Thursday, March 28, 2024
NEWS

คปภ. – สอบสวนกลาง ลงนาม MOU เชื่อมโยงข้อมูลดำเนินคดีผู้กระทำความผิดฐานฉ้อฉลประกันภัย

ตำรวจสังกัดสอบสวนกลาง จับผู้ต้องหาแล้ว 14 ราย พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย หรือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยโดยรวม

ร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้บูรณาการร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินคดีและการประสานข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมระหว่าง ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กับ พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.)

โดยมี ชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และ พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ณ กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และเปิดเผยข้อมูลดิจิทัลเกี่ยวกับข้อมูลการฉ้อฉลประกันภัย ที่มีการจัดทำและครอบครองโดยสำนักงาน คปภ. เพื่อประโยชน์ในการสืบสวน สอบสวน ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

รวมทั้งประสานงานดำเนินการทางคดีที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย หรือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

สำหรับขอบเขตความร่วมมือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้มี 4 ประเด็นหลัก ๆ คือ

ประเด็นแรก สำนักงาน คปภ. และ บช.ก. จะเชื่อมโยงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลเกี่ยวกับข้อมูลการประกันภัย และข้อมูลการฉ้อฉลประกันภัย ที่มีการจัดทำและครอบครองโดยสำนักงาน คปภ. ตามที่ได้รับการร้องขอจาก บช.ก. เพื่อประโยชน์ในการสืบสวน สอบสวน ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ภายใต้กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นที่ 2 บช.ก. จะพัฒนาและเชื่อมโยงระบบตรวจสอบบุคคลเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันปราบปรามอาชญากรรมกับสำนักงาน คปภ. ตามช่องทางที่ได้ตกลงกัน

ประเด็นที่ 3 บช.ก. จะประสานงานและดำเนินการทางคดีให้สำนักงาน คปภ. เกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย หรือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

และประเด็นที่ 4  ในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ สำนักงาน คปภ. และ บช.ก. ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยการข้อมูลข่าวสารของราชการ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ เป็นต้น

และต้องไม่นำข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่เจ้าของข้อมูล หากมีความเสียหายใด ๆ ที่เกิดจากการกระทำของผู้ที่นำข้อมูลไปใช้จะต้องรับผิดทั้งในทางอาญา หรือทางแพ่งแล้วแต่กรณี

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า จากความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านประกันภัยระหว่างสำนักงาน คปภ. และ บช.ก. อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดด้านฉ้อฉลประกันภัยมีความรอบคอบ รัดกุม รวดเร็ว และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

โดยเห็นได้จากความคืบหน้าของการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดด้านประกันภัย ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ก่อนหน้านี้ จึงได้มอบหมายให้ชัยยุทธ มังศรี รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ อดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี ร่วมแถลงข่าวกับ พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบ.ปอศ.) เกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกร้องทุกข์กล่าวหาดังกล่าว

โดย พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สำนักงาน คปภ. เข้าหารือและร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่มีพฤติกรรมฉ้อฉลประกันภัยจำนวน 27 เรื่อง เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ต่อจากนั้นพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. ได้ดำเนินการขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 23 ราย ต่อศาลอาญา

และได้ติดตามจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาที่ปลอมเอกสารผลการตรวจโรคโควิด-19 เพื่อนำไปเรียกร้องผลประโยชน์จากการทำประกันโดยทุจริต จำนวน 11 ราย และจับกุมตัวแทนบริษัทประกันชีวิตที่หลอกลวงให้คนทั่วไปเข้าทำสัญญาประกันชีวิต แต่ภายหลังกลับไม่ได้ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นหรือไม่ดำเนินการรักษาสถานะของสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว จำนวน 3 ราย รวมจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 14 ราย จาก 23 ราย โดยพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปอศ. อยู่ระหว่างดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

“การฉ้อฉลประกันภัยส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้เอาประกันภัยผู้บริสุทธิ์และเป็นอันตรายต่อระบบประกันภัย โดยการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานฉ้อฉลประกันภัยในครั้งนี้ เพื่อบังคับใช้บทบัญญัติในเรื่องการฉ้อฉลประกันภัยให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นการป้องกันมิให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ฉวยโอกาส

สำนักงาน คปภ. จะร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางอย่างเต็มที่ในการบังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับประชาชนและระบบประกันภัยของไทยให้มีความมั่นคงบนความเชื่อมั่นของประชาชนที่ยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Leave a Response