Saturday, April 27, 2024
ArticlesSpecial Report

เปิดผลการศึกษาความเห็นนักลงทุนทั่วโลกประจำปี 2566

Schroders

นักลงทุนในประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณากลยุทธ์การลงทุนใหม่ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์

ลการศึกษานักลงทุนทั่วโลกประจำปี 2566 ของชโรเดอร์ส (Schroders _Global Investor Study 2023) พบว่า นักลงทุนในประเทศไทยจำเป็นต้องประเมินกลยุทธ์การลงทุนของตนใหม่ เพื่อรับมือกับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องและความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่

ผลการศึกษาของชโรเดอร์สครั้งนี้ ได้ทำการสำรวจนักลงทุนมากกว่า 23,000 รายใน 33 ประเทศทั่วโลก รวมถึงอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) พบว่า เกือบ 90% ของนักลงทุนชาวไทย (เทียบกับ 78% ทั่วโลก และ 79% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เชื่อว่าเราได้เข้าสู่ยุคใหม่ของนโยบายและสภาวะตลาดอันเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ข้อมูลนี้ตรงกันข้ามกับการศึกษาของปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง ซึ่งกลุ่มตัวอย่างบางส่วนในปีก่อนเชื่อว่า ความท้าทายของตลาดจะเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวก่อนที่จะฟื้นตัวดีขึ้น และคาดการณ์ว่าตลาดจะกลับคืนสู่สภาวะอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างรวดเร็วและน่าจะส่งผลดีต่อการลงทุน

ด้วยแนวความคิดดังกล่าวส่งผลให้ 70% ของนักลงทุนไทย (เทียบกับ 54% ทั่วโลก และ 59% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ได้ทำการปรับกลยุทธ์การลงทุนของตนไปก่อนหน้านี้แล้ว และหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างนี้ตั้งใจที่จะปรับกลยุทธ์การลงทุนด้วยเช่นกัน

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนชาวไทยที่จัดความรู้ด้านการลงทุนของตนอยู่ในระดับ ผู้เชี่ยวชาญ (expert) เป็นกลุ่มที่ตอบสนองต่อตลาดได้รวดเร็วที่สุด โดย 86% (เทียบกับ 77% ทั่วโลก และ 85% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ได้ทำการปรับกลยุทธ์การลงทุนของตนไปแล้ว

ขณะที่ 38% (เทียบกับ 37% ทั่วโลก และ 41% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ของนักลงทุนไทยที่จัดความรู้ด้านการลงทุนของตนอยู่ในระดับ เบื้องต้นหรือมือใหม่ (beginner) ยังไม่ได้ทำการปรับกลยุทธ์การลงทุนของตน

ผลการศึกษายังพบว่า 55% ของนักลงทุนไทยมองว่า การลงทุนในกองทุนรวมที่มีการบริหารจัดการเชิงรุกมีความน่าสนใจมากขึ้น ตามมาด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล (54%) และสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (53%) ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองเชิงบวก โดย 90% ของนักลงทุนชาวไทย (เทียบกับ 87% ทั่วโลกและ 90% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) คาดว่าผลตอบแทนการลงทุนจะเท่าเดิมหรือสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักลงทุนระดับ ผู้เชี่ยวชาญ ในประเทศไทย ซึ่งมีเพียง 2% เท่านั้น (เทียบกับ 4% ทั่วโลกและ 3% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ที่คาดการณ์ว่าผลตอบแทนในปีหน้าจะลดลง

นักลงทุนไทยส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ผลตอบแทนรายปีจะอยู่ที่ 13.51% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 11.5% และยังสูงกว่าผลตอบแทนรายปีของดัชนี MSCI World ของหุ้นทั่วโลกที่ 9.46% ระหว่างปี พ.ศ. 2530 ถึงเดือนกันยายน 2566

โยฮันนา เคิร์กลุนด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน (CIO) และหัวหน้าร่วมฝ่ายการลงทุนของชโรเดอร์ส กล่าวว่า “ภูมิทัศน์การลงทุนได้รับอิทธิพลจากสามองค์ประกอบ (3Ds) กล่าวคือ ความเป็นโลกาภิวัตน์ที่ลดลง, การลดการปล่อยคาร์บอน และความเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ นักลงทุนยังคงทำความคุ้นเคยกับข้อเท็จจริงที่ว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะยังคงอยู่ต่อไป”

“ดังนั้นสินทรัพย์ประเภทต่างๆ จะมีการปรับตัว (reprice) เพื่อแข่งขันกับผลตอบแทนจากเงินฝากธนาคาร การประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ จะกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง เมื่อเทียบกับ 15 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้นักลงทุนอาจต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นและความใส่ใจในเรื่องของการลงทุนมากขึ้น ผลการศึกษายังพบอีกว่านักลงทุนบางรายปรับตัวได้ดีและรวดเร็วกว่าคนอื่นๆ”

สินทรัพย์นอกตลาดที่ช่วยกระจายความเสี่ยงในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความท้าทาย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลและผู้จัดการการลงทุนต่างก็ทำงานอย่างแข็งขัน เพื่อทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม 66% ของนักลงทุนไทย (เทียบกับ 64% ทั่วโลกและ 62% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ยังคงมีความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ประเภทนี้อย่างจำกัด ซึ่งบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจที่มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้

นอกจากนี้ 71% ของนักลงทุนในประเทศไทยยังเผยว่า สภาพคล่องที่ต่ำของสินทรัพย์นอกตลาดเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้

อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยแล้ว นักลงทุนชาวไทยคิดว่า พวกเขาจะพิจารณาจัดสรรเงินลงทุน 17.29% ให้กับการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (เทียบกับ 16.4% ทั่วโลก และ 15.7% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) แต่สำหรับนักลงทุนระดับ ผู้เชี่ยวชาญ เขาได้แบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดให้มากถึง 25.4% (เทียบกับ 16.4% ทั่วโลก และ 21.9% ใน SEA)

นักลงทุนชาวไทยสนใจการลงทุนในหุ้นบริษัทนอกตลาดมากที่สุด (34%) ตามมาด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานทดแทน (22%) และอสังหาริมทรัพย์ (19%) และสำหรับนักลงทุนระดับ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ 59% กล่าวว่าพวกเขาต้องการลงทุนในหุ้นบริษัทนอกตลาดมากที่สุด

โดยภาพรวมแล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยมองว่า สินทรัพย์นอกตลาดเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุน (65%) และเป็นสินทรัพย์สำคัญในการช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุน (59%) ที่น่าสนใจคือ 55% ของนักลงทุนในประเทศไทยมองว่าความยั่งยืนของการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดเป็นสิ่งที่น่าดึงดูด

เมื่อประเมินถึงการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด นักลงทุนไทยมองถึงโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูง (71%) สภาพคล่อง (60%) และความโปร่งใส (58%)

นิลส์ โรด ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ ชโรเดอร์ส แคปิตัล (Schroders Capital) กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ นักลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดโดยทั่วไปจะเป็นนักลงทุนกลุ่ม สถาบัน ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ เช่นกองทุนบำนาญหรือกองทุนถาวรขนาดใหญ่ จากผลการศึกษานักลงทุนทั่วโลกในปีนี้ ภาพนี้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”

“ตัวเลือกที่หลากหลายในการเข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดกำลังเปิดกว้างมากขึ้น และนักลงทุนรายย่อยกำลังจับตามอง นี่จึงเป็นเวลาที่ท้าทายในการประเมินตลาด และนักลงทุนกำลังมองหาเครื่องมือทุกอย่างที่มีอยู่ เพื่อให้บรรลุผลตอบแทนที่ต้องการ สินทรัพย์นอกตลาดถือเป็นทางเลือกที่มอบโอกาสที่หลากหลาย และยังเป็นตัวขับเคลื่อนผลตอบแทนที่สำคัญ”

“เราเชื่อว่า โอกาสและตัวเลือกที่เปิดกว้างขึ้นให้กับนักลงทุนรายย่อย ถือเป็นความก้าวหน้าเชิงบวกอย่างมาก นอกจากนี้เรายังเชื่อว่าการเพิ่มสินทรัพย์นอกตลาดเข้าไปในพอร์ตการลุงทุนที่จัดสรรอย่างเหมาะสม จะเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจมากกว่าที่เคยเป็นมา”

การลงทุนที่ยั่งยืน: การมีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้น

นักลงทุนชาวไทยสนใจการลงทุนที่ยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการทางสังคมของตน (57% เทียบกับ 42% ทั่วโลก และ 51% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และศักยภาพในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (53% เทียบกับ 55% ทั่วโลก และ 53% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

Schroders

ที่สำคัญคือ 49% ของนักลงทุนในประเทศไทยยังกล่าวอีกว่า กองทุนที่ยั่งยืนมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า (เทียบกับ 34% ทั่วโลกและ 42% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

องค์ประกอบสำคัญของการลงทุนที่ยั่งยืนคือ การมีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้น โดยมีส่วนร่วมกับบริษัทต่างๆ โดยตรง เพื่อปรับปรุงผลการดำเนินงานทางธุรกิจ โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการสนับสนุนผลตอบแทนจากการลงทุน นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ (83% เทียบกับ 83% ทั่วโลก และ 84% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ตระหนักและสนับสนุนแนวคิดของการมีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้น

Schroders

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวข้อสำคัญที่นักลงทุนต้องการเห็นการมีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้น ได้แก่ สภาพภูมิอากาศ (43%) ทุนทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (22%) และวิธีปฏิบัติต่อพนักงาน (เช่น สวัสดิภาพและความปลอดภัยในการทำงาน) (14%)

แอนดี้ ฮาวเวิร์ด หัวหน้าฝ่ายการลงทุนอย่างยั่งยืนของชโรเดอร์ส กล่าวว่า “ผลการสำรวจในปีนี้ตอกย้ำถึงการยอมรับอย่างกว้างขวางและเพิ่มมากขึ้น เกี่ยวกับความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้นที่มีต่อการลงทุนที่ยั่งยืน บริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ เผชิญกับความท้าทายและโอกาสที่หลากหลาย รวมถึงแรงกดดันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในการปรับตัวและการพัฒนาต่อยอด”

“ในฐานะผู้จัดการการลงทุนเชิงรุกที่มีความมุ่งมั่นในระยะยาวและให้ความสำคัญในระดับฐานราก การใช้สิทธิ์ใช้เสียงและการมีส่วนร่วมของเราในการสนับสนุนบริษัทต่างๆ เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจที่ดีขึ้นและมีความยั่งยืนมากขึ้น ถือเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมานานแล้ว และจะให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทรนด์เหล่านั้นกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น”

Featured Image: Image by Freepik