Tuesday, April 23, 2024
CybersecurityNEWS

สกมช.ร่วมกับหัวเว่ย เร่งยกระดับความปลอดภัยด้านไซเบอร์ของประเทศ

สกมช. ผสานความร่วมมือหัวเว่ย เร่งยกระดับความปลอดภัยด้านไซเบอร์ของประเทศ ผ่านการพัฒนาทักษะบุคลากรไทย

ชัยวุฒิ  ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES)

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านระบบโครงสร้างไอซีทีและโซลูชันไอทีชั้นนำในระดับโลกโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่บุคลากรด้านไอทีของไทย ผ่านการผลักดันแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ e-Lab ของหัวเว่ย การจัดโครงการการแข่งขัน และการจัดหลักสูตรฝึกอบรมจากหัวเว่ย

ชัยวุฒิ  ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องสถานการณ์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทยในปัจจุบันและความร่วมมือกับหัวเว่ยในครั้งนี้ว่า “ประเด็นเรื่องข้อมูลรั่วไหลและการโจมตีทางไซเบอร์มีจำนวนครั้งที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านองค์ความรู้และทักษะทางดิจิทัลเริ่มส่งผลกระทบกับองค์กรต่าง ๆอย่างรุนแรงยิ่งกว่าเดิม

นั่นเป็นสาเหตุที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ร่วมจับมือกับผู้นำด้านนวัตกรรมด้านดิจิทัลอย่างหัวเว่ยในการรับมือกับปัญหานี้ ด้วยการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงแบ่งปันกรณีตัวอย่างจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลในภาพรวมและนำเสนอทรัพยากรด้านการเรียนรู้ทีมีคุณภาพยิ่งขึ้น

พล.อ.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ลธ.กมช.)

ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนประยุกต์ใช้ข้อปฏิบัติสำคัญในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยมีเป้าหมายคือการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านทักษะที่แข็งแกร่งสำหรับประเทศไทย เพื่อช่วยผลักดันประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลแห่งอนาคตที่มีความปลอดภัย”

ทั้งนี้ พล.อ.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (ลธ.กมช.) ได้กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนถือเป็นสิ่งสำคัญ ในการสร้างความร่วมมือในหมู่องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณะ และหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เพื่อให้สามารถสร้างไซเบอร์สเปซที่มีความน่าเชื่อถือในระดับโลกให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ทั้งนี้ ทาง สกมช. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับหัวเว่ยในครั้งนี้ เราเชื่อว่าการทำงานร่วมกันระหว่างหัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทด้านไอซีทีและผู้ให้บริการโซลูชันชั้นนำของโลก และ สกมช. จะช่วยพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์ในประเทศไทยให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน”

ด้าน อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงความร่วมมือจากการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในครั้งนี้ว่า“การลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้จะช่วยให้ภาคสาธารณะในไทยสามารถเข้าถึงความปลอดภัย ทางไซเบอร์ได้ง่ายขึ้น

โดยหัวเว่ยจะมุ่งมั่นเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวอย่างและหลักปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยผ่านการผสานความร่วมมือกับ สกมช.ในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เราจะผลักดันให้เกิดโครงการการแข่งขันทักษะทางไซเบอร์ พัฒนาเทคโนโลยีสำคัญที่ครอบคลุมเทรนด์ระดับโลก

อันได้แก่ 5G คลาวด์ อุปกรณ์มือถือ และทักษะด้านความเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยมีเป้าหมายคือเน้นพัฒนาทักษะในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการแบ่งปันองค์ความรู้ต่าง ๆ”

อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

อาเบล ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหัวเว่ยจะสนับสนุนคอร์สการฝึกอบรมด้านไซเบอร์ผ่านแพลตฟอร์มระดับโลก Huawei e-Lab ซึ่งวางเป้าหมายไว้เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพด้านไซเบอร์ด้วยการจัดฝึกอบรมในรูปแบบเวิร์กช็อปเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริง

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังจะร่วมมือกับทาง สกมช. ในด้านการสร้างและส่งมอบหลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย โดยแผนในปีนี้จะครอบคลุมเรื่องศักยภาพของความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับบุคลากร 4 ระดับ อันได้แก่ ระดับพื้นฐาน ระดับกลาง ระดับสูง และระดับผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับแพลตฟอร์ม e-Lab ถือเป็นบริการด้านการศึกษาสำหรับลูกค้าของหัวเว่ย โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวใช้โครงสร้างพื้นฐานของห้องแล็ปฮาร์ดแวร์ในระดับมหภาคของหัวเว่ยและเทคโนโลยีคลาวด์ ซึ่งทำให้ผู้เข้าฝึกอบรมสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์ม e-Lab จากที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อเรียนรู้หลักสูตรอบรมภาคปฏิบัติต่างๆ เช่นการฝึกอบรมด้านปฏิบัติการ โปรแกรมจำลองด้านเครือข่าย และข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นต้น

ซึ่งช่วยให้สามารถลดต้นทุนด้านการฝึกอบรมและประหยัดแรงงาน โดยปัจจุบันแพลตฟอร์ม e-Lab ของหัวเว่ยให้บริการผู้ให้บริการเครือข่ายมากกว่า 260 รายใน 170 ประเทศ โดยมีผู้ฝึกอบรมที่พัฒนาศักยภาพด้านไอซีทีบนแพลตฟอร์มดังกล่าวไปแล้วกว่า 1.3 ล้านราย