการปฏิบัติที่ดี (best practice) ในเรื่องต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาความยากจน การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ จีนทำอย่างไรจึงลดความยากจนของคนในประเทศได้อย่างรวดเร็ว หรือมีเทคโนโลยีใดที่ใช้ในการจัดสรรทรัพยากรในภาวะวิกฤตโควิด เป็นต้น

2) การจัดตั้งศูนย์ศึกษาระหว่างประเทศ เพื่อหาแนวทางใช้จุดแกร่ง หรือจุดร่วมทางความสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างกัน เช่น ศูนย์ไทย – จีน ศึกษา, ไทย – ญี่ปุ่น ศึกษา โดยศูนย์นี้จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ความรู้ ทรัพยากรบุคคล เกิดการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้การรวมกลุ่มกันเหนียวแน่นขึ้น

C4: Corroboratization Joint Outcome คือ การมีผลลัพธ์ร่วมกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยการกำหนด VKOR (Vision Key Outwin Results) ร่วมกันในระดับกลุ่ม ให้มีประสิทธิสภาพ ยั่งยืนข้ามกาลเวลา (outwin) โดยตัวชี้วัดควรเป็นผลลัพธ์ร่วมกันของทั้งกลุ่ม และให้ประเทศที่ถึงเกณฑ์แล้วช่วยประเทศที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ ตัวอย่างตัวชี้วัดที่สามารถไปถึงประสิทธิสภาพที่ต้องการ เช่น ความยากจนที่ลดลง รายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

C5: Congregatization – Joint Group คือการร่วมกันจัดตั้งกลุ่มมีสังกัดตัวร่วมสังกัดชัดเจน เช่น

1) การจัดตั้งทีมทำงานระดับภูมิภาค (Regional Task Force) ด้านต่างๆเช่นด้านสาธารณสุขจัดทำ Dr.Dan Can Do’s MCTS Model (manual,checklist,template,scheduling) ในการรับมือโรคระบาดหรือ ด้านการวิจัยและพัฒนาเช่นร่วมมือพัฒนา Generic Covid-19 DIY Test Kit เป็นต้น

2) การจัดตั้งกองทุนร่วมของภูมิภาค (Regional Fund)โดยสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลทุกประเทศ เพื่อลงขันกันดำเนินงานในแต่ละด้านเช่น กองทุนสุขภาพภูมิภาค (Regional Health Fund) เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ยา และเครื่องมือที่จำเป็น จัดการซื้อสิทธิบัตรและเทคโนโลยีการผลิต จากเจ้าของสิทธิบัตร อนุญาตผู้ผลิตหลายเจ้าใช้สิทธิบัตร และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนหรือยา เพื่อแจกจ่ายหรือขายให้กับประเทศยากจน ในราคาถูกเป็นต้น

C6: CorporatizationJoint Entity คือการร่วมคณะเปิดเผยผูกมัดมีความเป็นทางการเพื่อให้เกิดเสถียรภาพซึ่งทำให้เกิดขึ้นได้โดยการจัดตั้ง Secretary-General ของ RCEP_เป็นสถาบันเพื่อกำกับดูแลงาน_RCEP ในภาพรวมลักษณะเดียวกับที่ ASEAN มี Secretary-General ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกดูแลความคืบหน้าในการดำเนินงานตามความตกลงข้อตัดสินใจเสนอรายงานประจำปีและเป็นกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเป็นต้น

C7: CopulatizationJoint Consummation คือการเชื่อมลึก เพื่อสร้างความผูกพัน ความรู้สึกจิตใจ ร่วมใจ โดยจัดทำปฏิญญาเพื่อความอยู่ดีมีสุข_RCEP (RCEP_Declaration for Common Well-Being) และจัดตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติ (RCEP_International University) ในลักษณะเดียวกับมโนทัศน์มหาวิทยาลัยการสร้างชาติ ของสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ให้เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์_RCEP

เช่น แนวการปฏิบัติที่ดีในการสร้างชาติของประเทศสมาชิก และเป็นที่รวบรวมนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิกต่างๆ ให้มาศึกษาแนวทางการสร้างความอยู่ดีมีสุขร่วมกันตามหลักการของปฏิญญา

C8: CommunionizationJoint Ideologue คือการร่วมอุดมการณ์ซึ่งในกรณี RCEP_ในอนาคตอาจเกิดได้โดยการจัดตั้งสหภาพ(Union)เหมือนดังเช่นกรณีสหภาพยุโรป เป็นต้น

RCEP_เกิดขึ้นในจังหวะเดียวกับความต้องการฟื้นฟูประเทศจากการระบาดของโควิด หลายประเทศได้ยื่นสัตยาบันเข้าร่วมเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ไทยกำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ ฉะนั้นหากไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก RCEP ให้เต็มที่ น่าจะมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และ อาจยังช่วยให้เกิดก้าวกระโดดครั้งสำคัญที่จะทำให้ไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางจนก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้ครับ