Friday, April 19, 2024
MarTechNEWS

ลีวายส์ ปรับใหญ่ในไทย บุกตลาดคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนสู่การเป็นดิจิทัลมากขึ้น

ลีวายส์ ปรับกลยุทธ์รุกตลาดในไทย ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานผ่าน กลยุทธ์ DTC กระตุ้นคนรุ่นใหม่ยังคงสนใจลีวายส์ พร้อมเดินหน้าขยายสาขาร้านลีวายส์โฉมใหม่ในไทยอย่างต่อเนื่อง

ซาเมียร์ กุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ลีวาย สเตราส์ แอนด์ โค ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย

าเมียร์ กุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ลีวาย สเตราส์ แอนด์ โค ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย กล่าวว่า ทางบริษัทแม่ของลีวายส์ได้ปรับนโยบายการทำธุรกิจในไทยใหม่ ด้วยการเข้ามาดำเนินการเอง 100% ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 หลังจากที่ดิสทริบิวเตอร์รายเดิมได้หมดสัญญาไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 การเข้ามาทำตลาดเองในไทย เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ลีวายส์เริ่มทำตลาดเอง เช่น สิงคโปร์ ละตินอเมริกา เป็นต้น

สาเหตุหลักเนื่องจากลีวายส์ต้องการเข้ามาทำตลาดเองเป็นไปตามกลยุทธ์ ไดเรกต์ ทู คอนซูเมอร์ (Direct to Consumer) เพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าและเข้าใจในพฤติกรรมลูกค้าอย่างแท้จริงโดยตรง จะได้ทำให้การทำตลาด การออกแบบสินค้า การทำกิจกรรมได้ตรงกลุ่มเป้าหมายและความต้องการมากที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้นปีนี้ประเทศไทยจะมีการจัดงานที่ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ กับแบรนด์ลีวายส์ เช่น งาน 501 Day และ the Levi’s® Music Project ทั้งนี้ 501 Day เป็นแคมเปญที่จัดขึ้นทั่วโลกเพื่อเฉลิมฉลอง 149 ปี แห่งความเป็นตัวจริงเรื่องยีนส์ของ Levi’s®

ทั้งนี้ ลีวายส์ได้เปิดหน้าร้านใหม่ๆในไทยแล้วจำนวน 8 แห่ง ได้แก่สาขาสยามพารากอน, เอ็มโพเรียม, เซ็นทรัล ลาดพร้าว เป็นต้น โดยเฉพาะที่สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว จะมีช็อปให้ลูกค้าสามารถนำสินค้าไปปรับเปลี่ยนออกแบบเพิ่มเติมได้อีกด้วย และจะมีการเปิดสาขาใหม่ต่อเนื่องในปีหน้า รวมทั้งทยอยการปรับโฉมร้านสาขาเก่าให้เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ทั้งหมดด้วย

เพื่อสร้างความเติบโตทางธุรกิจให้กับบริษัท ได้ปรับกลยุทธ์เพื่อมุ่งเน้นการเติบโตใน 3 ด้าน ได้แก่

1.ขับเคลี่อนด้วยแบรนด์ (Brand led):  แบรนด์ลีวายส์ที่มีมาอย่างยาวนานและความน่าเชื่อถือนั้นไม่มีใครเทียบได้ และเราก็ยังสามารถเติบโตไปได้อีกอย่างยาวไกล ด้วยการให้แบรนด์ของเราเป็นผู้นำทาง และมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ

2.เข้าถึงลูกค้าโดยตรง (Direct-to-Consumer DTC): ด้วยช่องทางสื่อสารของเราเอง ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าของเราได้โดยตรง และนำเสนอประสบการณ์ที่ดีที่สุดจากแบรนด์ของเราให้กับพวกเขา

3.ขยายตลาด (Diversification): ถึงแม้ว่าเราจะมีแบรนด์ชั้นนำระดับโลกอยู่หลายแบรนด์ เราก็ยังมีโอกาสอีกมากที่จะขยายขอบเขตการเข้าถึงและเพิ่มส่วนแบ่งไปในทุกภูมิภาค ทุกประเภทสินค้า ทุกเพศ และทุกช่องทาง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและทำให้ธุรกิจมีความมั่นคงแม้ต้องเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ

กลุ่มเป้าหมายของลีวายส์นั้นมี 2 กลุ่มหลัก คือ

กลุ่มวัยรุ่นอายุ 18-30 ปี และกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เป็นกลุ่มเป้าหมายสองกลุ่มที่เราได้เจาะตลาด ซึ่งเป็นผู้แสวงหาและผู้รักษาสไตล์ตัวแทนของกลุ่มเจน Y และเจน Z

  • แฟชั่นซีกเกอร์ (Fashion Seekers) สามารถอธิบายนักช้อปที่ชื่นชอบอัพเดทเทรนด์แฟชั่นใหม่ๆ อยู่เสมอ
  • สไตล์คิวเรเตอร์ (Style Curators) คือผู้ที่รักและพิถีพิถันในการแต่งตัว มีความมั่นใจ มีสไตล์เป็นของตัวเองอย่างชัดเจน คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ ใส่ใจในรายละเอียด และเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะอยู่กับตนได้ยาวนาน

ขับเคลื่อนสู่การเป็นดิจิทัลมากขึ้น

ลีวาย สเตราส์ แอนด์ โค ยังคงลงทุนในประสบการณ์ด้านอีคอมเมิร์ซ โดยมีการแนะนำสินค้าตามความต้องการให้กับลูกค้าที่ซื้อออนไลน์ มีโครงการจัดทำเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซของลีวายส์ และโปรแกรมสิทธิประโยชน์สำหรับลูกค้าสมาชิกในประเทศไทย เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมชองผู้บริโภคแบบออมนิชาแนล (omnichannel)

นอกจากนี้เราได้ปรับโฉมช่องทางโซเชียลมีเดียสำหรับประเทศไทย โดยมีการให้ข้อมูลที่น่าสนใจโดยตรงถึงกลุ่มเป้าหมายสายดิจิทัลของไทย สามารถติดตามได้ทางช่องทางโซเชียลมีเดียทั้งในรูปแบบ Line OA, Instagram และ Facebook ที่ @Levis.th