Saturday, April 27, 2024
EduTechNetworkingNEWS

ฟอร์ติเน็ต ขยายความร่วมมือภาคการศึกษา ร่วมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตร Network Security Expert

Network Security Expert

ฟอร์ติเน็ต เซ็น MOU กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ่ายทอดหลักสูตร Network Security Expert (NSE) หลักสูตรปริญญาตรี-โท-เอก พัฒนาบุคลากรทางด้านความมั่นคงทางไซเบอร์

อร์ติเน็ต เดินหน้าขยายความร่วมมือภาคการศึกษา ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ่ายทอดหลักสูตร Network Security Expert (NSE) เพื่อการเรียน-การสอนทั้งในหลักสูตรปริญญาตรี-โท-เอก เพื่อการพัฒนาบุคลากรทางด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ หวังเร่งสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศ

ภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า “ฟอร์ติเน็ตมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกับภาคการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง เพราะตระหนักดีถึงความสำคัญของความสำคัญของไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่จะเข้ามาช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคาม”

“ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดําเนินงานขององค์กรธุรกิจ การมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์จะช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้โดยไม่ต้องหยุดชะงักจากการถูกโจมตี ที่สำคัญยังช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้อีกด้วย” ภัคธภา กล่าว

ทั้งนี้ หลักสูตร NSE ของฟอร์ติเน็ต เป็นหลักสูตรด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่ครอบคลุมเนื้อหาและมีการอัพเดทอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทันต่อภัยคุกคามใหม่ๆ ตลอดเวลา ตัวหลักสูตรครอบคลุมเนื้อหาการป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ การตรวจจับความเสี่ยง เน้นการเรียนรู้แบบ Hand-on ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงร่วมกับอุปกรณ์ของฟอร์ติเน็ต

ถือเป็นหลักสูตรที่เหมาะสมอย่างยิ่งสําหรับผู้ที่สนใจศึกษาเพื่อการทำงานในด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้อย่างจริงจัง ที่สำคัญ หลักสูตรนี้ ไม่เพียงช่วยยกระดับความสามารถของบุคลากรไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ยังเพิ่มโอกาสในการทำงาน และโอกาสในการได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.จิรพล สังข์โพธิ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “วัตถุประสงค์ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับฟอร์ติเน็ต มุ่งเน้นที่การการพัฒนานักศึกษาและสร้างบุคลากรให้มีความรู้และทักษะด้านการป้องกันและจัดการภัยคุกคามไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยธรรมศาสตร์ได้บรรจุหลักสูตรการเรียน-การสอนไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในสองคณะ และหนึ่งวิทยาลัย ได้แก่

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ เนื่องจากหลักสูตรนี้ต้องการความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีและการเขียนโปรแกรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ด้วยหลักสูตรไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่เน้นการป้องกันระบบและเครือข่าย

วิทยาลัยนวัตกรรม ด้วยหลักสูตรที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ความเข้าใจและเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล การวิเคราะห์ภัยคุกคาม การป้องกันและตอบสนองต่อเหตุการณ์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

โดยหลักสูตรการเรียนการสอนจะแบ่งออกเป็นหลักสูตรปริญญาตรีซึ่งจะมีทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือกเพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้พื้นฐานและขั้นสูงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ตามด้วยหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกสำหรับผู้ที่ต้องการเจาะลึกในด้านการป้องกันภัยบนไซเบอร์โดยเฉพาะ เช่น ความปลอดภัยของเครือข่าย ความปลอดภัยของแอปพลิเคชัน หรือการจัดการภัยคุกคาม เป็นต้น

เพื่อให้หลักสูตรสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งใจที่ดำเนินการวิจัยและสำรวจความต้องการของอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดหลักสูตรและเนื้อหาการสอน เพื่อให้สามารถปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรได้อย่างต่อเนื่องตามการพัฒนาล่าสุดด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์

“ธรรมศาสตร์มีเป้าหมายที่จะผลิตบัณฑิตด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้จำนวนอย่างน้อย 200 คนต่อปี ทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างเฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ เรายังมุ่งที่จะฝึกอบรมบุคคลกรทั้งในสายสนับสนุนและสายวิชาการจำนวน 2,000 คน ให้มีความรู้และเข้าใจขั้นพื้นฐานด้านการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์” รองศาสตราจารย์ ดร.จิรพล กล่าว

เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ระหว่างการพิจารณาในการเปิด e-Classroom และ Online Learning เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ โดยมหาวิทยาลัยต้องการพัฒนาหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ในรูปแบบออนไลน์เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนผ่านแพลตฟอร์ม e-Learning ได้ทุกที่ทุกเวลา

ขณะเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยยังต้องการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การจำลองสถานการณ์ (Simulations) เกมการเรียนรู้ (Gamification), และการประชุมวิดีโอ (Video Conferencing) เข้ามาเพื่อเสริมประสบการณ์การเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติจริงในด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้อีกด้วย