Friday, April 19, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

ยุทธศาสตร์การสร้างอาชีพให้กับชุมชน

ปัญหาความยากจนที่ยังมีจำนวนมากในชนบทไม่สามารถพัฒนาชนบทด้วยวิธีการแบบเดิมๆ เราต้องทำงานให้หนักขึ้นเร็วขึ้น และฉลาดขึ้นหากต้องการยกระดับชนบทให้พ้นจากความยากจนและยกระดับประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

นบทความครั้งที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึง การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เศรษฐกิจการตลาด” ในงาน “สร้างอาชีพ สู่ชุมชน” ซึ่งจัดโดยธนาคารออมสินร่วมกับสถาบันปัญญาภิวัฒน์ เพื่อพัฒนากลุ่มเยาวชนให้มีความรู้ในการทำโครงการสร้างอาชีพในชุมชน

ผมได้วิเคราะห์ถึงอุปสรรคในการสร้างอาชีพให้กับชุมชนซึ่งประกอบด้วย การขาดความประหยัดจากขนาดขาดความหลากหลายของกิจกรรมเศรษฐกิจขาดการต่อยอดบนจุดแกร่งขาดการบูรณาการในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ และขาดระบบบริหารที่ดีในธุรกิจชุมชน

การทำโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) หรือการลงไปส่งเสริมอาชีพให้ชุมชน โดยเฉพาะในชนบท จึงควรดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ ซึ่งผมมีข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

1.สร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์
ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

การสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์จะทำให้เกิดความแตกต่างหลีกหนีจากการแข่งขันด้านราคาสร้างคุณค่า สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความน่าสนใจในมุมมองของผู้ซื้อซึ่งจะช่วยลดความเสียเปรียบด้านต้นทุนของการผลิตในชนบท

แนวทางในระดับบุคคลคือ การพัฒนาความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล การฝึกอบรมอาชีพไม่ใช่เพียงพัฒนาความรู้และทักษะเหมือนๆ กันเท่านั้น แต่ควรช่วยค้นหาศักยภาพ และพัฒนาจนเกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ไม่เหมือนใคร

ในระดับองค์กรวิสาหกิจชุมชน ควรสร้างอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ อาทิ การร่วมมือกับ มหาวิทยาลัย เพื่อทำวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์หรือกรรมวิธีการผลิตที่มีเอกลักษณ์การพัฒนามาตรฐานหรือแนวปฏิบัติที่ดี และการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์

ในระดับชุมชน ควรกำหนดตำแหน่งหรือ niche ของชุมชน โดยส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนเช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรที่มีรสชาติ คุณภาพหรือลักษณะพิเศษเฉพาะพื้นที่และผลักดันการขึ้นทะเบียน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (GI) เป็นต้น

2.สร้างพลังทวีคูณ

ที่ผ่านมา โครงการสร้างอาชีพในชุมชนมักเป็นการส่งเสริมการผลิตเพียงอย่างเดียว ทำให้เมื่อผลิตออกมาแล้วไม่มีตลาดรองรับ ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมอาชีพในชุมชนไม่ควรทำโครงการแบบต่างคนต่างทำหรือส่งเสริมแบบแยกโดด แต่ควรวางแผนร่วมกันสร้างเป็นชุดโครงการเพื่อให้ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ผู้ที่เข้าไปพัฒนาชุมชนควรร่วมมือกัน เพื่อพัฒนากิจกรรมในชุมชนอย่างครบวงจรทำให้กิจกรรมต่างๆ ในชุมชนและระหว่างชุมชนเชื่อมโยงกันและพึ่งพากันและกันเช่น การพัฒนาคลัสเตอร์ของกิจกรรมของชุมชน การพัฒนาตลาดร่วมระหว่างชุมชนทำให้มีสินค้าหลากหลายซึ่งจะดึงดูดผู้ซื้อได้มากกว่าและการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างชุมชนซึ่งทำให้น่าท่องเที่ยวมากกว่าการท่องเที่ยวเพียงชุมชนเดียว

3.สร้างความสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากร

การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนควรให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างเต็มที่ โดยพัฒนาวิธีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทุกประเภท ทุกที่ ทุกเวลาเช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน ทุกตารางนิ้ว ในน้ำ ใต้ดิน และบนอากาศการใช้ประโยชน์จากขยะของเสีย และเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นต้น

การบริหารทรัพยากรในชนบทควรมีกระบวนการเพิ่มฟังก์ชั่น ลักษณะ ความสามารถ หรือ คุณสมบัติใหม่ให้กับกิจกรรมและทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นเช่น การพัฒนาฟาร์มเป็นแหล่งท่องเที่ยวการปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

การนำวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นทุนทางเศรษฐกิจเป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อแปลงทรัพยากรเป็นทุน เช่น การแปลงไม้ยืนต้นเป็นทุน (ธนาคารต้นไม้) การแปลงทุนทางสังคมเป็นทุน (ให้กู้โดยค้ำประกันกลุ่ม) เป็นต้น

4.สร้างความสามารถพึ่งพาตนเอง

ในยุคโควิด คนว่างงานมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั้งประเทศและทั่วโลกทำให้ตลาดนอกชุมชนมีกำลังซื้อลดลง ผมจึงมีแนวคิดว่า การส่งเสริมอาชีพในภาวะวิกฤต ควรเน้นการผลิตแบบพึ่งตนเองก่อน (Self-Reliance First) โดยเปลี่ยนการผลิตเพื่อการพาณิชย์เป็นการผลิตเพื่อบริโภคเองก่อน ผลผลิตที่ส่วนเกินจากการบริโภคจึงนำออกจำหน่าย

นอกจากนี้ หน่วยผลิตแต่ละหน่วยควรร่วมมือและเชื่อมโยงกันเป็นชุมชนที่ยั่งยืนในตัวเอง (Self-Sustained Communities) โดยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจชุมชน เน้นการผลิตเพื่อตลาดภายในชุมชน และเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายในชุมชนมากขึ้น

รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน เพื่อให้เกิดชุมชนที่ยั่งยืนในตัวเองที่เชื่อมโยงกัน (Linked Self-Sustained Communities) โดยเชื่อมโยงด้านการผลิตและการตลาดระหว่างชุมชนมีการวางแผนผลิตร่วมกัน และพัฒนาตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน

5.สร้างสมรรถนะทางเทคโนโลยี

เทคโนโลยีช่วยให้ชุมชนชนบทลดข้อจำกัดและบรรลุเป้าหมายต่างๆ ได้ ทั้งการเพิ่มผลิตภาพ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน และเข้าถึงตลาดและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นรวมทั้งทำให้การผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ผู้เขียนมีข้อเสนอแนวทางการสร้างสมรรถนะทางเทคโนโลยีในชุมชน อาทิ การใช้เครื่องจักรกลในภาคเกษตร (farm mechanization)โดยส่งเสริมการรวมพื้นที่เพาะปลูก ทำให้กลายเป็นฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อให้สามารถใช้เครื่องจักรในการผลิตได้อย่างคุ้มค่าการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการทำฟาร์ม

เช่น เกษตรความแม่นยำสูง (precision agriculture) และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการฟาร์ม เช่น การขายสินค้าและทำการตลาดออนไลน์ การควบคุมคุณภาพการผลิตและตรวจสอบย้อนกลับเป็นต้น

6.สร้างความสามารถในการจัดการ

กิจการที่ชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน (mutual business) เช่น วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ มักมีปัญหาด้านการบริหารที่ขาดประสิทธิสภาพ (efficacy) ซึ่งเกิดจากสมาชิกขาดแรงจูงใจในการมีส่วนร่วมในการจัดการองค์กร ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนากิจการของชุมชนให้มีการบริหารแบบธุรกิจมากขึ้น

โดยการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างภาคธุรกิจและวิสาหกิจชุมชนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการถือหุ้นและอำนาจในการออกเสียงเช่น การใช้กฎ 50+1 โดยให้นักธุรกิจเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ49 เพื่อให้สมาชิกยังถือหุ้นใหญ่ แต่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจเข้ามาร่วมบริหารด้วยเป็นต้น

7. สร้างคุณค่าเพื่อสังคม

กระบวนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน อาจจำเป็นต้องมีองค์กรที่เข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคนในชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดความสามารถประกอบการที่ครบถ้วน โดยเฉพาะด้านการตลาด การพัฒนากระบวนการผลิต การพัฒนามาตรฐานการพัฒนาเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา

ผู้เขียนมีแนวคิดว่า เราควรส่งเสริมให้มีองค์กรสร้างชาติ (Corporate Nation-Building หรือ CNB) จำนวนมากเพื่อให้กระจายตัวไปช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศอย่างเจาะจงและต่อเนื่อง CNB หมายถึง องค์กรทั้งภาครัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างชาติอุทิศทรัพยากรและใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบเปลี่ยนแปลงสังคม และสร้างคุณค่าหรือผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ผมยังเสนอว่า ประเทศไทยควรพัฒนาระบบอาสาสมัครเพื่อชุมชนเช่น การสร้างประเพณีให้บัณฑิตจบใหม่ ลงไปพัฒนาชุมชน 2ปี ก่อนไปประกอบอาชีพ เพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะ และทักษะการทำงานเพื่อสังคม

ผมขอสรุปด้วย แนวคิดการทำงานของผม คือ “work hard, work fast, work smart”เนื่องด้วยปัญหาความยากจนที่ยังมีจำนวนมากในชนบทเราจึงไม่สามารถพัฒนาชนบทด้วยวิธีการแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไปเราต้องทำงานให้หนักขึ้นเร็วขึ้น และฉลาดขึ้นหากต้องการยกระดับชนบทให้พ้นจากความยากจนและยกระดับประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว