“PwC คาดไทยใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีก่อนก้าวเข้าสู่ Open Banking อย่างเต็มรูปแบบ ต้องฝ่าด่านหลายประการเช่น ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน กฎเกณฑ์ และข้อบังคับในการเชื่อมต่อและการแลกเปลี่ยนข้อมูลของลูกค้า รวมถึงการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของลูกค้า
PwC ประเทศไทย คาดธุรกิจบริการทางการเงินของไทยจะเข้าสู่ Open Banking_อย่างเต็มรูปแบบได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี เหตุยังขาดความพร้อมเชิงโครงสร้าง ความเชื่อมั่นของลูกค้า และแรงจูงใจระหว่างแบงก์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน แนะภาครัฐและหน่วยงานกำกับร่วมกันวางโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ และออกกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อควบคุมความปลอดภัยของการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบนิเวศทางการเงินของประเทศให้แข็งแกร่ง
วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา และหัวหน้ากลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจบริการทางการเงินทั่วโลกกำลังพัฒนาไปสู่ Open_Banking หรือ การที่ผู้ให้บริการทางการเงินเปิดเผยข้อมูลการเงินของลูกค้าของตนให้กับบุคคลที่สาม (Third-party providers: TPPs)
เช่น ฟินเทค บริษัทเทคโนโลยี และสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งต้องผ่านการยินยอมจากลูกค้าผู้เป็นเจ้าของบัญชีก่อน โดยช่องทางเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับอยู่ในปัจจุบันคือ Open Application Programming Interfaces (Open APIs)
ทั้งนี้ ข้อดีของ Open_Banking ช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก และเลือกใช้บริการที่ตรงกับความต้องการเฉพาะบุคคลได้ในรูปแบบเรียลไทม์ ขณะที่เปิดโอกาสให้ธนาคารสามารถสร้างรายได้มากขึ้นจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และรูปแบบการบริการใหม่ๆ
ผ่านการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรที่อาจเป็นนอนแบงก์ เช่น บริษัทเทคโนโลยี และฟินเทค ซึ่งจะช่วยเร่งการเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัล และทำให้ธนาคารมีต้นทุนที่ถูกลง แถมมีความยืดหยุ่นในการดำเนินงานมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การพัฒนา Open_Banking ของไทยยังคงมีความท้าทายอยู่มากเพราะขาดความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน กฎเกณฑ์ และข้อบังคับในการเชื่อมต่อและการแลกเปลี่ยนข้อมูลของลูกค้า รวมถึงการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของลูกค้า
“ภาคการเงินของไทยน่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีถึงจะสามารถก้าวเข้าสู่ Open_Banking ได้เต็มรูปแบบ เพราะยังต้องปูความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐาน และความเชื่อมั่นของผู้ใช้งาน”
“ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ของไทยมีการเข้าสู่ Open_Banking ในลักษณะของการเชื่อมต่อกับระบบของบริษัทภายในเครือ บริษัทร่วมทุน หรือคู่ค้า และสามารถเข้าถึงข้อมูลระหว่างกันผ่าน API ได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น”
“หากเราต้องการที่จะก้าวเข้าสู่พัฒนา Open_Banking อย่างเต็มรูปแบบไปอีกขั้น ภาครัฐและหน่วยงานกำกับจะต้องกำหนดมาตรฐานด้านการเชื่อมต่อ การใช้งาน และการดูแลความปลอดภัยของข้อมูลที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการสร้างกลไกและความตระหนักเรื่องความปลอดภัยของการแชร์ข้อมูลการเงินให้กับประชาชน” วิไลพร กล่าว
ช่องโหว่ของการพัฒนา Open Banking
แม้วิวัฒนาการของการทำ Open_Banking ของภาคการเงินโลกจะเกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ช่องโหว่สำคัญที่ทำให้ระดับของการพัฒนายังแตกต่างกัน คือ การให้ความร่วมมือระหว่างธนาคารในการเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าให้บุคคลที่สามซึ่งอาจเป็นคู่แข่งนำไปใช้
ประกอบกับกฎเกณฑ์เพื่อบังคับให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังที่ยังมีไม่มาก ทำให้ธนาคารของไทยหลายแห่งยังเลือกที่จะเก็บข้อมูลลูกค้าของตัวเองไว้
“Open_Banking ถือเป็นวิวัฒนาการของระบบนิเวศทางการเงินที่ท้าทายระบบแบบดั้งเดิมในทุกๆ มิติ เพราะแบงก์จะต้องยอมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของลูกค้ามากขึ้น เพื่อก่อให้เกิดการเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพ แต่วันนี้แบงก์หลายรายยังมีความกังวลในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยในการให้ผู้บริการรายอื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลลูกค้าของตัวเอง”
“รวมไปถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดและโอกาสที่จะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับผู้เล่นรายใหม่ โดยเฉพาะกับกลุ่มฟินเทค รวมไปถึงความท้าทายในการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าในรูปแบบใหม่ เพราะความจำเป็นในการทำธุรกรรมที่หน้าเคาน์เตอร์สาขาของลูกค้านั้นลดลงเรื่อยๆ”
ดังนั้น การจะผลักดันให้ Open_Banking ในไทยสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และการส่งเสริมจากภาครัฐในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างธนาคาร เช่น ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปกับเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า เพื่อป้องกันเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลที่อาจทำให้เกิดความเสียหายที่แก้ไขได้ยากต่อธุรกิจบริการทางการเงินทั้งระบบ
ลูกค้า คือหัวใจของการทำ Open Banking
วิไลพร กล่าวว่า “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ทำให้ผู้ประกอบการภาคการเงินและธนาคารยิ่งต้องหันมาเน้นการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า (Customer experience) เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและดึงดูดกลุ่มลูกค้ารายใหม่”
ข้อมูลจากรายงาน Beyond Digital: Data-Driven Strategies to Grow, Scale and Profit ที่จัดทำโดย PwC และ Oracle ระบุว่า ลูกค้าธนาคารในเอเชียมีความต้องการในการทำธุรกรรมออนไลน์อยู่ในระดับสูง หลังประสบปัญหา (Pain point) หลายอย่างในการทำธุรกรรมกับธนาคารในรูปแบบเดิม
โดยลูกค้าต้องการใช้งานระบบที่สามารถเชื่อมต่อทั้งบริการทางการเงิน และบริการที่ไม่ใช่ทางการเงินเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ และทำได้ผ่านหลากหลายช่องทาง ซึ่งนี่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ธนาคารจะต้องพัฒนา Open Banking เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
“การทำ Open_Banking จะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการรวมศูนย์การให้บริการของการทำธุรกรรมทางการเงินไว้บนแพลตฟอร์มเดียวกันไม่ว่าจะเป็น การโอนเงิน การเช็คยอดเงิน หรือการชำระค่าบริการต่างๆ ตามที่ต้องการ ยกตัวอย่าง
เช่น ลูกค้าสามารถโอนเงินผ่านธนาคาร A ชำระค่าบริการผ่านแอป B หรือขอสินเชื่อผ่านแอป C ซึ่งทั้งหมดสามารถทำได้บนแพลตฟอร์มเดียว โดยไม่ต้องกดเข้า กดออก นอกจากนี้ การที่ลูกค้าสามารถควบคุมการใช้ข้อมูลของตัวเองได้มากขึ้น ยังทำให้เข้าถึงบริการที่หลากหลายจากผู้ให้บริการและทำได้ง่ายดายขึ้น”