Friday, September 20, 2024
ArticlesInnovationInterview

เบื้องหลังการสร้าง องค์กรแห่งนวัตกรรม ของทรู ที่มีความเชื่อว่า ทุกคนเป็นนวัตกรได้

True Innovation Center

เปิดใจทีม True Innovation Center และนวัตกรทรู พูดคุยถึงเบื้องหลังการสร้าง องค์กรแห่งนวัตกรรม รวมถึงผลงานที่ภูมิใจ และเป้าหมายต่อไปในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างยั่งยืน ก้าวสู่การเป็น Telecom-Tech Company

ริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company เผยผลสำรวจด้านนวัตกรรมว่า 85 % ของผู้บริหารระดับสูงกล่าวว่า ความกลัวเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการสร้างสรรค์นวัตกรรมขององค์กรอยู่เสมอหรือบ่อยครั้ง เนื่องจากพนักงานมักกลัวความล้มเหลว และการวิพากษ์วิจารณ์ อย่างไรก็ดี หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พนักงานเอาชนะความกลัวเหล่านั้น คือ การให้ความเชื่อมั่นและให้คุณค่าต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า ทุกคนสามารถเป็นนวัตกรได้ ของทีม True Innovation Center คือหนึ่งแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรทรู ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2566 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญในด้าน องค์กรนวัตกรรมดีเด่น ประเภทองค์กรขนาดใหญ่

โอกาสนี้ ทีม True Innovation Center และนวัตกรทรู ได้พูดคุยถึงเบื้องหลังการสร้าง องค์กรแห่งนวัตกรรม รวมถึงผลงานที่ภูมิใจ และเป้าหมายต่อไปในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างยั่งยืน ก้าวสู่การเป็น Telecom-Tech Company

นวัตกรรมเกิดจากการมองเห็นปัญหา

ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของทรูออนไลน์ อาจไม่เคยรู้ว่า True GIGATEX Intelligent Fiber Router คือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในองค์กร จากฝีมือของนวัตกรทรู โดยมีจุดเริ่มต้นจากความต้องการพัฒนาคุณภาพของโครงข่ายและบริการ พร้อมไปกับการแก้ปัญหาการผูกขาดจากผู้ผลิตอุปกรณ์

ศศิกานต์ ตั้งชูทวีทรัพย์ Engineering Specialist หนึ่งในนวัตกรและผู้จัดการโครงการพัฒนา Intelligent Fiber Router เล่าว่า เดิมโครงข่ายของบริการทรูอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีลักษณะเป็นแบบถูกผูกขาดจากผู้ผลิตอุปกรณ์ กล่าวคือ อุปกรณ์ด้านโครงข่าย(ตัวส่ง) และอุปกรณ์ที่ติดตั้งที่บ้านลูกค้า (ตัวรับ) จำเป็นต้องมาจากผู้ผลิตรายเดียวกันเท่านั้นถึงจะให้บริการลูกค้าได้

ซึ่งเป็นผลทำให้ทรูซึ่งเป็นผู้ให้บริการได้รับผลกระทบในด้านการบริหารจัดการต้นทุน เนื่องจากมีต้นทุนสูงในการปรับปรุงคุณภาพโครงข่ายและบริการ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายสูงเนื่องจากในโครงข่ายของทรูมีผู้ผลิตหลากหลายมากถึง 6 ราย

ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทีมวิศวกรทรู จึงศึกษาหาแนวทางที่ช่วยลดต้นทุน พร้อมไปกับปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ โดยใช้เทคนิคทางวิศวกรรมที่เรียกว่า “Inter Operability ONT-OLT” (IOP) ซึ่งเป็นการออกแบบพัฒนาให้มีการใช้ภาษากลางที่ทำให้อุปกรณ์ตัวส่งกับตัวรับสัญญาณจากต่างผู้ผลิตกันสามารถทำงานร่วมกันได้

ทีมวิศวกรทรูได้ไปศึกษาดูงานกับ China Mobile ผู้ให้บริการในประเทศจีน และนำมาพัฒนาต่อยอดจนสามารถทำให้ตัวรับสัญญาณจากผู้ผลิต 1 รายทำงานร่วมกับอุปกรณ์ส่งจากผู้ผลิต 6 รายของทรูได้ภายในเวลา 2 ปี โดยเป็นการปรับทั้งโครงข่ายเพื่อรองรับเทคนิค IOP ได้

“เมื่อเราใช้เทคนิคแบบ IOP ที่เป็นคอนเซปต์แบบ Any to One ก็ทำให้ลูกค้าได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้รับบริการที่ดีขึ้น รวมถึงทรูเองก็สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้มากขึ้น ด้านผู้ผลิตก็ต้องพยายามพัฒนาอุปกรณ์ให้มีคุณภาพดีรองรับกับเครือข่ายของเราได้ เมื่อสามารถปรับเปลี่ยนด้วยเทคนิคใหม่นี้ได้ องค์กรก็ลดต้นทุนได้ถึง 5,460 ล้านบาท และมีรายได้เพิ่มขึ้น 40 ล้านบาทต่อเดือนจากการที่ลูกค้าเพิ่มขึ้น 50,000 รายต่อเดือนอีกด้วย จะเห็นได้ว่า นวัตกรรมทำให้เกิด Cost Saving ได้” ศศิกานต์ สรุป

เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้ลองทำ

ที่ผ่านมานวัตรกรทรูได้คิดค้นนวัตกรรมมากว่า 680 ผลงาน คิดเป็นรายได้และลดต้นทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ปัจจัยที่ทำให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เริ่มมาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรที่มองว่า นวัตกรรมส่งเสริมให้บริษัทขับเคลื่อนต่อไปได้ จึงเปิดกว้างให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานไปด้วยกัน

“ย้อนกลับไปตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว ศุภชัย เจียรวนนท์ มีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างว่า นวัตกรรมจะเป็นสิ่งที่คิดค้นใหม่ หรือปรับสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ได้ เพราะต้องการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองทำ ลองผิดลองถูกได้” วีรศักดิ์ พงษ์ธัญญวิชัย Head of Innovation Center Department กล่าว

การส่งเสริมนวัตกรรมในองค์กรของทรูจึงมีการวางรากฐานไว้อย่างดี โดยมีทีมงานที่ดูแลด้านนวัตกรรมโดยเฉพาะ นั่นคือ ทีม True Innovation Center ที่มีความเชื่อว่า “คน” คือกลไกสำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในองค์กร ทีมนี้จึงทำหน้าที่ช่วยจุดประกาย เป็นที่ปรึกษา สร้างโอกาส ให้พนักงานทุกคนเป็นนวัตกรได้ ผ่านวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • Innovation Advocacy: สร้างบรรยากาศในการริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร ผ่านการให้ความรู้ ทำเวิร์กชอป และเวิร์กชอปสัญจร สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานทรูทุกฝ่ายงานทั่วประเทศ
  • Empowerment: สนับสนุนให้พนักงานได้ลองผิดลองถูก โดยคิดริ่เริ่มและพัฒนาเป็นโครงการของตัวเอง โดยทีมจะทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยงที่ให้คำปรึกษา แนะนำผ่าน Innovation Clinic
  • Feedback Mechanism: สร้างเครื่องมือที่เรียกว่า Innovation Matrix หรือ I-Score เพื่อวัดความระดับความเป็นนวัตกรรมของชิ้นงาน และหาแนวทางในการพัฒนาให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงต่อไป
  • Contest: เปิดเวที True Innovation Award ให้พนักงานได้มีโอกาสประกวดผลงาน โดยเปิดกว้างตั้งแต่ไอเดียแรกเริ่มในเรื่องใกล้ตัว ที่เรียกว่าระดับ IDEA SEED (เมล็ดพันธุ์ความคิด) ไปจนถึงการต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง หรือ INNO TREE (สุดยอดนวัตกรรม)
  • System and Platforms: พัฒนาอินทราเน็ตแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Innovation Tank เพื่อให้พนักงานในองค์กรเข้ามาค้นหาผลงานที่เคยมีแล้ว และนำมาต่อยอด หรือส่งผลงานของตัวเอง
  • Innovative Culture: ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กร Co-Creation ในการร่วมคิดสร้างสรรค์ ร่วมทำงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ พร้อมกับการเปิดกว้างรับฟังความคิดที่หลากหลายจากมุมมองที่แตกต่างกัน

“เมื่อพูดถึงนวัตกรรม เราอยากให้ทุกคนในองค์กรรู้สึกสนุกก่อน อยากให้มีความรู้สึกว่า นวัตกรรมไม่ได้เป็นแค่เรื่องเทคโนโลยี และไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว ทุกไอเดียที่พนักงานคิดและเสนอมามีคุณค่าทั้งหมด เราจะไม่ไปกำหนดว่า สิ่งนี้ทำได้หรือทำไม่ได้ การเปิดรับไอเดียที่แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สุดท้ายอาจต่อยอดไปเป็นนวัตกรรมในอนาคตก็ได้” สรรควร สัตยมงคล Innovation Specialist ของทีม True Innovation Center เน้นย้ำ

จาก Close innovation สู่ Open innovation

นอกเหนือจากการสร้างสรรค์วัฒนธรรมภายในองค์กรแล้ว ทีมงานTrue Innovation Center ยังได้ประสานความร่วมมือกับภายนอก มีการจัดตั้ง True LAB เพื่อทำงานกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 9 แห่ง ร่วมกันทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม พร้อมไปกับการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยและถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เกิดเป็น Open Innovation ซึ่งนับเป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร และเป็นการต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ออกสู่ตลาดได้จริง

“ที่ผ่านมามีนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกว่า 100 ผลงาน สำหรับตัวอย่างความร่วมมือที่ทำอยู่ตอนนี้ เป็นการพัฒนากล่องกกลูกสุกร ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้ประโยชน์ของ IoT จากทีมทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เพื่อลดอัตราการตายของลูกสุกรในฟาร์มต่างๆ และมุ่งหวังที่จะยกระดับการปศุสัตว์ของไทยให้ดีขึ้น” สรรควร กล่าว

นอกจากนี้ True LAB ยังทำหน้าที่บ่มเพาะนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ให้ก้าวเข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพกว่า 1,000 ทีม และปัจจุบันได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในทรู เพื่อพัฒนานวัตรรมที่ใช้งานได้จริงในธุรกิจ พร้อมมุ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทย

ไม่หยุดพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ด้วยหลักการ “คิดค้นนวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” ทรู ไม่เพียงสร้างนวัตกรรมทั้งที่เป็นสินค้าและบริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้า แต่ยังสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกมากมาย

ในด้านสังคม มีนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบางอย่าง แอปพลิเคชัน Autistic ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้เด็กออทิสติกให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กผ่านการลากเส้นที่ ต้องใช้สมาธิ รวมไปถึงการสื่อสารที่ต้องใช้ชีวิตประจำวัน และการดูแลตัวเอง ท้ายที่สุดคือการนำไปสู่การฝึกอาชีพและมีรายได้อย่างยั่งยืน

“เมื่อก่อนพ่อแม่ของเด็กออทิสติกต้องมีเวลามาสอนให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ซ้ำๆ จนจดจำได้ พอมีแอปพลิเคชันนี้ เด็กจะเรียนรู้กิจวัตรต่างๆ เช่น การแปรงฟัน รวมไปถึงการใช้ชีวิต เช่น ฝึกออกไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ สิ่งที่น่าภูมิใจคือ มีน้องๆ ที่เคยดูแลตัวเองไม่ได้เลย เขาเกิดพัฒนาการที่ดี และบางคนก็ได้มาเป็นบาริสต้าของ True Coffee ด้วย” วีรศักดิ์เล่า

ในด้านของสิ่งแวดล้อม มีหนึ่งนวัตกรรมสำคัญที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาแก้ปัญหาอย่างตรงจุด นั่นคือ โซลูชันเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant Smart Early Warning) ที่ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้สำเร็จด้วยการผสานศักยภาพของเทคโนโลยีสื่อสาร ระบบ IoT เข้าไปช่วยในการทำงานของหน่วยลาดตระเวน กรมอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเจ้าหน้าที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)

รมมุก เพียจันทร์ Senior Leader Project Development จากหน่วยงานทรูปลูกปัญญา ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการนี้เล่าว่า โซลูชันดังกล่าวประกอบด้วย กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติพร้อมซิมจากทรู ซึ่งจะแจ้งเตือนพิกัดที่พบช้างแบบเรียลไทม์ไปยังระบบ Cloud

โดยเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เฝ้าระวังฯ จะตรวจสอบภาพและพิกัดอีกครั้ง และประสานงานไปยังชุดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการผลักดันช้างผ่านแอปพลิเคชัน Smart Adventure ที่ติดตั้งใน Trunked Mobile ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบ Cloud เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลความถี่และสถิติที่ช้างป่าออกมาได้

“หลังจากที่เราเริ่มติดตั้งภายใน 1 ปี ก็พบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นน้อยกว่า 1% ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนาต่อโดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี นำระบบ AI มาเข้ามาเสริม ทำให้การตรวจสอบและ Detect ทำได้แม่นยำมากขึ้น” รมมุกกล่าว

องค์กรแห่งนวัตกรรมเกิดขึ้นได้จริง

ที่ผ่านมานวัตกรรมที่มีความหลากหลายของทรู ได้รับรางวัลในระดับประเทศและในเวทีต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปี 2566 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้าน “องค์กรนวัตกรรมดีเด่น” ประเภทองค์กรขนาดใหญ่ ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องจริงจัง

“รางวัลนี้มีการประเมินอย่างรอบด้าน ตั้งแต่วิสัยทัศน์ผู้นำ ผลงานที่เกิดจากพนักงานในองค์กร ระบบการจัดการนวัตกรรม รวมไปถึงรางวัลและการเชิดชูผลงานจากเวทีต่างๆ ทั้งในไทยและนานาชาติ ซึ่งเมื่อรวบรวมย้อนหลังไป 3 ปี ทรูมีครบทุกองค์ประกอบ ทั้งยังมีการจัดการในเรื่องการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เรียกได้ว่าครบวงจรของการจัดการนวัตกรรมอย่างแท้จริง” วีรศักดิ์เน้นย้ำ

ด้วยเป้าหมายภายในปี 2573 ที่ต้องการสร้างนวัตกรทรูให้ถึง 5,000 คน โดยจัดให้มีทุนวิจัยพัฒนาเป็น 3% ของงบใช้จ่าย พร้อมไปกับการเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการให้มีสัดส่วนต่อรายได้รวมบริษัท 15% รวมถึงการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา 200 ผลงาน ท้ายที่สุดแล้ว “คน” คือปัจจัยสำคัญที่สุด ที่จะทำให้องค์กรเดินหน้าให้ถึงเป้าหมาย รวมถึงก้าวสู่การเป็น Telecom Tech Company อย่างแท้จริง

“ถ้ามีเครื่องมือล้ำสมัยทุกอย่าง แต่คนของเราไม่ใช้หรือใช้ไม่เป็น ก็ไม่อาจสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ เราจึงให้ความสำคัญกับ ‘คน’ เป็นอันดับแรก มุ่งสร้างคนให้เป็นนวัตกร สร้างแรงบันดาลใจ แล้วนวัตกรรมดีๆ จะเกิดขึ้นได้จริง” วีรศักดิ์ ทิ้งท้าย