Wednesday, September 18, 2024
Apisith ChaiyaprasithArticlesColumnist

เทคโนโลยี จิตอาสา รัฐร่วมสังคม เส้นทางร่วมเพื่อการอยู่รอด

ขอพูดถึง ความสัมพันธ์ของ 3 ประสานระหว่าง เทคโนโลยี จิตอาสา และรัฐร่วมสังคมผ่านกรณีที่เกิดไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ที่สามารถใช้เป็นโมเดลในการแก้ไขวิกฤติครั้งไหนๆ ให้คลี่คลายลงได้

ถานการณ์ทุกวันนี้เต็มไปด้วยความผันผวนวุ่นวาย หลายปัจจัย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที รุนแรงยิ่งกว่าเมื่อสองสามปีที่เราพูดกันถึงเรื่องของ technology disruption ซึ่งเปลี่ยนแปลงในแง่ของการปรับตัวรับกับเทคโนโลยี ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ภัยคุกคามโรคที่เกิดจากโรคอุบัติใหม่ ทำให้โลกหยุดชะงัก และปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญ ที่ทำให้ ประชาชนพลเมืองโลก สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในภาวะปกติใหม่ (New Normal) ซึ่งเทคโนโลยี ต่างๆ ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการ รายการเอาชีวิตรอด แล้วเอาชนะกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ทางการแพทย์ การศึกษา การสร้างสังคมเสมือนที่เยียวยาจิตใจ ของผู้คนให้สามารถกลับไปอยู่ และใช้ชีวิตบนโลกได้

ผู้เขียน: อภิสิทธิ์ ไชยประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านสื่อดิจิทัล อนุกรรมาธิการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับดาวเทียมและสื่อดิจิทัลเพื่อความมั่นคงของรัฐ คณะกรรมาธิการทหาร วุฒิสภาอาจารย์พิเศษบรรยายด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ให้หลายสถาบันและหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ

ช่วงต้นเดือนมีสถานการณ์เกิดขึ้น ที่แสดงให้เห็นถึง คำ 3 คำที่เป็นหัวข้อของบทความก็คือ “เทคโนโลยี จิตอาสา รัฐร่วมสังคม” กับกรณีที่เกิดไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ซึ่งสถานการณ์ ณ เวลานั้นเข้าขั้นวิกฤต ทั้งความเสียหายจากไฟ แรงระเบิดและสารเคมี ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชานในวงกว้าง

และในสถานการณ์นี้ ทำให้เห็นถึง ฮีโร่ ที่แสดงให้เห็นว่าหลายปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามผลักดัน เรื่องของ Smart City Smart technology และผลักดัน เรื่องการมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคม ทั้งภาครัฐร่วมกับเอกชน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เดินหน้าบนพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม

อากาศยานไร้คนขับกับภาระกิจต้านภัยพิบัติ

เหตุไฟไหม้ครั้งนี้เราได้เห็นการใช้งานเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) หรือ โดรน (Drone) ในการทำหน้าที่ Search and Rescue ซึ่งเป็นโดรนจากสมาคมตอบโต้ภัยพิบัติประเทศไทย

นับว่าเป็นหนึ่งตัวอย่างของการประสานความร่วมมือ ภาครัฐ และภาคสังคม ในการเข้าร่วมต่อต้านภัยพิบัติหรืออุบัติภัย โดยการช่วยประเมินและวิเคราะห์แผนรับมือเหตุการณ์ภัยพิบัติ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น

นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการใช้โดรน นอกเหนือจาก การเกษตรธุรกิจการค้า ธุรกิจขนส่ง การพิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังไฟป่า รวมถึงความมั่นคงของประเทศ

เผยการทำงาน เก็บข้อมูลมุมสูง

โดรน ที่สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติประเทศไทยนำมาใช้ในภารกิจนี้เป็นโดรน DJI รุ่น Matrice 300 RTK (M300 RTK) ที่ผู้บังคับโดรนต้องผ่านการฝึกฝนเพื่อให้ใช้อุปกรณ์ในภารกิจกู้ภัย ทำการถ่ายภาพมุมสูงเพื่อให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้เห็นภาพรวมและประเมินสถานการณ์ เพื่อสามารถบัญชาการเหตุการณ์ได้

ภาพ: สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ประเทศไทย

อีกทั้งยังได้ดำเนินภารกิจถ่ายภาพความร้อน บินค้นหาจุดความร้อนเพื่อประเมินโครงสร้างอาคาร นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์แผนการทำงานร่วมกับเจ้าที่ดับเพลิง จนสามารถดำเนินการ ควบคุมเพลิง และปิดวาล์ว สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง

ส่วนภาพจากโดรน M300 RTK ติดตั้งกล้องทั่วไป (RGB) คู่กับกล้องจับภาพความร้อน (Thermal Camera) ซึ่งชัดเจน เห็นรายละเอียดนอกจากนี้สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติยังได้นำเทคโนโลยี LiDAR (ไลด้า)และกล้องภาพ 3 มิติ เข้าเก็บข้อมูลสภาพพื้นที่และภาพความละเอียดสูง ณ โรงงานที่เกิดเหตุ เพื่อนำข้อมูลทางด้านวิศวกรรมชั้นสูง ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปวิเคราะห์และถอดบทเรียนเหตุการณ์ระเบิดในครั้งนี้

โดยเทคโนโลยี LiDAR ใช้หลักการของลำแสงเพื่อวัดระยะด้วยความละเอียดสูง (240,000 จุดต่อวินาที) ทำให้สามารถสร้างแบบจำลอง 3 มิติ ด้วยความแม่นยำสูง ในรูปแบบ Point Cloud ทำให้สามารถเก็บข้อมูลสภาพพื้นที่ที่เกิดเหตุ เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ในเชิงวิศวกรรม และนำไปถอดบทเรียนของเหตุการณ์ ในรูปแบบต่างๆ เช่น ทิศทางการระเบิด, การวิเคราะห์โครงสร้าง และการพัฒนาแผนการกู้ภัยในอนาคต เป็นต้น

ขณะเดียวกันในการปฏิบัติการร่วมกับทุกภาคส่วนกฎระเบียบหลักนิยมในการปฏิบัติถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะดำเนินการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักบินโดรนก็เช่นกันการขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ ก่อนทำการบินโดรน เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่ต้องให้ความสำคัญและที่สำคัญหากใช้น่านฟ้าร่วมกับอากาศยาน (เครื่องบิน) หรือ เป็นพื้นที่ ขึ้น-ลง ของเครื่องบิน ยิ่งต้องขออนุญาตวิทยุการบินหรือท่าอากาศยานบริเวณนั้น ให้ถูกต้องเพื่อความปลอดภัย และเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงาน

ภาพ: สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ประเทศไทย
หน่วยงานรัฐเตรียมตัวมาตลอด

ต้องเรียนให้ท่านผู้อ่านว่า จริงๆแล้วประเทศไทยเรามีการเตรียมพร้อมด้านนี้อยู่เสมอ ในการฝึกร่วมระหว่าง ทุกภาคส่วนของราชการที่เกี่ยวข้องอาทิกรมป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานกระทรวงกรมต่างๆ ของรัฐบาล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือภัยพิบัติของกองทัพเหล่าทัพต่างๆบริษัทภาคเอกชน รวมถึง มูลนิธิจิตอาสา ต่างๆ ในการฝึกซ้อมการบริหารวิกฤตการณ์ด้านสาธารณภัย (C-MEX )

ซึ่งมีการฝึกซ้อมเป็นประจำ ทุกปี และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของอุบัติภัย ที่เกิดในโรงงานอุตสาหกรรม ก็มักจะมี บรรจุไว้ในแผนการฝึกอยู่ทุกปีเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้นจริงจะมีการปรับประยุกต์ใช้และระดมสรรพกำลังมาใช้ได้อย่างรวดเร็วมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความสามารถความรวดเร็วในการประสานงาน บริหารจัดการพื้นที่วิกฤต การบัญชาการเหตุการณ์ ของผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่ ความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ

ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นแล้วว่ามีการนำอุปกรณ์ต่างๆ การของภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อาทิการนำอากาศยานปีกหมุน หรือเฮลิคอปเตอร์เฉพาะกิจสำหรับงาน ป้องกันภัยและต่อต้านภัยพิบัติ ในประเทศไทยได้แก่เฮลิคอปเตอร์ KA-32 ของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จำนวน 2 ลำ บินเข้าสนับสนุนภารกิจระงับเหตุไฟไหม้เพื่อโปรยทิ้งโฟมดับเพลิงบริเวณจุดที่ตั้งโรงงานพลาสติก เช่น การเทโฟม 300 ลิตรผสมน้ำ 3,000 ลิตร และระดมโฟมดับเพลิงมาใช้ในภารกิจนี้

ภาพ: เฟซบุ๊ก รวมพล คนรักทหารเรือ (I Love Navy)

นอกจากนั้นก็ระดมสรรพกำลัง เข้ามาสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นสำนักงานแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยงานด้านดับเพลิง ซึ่งส่วนใหญ่ ก็จะเป็นจิตอาสามูลนิธิต่างๆ ที่เข้ามาร่วมต่อต้านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้สงบลง ซึ่งนำมาด้วยความสูญเสียทั้ง ร่างกายบาดเจ็บ และจิตอาสามูลนิธิก็ได้สละชีพเพื่อปกป้องไม่ให้เหตุร้ายทวีความรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

ในที่สุดเราก็คงทราบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้จบลงไปแล้วและทิ้งบทเรียนในการถอดบทเรียนการปฏิบัติการร่วมทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มี ความสามารถในการประสานงานและปฏิบัติการร่วมกันได้อย่างประสานสอดคล้อง เพื่อสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

การเตรียมความพร้อม การสร้างจิตอาสาเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือกันในยามวิกฤต รวมถึงสวัสดิการ ของกลุ่มเหล่านี้ การให้ความรู้ สนับสนุน การนำเทคโนโลยี มาใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านต่างๆ และ เข้าถึงประชาชน ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสำคัญและจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยถ้ารัฐไม่ร่วมกับสังคม ในการเดินไปในทิศทางเดียวกัน

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ อาจจะมีปัญหาในระดับโลก เกี่ยวกับเรื่องของ โรคอุบัติใหม่ ซึ่งอาจทำให้การดำเนินการ หรือการขับเคลื่อนไปบ้าง แต่ก็ยังคงต้องทำต่อไป ด้วยความสามัคคี แล้วยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ส่วนเทคโนโลยีนั้น ก็จะเป็นส่วนสนับสนุน ให้วัตถุประสงค์ ของการเดินหน้าพัฒนาประเทศ ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ