Saturday, April 27, 2024
AIArticlesDigital TransformationESG

แนะ CFO เตรียมนำ AI ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน

PwC ประเทศไทย แนะ CFO เตรียมความพร้อมด้านมาตรฐานบัญชี-การจัดทำรายงานความยั่งยืน-การเข้ามาของ ​AI ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเชิงคาดการณ์และวิเคราะห์เชิงแนะนำ ตัดสินใจ และวางแผนทางการเงินเชิงกลยุทธ์ให้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

PwC ประเทศไทย แนะผู้บริหารติดตามแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมไปถึงข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับตลาดและการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่จะมีการบังคับใช้เพื่อให้สามารถระบุประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ และบริหารงานเชิงรุกเพื่อรักษาธุรกิจให้ดำเนินไปตามแผนการที่กำหนดไว้ ในขณะเดียวกัน ต้องตอบสนองความคาดหวังของนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ

ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี Corporate Reporting Forum 2023 ในหัวข้อ Decoding the future landscape ว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต

ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงแบบเรียลไทม์ และสามารถคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำเพื่อรักษาการเติบโตและลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปัจจุบัน ผู้ใช้งบการเงินไม่เพียงต้องการข้อมูลทางการเงินเท่านั้น แต่ยังคาดหวังที่จะได้รับข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินมากขึ้น

ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารธุรกิจจึงจำเป็นต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบต่างๆ เช่น มาตรฐานทางการเงินใหม่ การตื่นตัวด้านความยั่งยืนของประเทศต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และการทำจัดรายงานความยั่งยืน (Sustainability reporting)

รวมไปถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่าง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) เพื่อให้สามารถบริหารงาน และเตรียมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น

สำหรับประเด็นทางบัญชีที่ผู้ประกอบการของไทยควรต้องติดตามนั้น ประกอบไปด้วย การรับรู้รายการบัญชีเมื่อบริษัทผลิต หรือซื้อคาร์บอนเครดิตซึ่งยังไม่มีมาตรฐานการบัญชีหรือแนวปฏิบัติทางบัญชีที่เฉพาะเจาะจงรองรับ การแก้ไขมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 เรื่อง การเปิดเผยนโยบายบัญชีที่มีสาระสำคัญนั้น

ซึ่งคาดว่าจะทำให้งบการเงินมีข้อมูลนโยบายบัญชีเฉพาะที่มีสาระสำคัญ และเฉพาะเจาะจงกับกิจการ รวมถึงเรื่องข้อกำหนดเงื่อนไขในการจัดประเภทเงินกู้ยืมระยะยาวที่ผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ภายหลังรอบระยะเวลารายงานเป็นหนี้สินหมุนเวียนหรือไม่หมุนเวียนในแต่ละสถานการณ์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังได้หารือเกี่ยวกับทิศทางของมาตรฐานการบัญชีใหม่ในอนาคตอันใกล้ซึ่งจะส่งผลกระทบหลักต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนองบกำไรขาดทุน และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อกำหนดในการเปิดเผยความเชื่อมโยงของข้อมูลที่นำเสนอนอกงบการเงินที่เกี่ยวกับตัววัดผลการดำเนินงานฝ่ายบริหาร กับข้อมูลผลการดำเนินงานในงบกำไรขาดทุน

ธุรกิจต้องตื่นตัวในเรื่องการรายงานด้านความยั่งยืน

นอกจากนี้ การรายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ยังถือเป็นอีกประเด็นที่ธุรกิจไทยควรให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยจะยังไม่มีการกำหนดกรอบการรายงานด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน แต่ก็มีกรอบการรายงานและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ออกโดยสามหน่วยงานที่ธุรกิจควรศึกษาและนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำรายงาน ได้แก่

  • คณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนระหว่างประเทศ (ISSB)
  • คณะที่ปรึกษาการรายงานข้อมูลทางการเงินแห่งยุโรป (EFRAG) และ
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (US SEC)

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถทำความเข้าใจมาตรฐาน และตระหนักถึงความสำคัญของการกำหนดมาตรฐานระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น IFRS S1 ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน และ IFRS S2 การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ที่ออกโดย ISSB รวมไปถึงมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนของยุโรป (ESRS) ที่ออกโดย EFRAG

ซึ่งกรอบการรายงานทั้งหมดที่ได้กล่าวมา ได้รวบรวมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการเงิน โดยนำเสนอภาพรวมที่ครอบคลุมเกี่ยวกับความพยายามด้านความยั่งยืนของธุรกิจ และข้อบังคับด้านการเปิดเผยข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่กำหนดโดยสำนักงานกลต. ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่แสดงถึงอนาคตของแนวทางปฏิบัติในการรายงานความยั่งยืนที่โปร่งใส

“เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกๆ มิติ ธุรกิจควรเรียนรู้วิธีการใช้กรอบการรายงานเหล่านี้ และทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ ซึ่งการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนนั้น ไม่มีรูปแบบที่ตายตัวสำหรับทุกธุรกิจ”

“ดังนั้น ผู้บริหารจะต้องทำความเข้าใจผลกระทบด้าน ESG และโอกาสที่มาพร้อมกับกรอบการจัดทำรายงานเหล่านี้ เพื่อช่วยให้สามารถพัฒนากลยุทธ์การจัดทำรายงานที่ชัดเจน เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการ และปรับใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด” ชาญชัย กล่าว

ศึกษา AI ช่วยธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ชาญชัย กล่าวต่อว่า ในภาวะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัว และมีปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบการดำเนินธุรกิจแทบทุกวันนั้น การแสวงหาโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในแนวทางอื่นๆ นอกเหนือจากการพึ่งพาการเติบโตจากภายใน (Organic growth) เพียงอย่างเดียว ยังถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจในการนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value creation)

ทั้งนี้ เอไอ ถือเป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่ธุรกิจให้ความสนใจอย่างมาก โดยองค์กรต่างๆ นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานในหลากหลายมิติ เช่น นำเอไอมาใช้กับงานด้านบัญชีและการเงินขององค์กรที่ในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเอไอไม่ใช่เพียงช่วยจัดการ และประมวลผลข้อมูลเอกสารทางการเงินต่างๆ เท่านั้น

แต่ยังช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเชิงคาดการณ์และวิเคราะห์เชิงแนะนำ ซึ่งช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer: CFO) สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจ และวางแผนทางการเงินเชิงกลยุทธ์ให้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี ผู้บริหารธุรกิจควรต้องกำหนดเป้าหมายขององค์กรก่อนนำเอไอมาใช้ รวมทั้งบูรณาการระบบอัตโนมัติ และเอไอให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางการเงิน และเหนือสิ่งอื่นใด ควรต้องยกระดับทักษะของบุคลากร และปรับปรุงกระบวนการทางการเงินขององค์กรให้ทันสมัย เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานเอไอได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น

มุ่งเน้นการเติบโตจากภายนอก

นอกจากนี้ การเติบโตจากภายนอก (Inorganic growth) ผ่านกระบวนการควบรวมกิจการ (Merger and acquistion: M&A) ยังถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจที่ผู้นำองค์กรควรนำมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าในปีนี้กิจกรรมการควบรวมกิจการในประเทศไทย จะปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับปี 2564

ที่ปริมาณของกิจกรรมการควบรวมกิจการแตะระดับสูงสุด โดยสาเหตุหลักของการชะลอแผนการควบรวม เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายต้องชะลอแผนการออกไป

“อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นสัญญาณของการควบรวมกิจการของไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยพบว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคม มีแนวโน้มของการทำดีลมากที่สุด” ชาญชัย กล่าว

“ในช่วงที่กิจกรรมดีลมีการชะลอตัวนั้น ยังถือเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ขายกิจการในการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างมูลค่าให้กับดีลในหลายๆ แง่มุม เพราะปัจจุบันผู้ซื้อมักจะขอเข้าทำการตรวจสอบสถานะกิจการ หรือ due diligence ในขอบเขตที่กว้างขึ้นและมากกว่าแค่ด้านการเงินเหมือนในอดีต”

“ในส่วนของผู้ซื้อเอง จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงการสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนในระยะยาวตั้งแต่การกำหนดกลยุทธ์ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ โดยการสร้างมูลค่าจะต้องเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ตั้งแต่วันแรกของการควบรวมกิจการ หรือ day one เพื่อให้สามารถรับรู้และใช้ประโยชน์จากคุณค่าหลังจากที่ได้ปิดดีลได้ตามเป้าหมายการเติบโตที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้น” ชาญชัย กล่าว

Featured Image: Image by Freepik