Friday, March 29, 2024
NEWS

SCB WEALTH เดินหน้าครองใจลูกค้ามั่งคั่ง ปีนี้เน้นลงทุนตราสารหนี้ ตปท.- Structured note-หุ้นจีนไทยอินโด

SCB WEALTH เดินหน้าครองใจลูกค้ามั่งคั่ง คัดสรรผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ ปีนี้เน้นลงทุนตราสารหนี้ ตปท.- Structured note-หุ้นจีนไทยอินโด และ ESG มุ่งลดความเสี่ยงพอร์ตพร้อมสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน

ม้ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ภาพรวมตลาดการลงทุนเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ SCB WEALTH สามารถรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ โดยคัดสรรและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับภาวะตลาดได้อย่างทันท่วงที

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้หลายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่ง ทั้ง KIKO, หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอ้างอิงดอกเบี้ย THOR และประกันชีวิตประเภท Unit-linked ผ่านช่องทางธนาคาร ด้าน Private Asset มียอดขายรวมเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น 153%  ด้วยศักยภาพทีม RM ที่มีประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญ

และเข้าใจผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างดี  ปีนี้ SCB CIO แนะลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศระดับ Investment grade  พร้อมจับตาตลาดหุ้นเอเชีย หาจังหวะลงทุนหุ้นจีนที่ได้รับแรงหนุนจากการเปิดเมือง หุ้นไทยที่ได้รับผลบวกเศรษฐกิจฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว แรงหนุนจากมาตรการช้อปดีมีคืน การใช้จ่ายช่วงก่อนเลือกตั้ง และหุ้นอินโดนีเซีย ที่ได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายในประเทศ

โดยเฉพาะช่วงก่อนเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นต้นปี 2567 และ เร่งพัฒนานำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อดูแลพอร์ตลูกค้าให้มีสินทรัพย์ลงทุนที่หลากหลาย เช่น Structured note  มีการป้องกันความเสี่ยงตลาดขาลง เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี

ขณะที่ความเสี่ยงโดยรวมลดลง และลงทุนหุ้นกลุ่ม Thematic ประเภท ESG  ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน ESG ของธนาคาร และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ดูแลใส่ใจโลกมากขึ้น ส่วน InnovestX  มองหุ้นปีนี้แตะ 1,750 จุด รับอานิสงส์ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัว แนะกลยุทธ์ลงทุนแบ่งพอร์ตหุ้น 2 พอร์ต โดยพอร์ตที่ 1 สัดส่วน 70% ลงทุนหุ้นพื้นฐานดี ได้ประโยชน์จากเปิดประเทศของจีน พอร์ตที่ 2 สัดส่วน 30% ลงหุ้นเก็งกำไร ที่คาดว่าผลการดำเนินงานจะกลับมาในปี 2566

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ  รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.ยรรยง  ไทยเจริญ  รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงาน  SCB WEALTH Holistic Experts หัวข้อ  “2023  Investment  Strategy Framing a Future After a Perfect Storm” ว่าในปี 2565  ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ตลาดการลงทุนโลกและไทยมีปัจจัยที่ท้าทายและมีความผันผวนสูง ทำให้ภาพรวมธุรกิจ Wealth ในไทยล้วนได้รับผลกระทบ

โดยมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของธุรกิจบริษัทจัดการกองทุนรวม (Investment AUM) โดยรวมลดลงกว่า 10 % อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ภายใต้การบริหารของ SCB Wealth ลดลงในอัตราที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด ด้วยการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

โดยการเฟ้นหาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ในทุกช่วงเวลาสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส   และสร้างผลตอบแทนที่ดี เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้าได้   ประกอบกับศักยภาพของ RM  ที่สามารถเข้าใจโปรดักส์ที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างดี  จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของ SCB Wealth  ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า

เช่น  ตราสารอนุพันธ์ที่อิงกับหุ้นสามัญ (KIKO) ซึ่งยังคงครองอันดับ 1 ในตลาดและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 โตเพิ่ม      54%  หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอ้างอิงดอกเบี้ย (THOR) ครองอันดับ 1 ในตลาด)  และ Private Asset ที่มียอดรวมเพิ่มขึ้น 153% จากปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น เรายังคงให้ความสำคัญกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนและบริการในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนให้แก่ลูกค้า เช่น สินเชื่อเพื่อการลงทุน Lombard และ Property-backed Loan หรือผลิตภัณฑ์ประกันควบการลงทุน Regular Unit-linked ที่ SCB ยังคงครองอันดับ 1 ในตลาด Banca Business (38% market share) ทำให้เรามีกระแสรายได้ของธุรกิจจากหลากหลายช่องทาง ผลักดันให้ Wealth Business เป็น Growth Engine และยังคงเป็นธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ต่อไป

สำหรับกลยุทธ์ในปี 2566 ภายใต้บรรยากาศการลงทุนที่มีแนวโน้มดีขึ้นและพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เรายังคงมุ่งเน้นการดูแลลูกค้าและให้คำแนะนำในการบริหารพอร์ตอย่างสม่ำเสมอตามสภาวะและจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าเพื่อสร้างพอร์ตให้มีคุณภาพและผลตอบแทนที่ยั่งยืน

ด้วยความพร้อมของทีม SCB WEALTH Advisory ทั้งด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ติดตามดูแล และให้คำแนะนำอย่างเป็นระบบ ยิ่งไปกว่านั้น เรามุ่งมั่นที่จะสร้างความแตกต่างด้วยการยกระดับการให้บริการและคำปรึกษาผ่านช่องทาง Digital Wealth เพื่อให้บริการที่รู้จัก รู้ใจ ลูกค้ามากยิ่งขึ้น (Hyper-personalization) และยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าในทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อ (Omni-channel) ในขณะเดียวกัน เราตั้งมั่นในการต่อยอดความมั่งคั่งให้แก่ลูกค้าของธนาคาร ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบ open architecture ที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างครบวงจร

ศรชัย  สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO ) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ศรชัย  สุเนต์ตา  ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO ) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้โลกของการลงทุนเริ่มสดใสมากขึ้น มีปัจจัยบวกจากการเปิดเมืองของจีน ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงมีอยู่ เช่น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และอาจได้เห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ เช่น ยุโรป แต่จะไม่รุนแรง ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะยังปรับขึ้นต่ออีกเล็กน้อย

เนื่องจากเงินเฟ้อทยอยปรับลดลงมาแล้ว แต่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนในช่วงครึ่งปีแรก ในช่วงเวลานี้  แนะนำให้ทยอยลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เพราะโอกาสที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้จะปรับเพิ่มขึ้นในระดับสูง มีค่อนข้างจำกัด สอดคล้องกับที่คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มองว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ แนะนำให้เพิ่มอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้  โดยทยอยเพิ่ม Duration ในพอร์ตการลงทุน และเน้นเลือกหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment Grade) ทั้งของไทยและต่างประเทศ  เนื่องจากมีความสามารถในการชำระหนี้และจ่ายดอกเบี้ยได้ แม้ในช่วงเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงกลุ่มตราสารหนี้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (High Yield) โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่บางประเทศ ที่มีความเสี่ยงปัญหาสภาพคล่อง โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศที่อาจเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ เช่น จีน รวมถึงความเสี่ยง Refinancing ในหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด

ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่ดีในการคัดเลือกสินทรัพย์ที่น่าสนใจในราคาไม่แพง โดยตลาดหุ้นเอเชีย เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง และยังเป็นตลาดที่มีแรงหนุนจากการเปิดเมืองของจีน

โดยเฉพาะ ตลาดหุ้นจีน A-Share เนื่องจากดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเร่งผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่มูลค่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อ แม้ว่าการเปิดเมืองอาจทำให้เกิดการระบาดเร่งตัวได้ในระยะใกล้ก็ตาม

ด้านตลาดหุ้นจีน H-Shareได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองของจีนเช่นกัน ขณะที่ความเสี่ยงที่หุ้นจีน ADR จะถูก Delist ลดลงมาก แม้ว่าตลาดยังเผชิญปัจจัยกดดันจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็ตาม ส่วนตลาดหุ้นไทย ได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามการท่องเที่ยว มีแรงหนุนจากมาตรการช้อปดีมีคืน และการใช้จ่ายช่วงก่อนเลือกตั้ง โดยเน้นหุ้นกลุ่มพาณิชย์ ขนส่ง และสาธารณูปโภค และตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ที่มีแรงหนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่เติบโต โดยเฉพาะช่วง 1 ปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้งต้นปี 2567

สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนในปีนี้ จะยังคงมุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น ในทุกภาวการณ์ลงทุนในแต่ละช่วงเวลา เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง หรือ Structured Note ซึ่งมีการป้องกันความเสี่ยงในช่วงขาลงเอาไว้ (Downside Protection) และผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภท Thematic ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม

และธรรมาภิบาล (ESG) ตอกย้ำฐานะของธนาคารในการเป็นผู้นำด้าน ESG และสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่ใส่ใจดูแลโลกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับการดูแลพอร์ตลงทุนของลูกค้าให้มีสินทรัพย์ลงทุนหลากหลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้มั่งคั่งอย่างยั่งยืน ขณะที่ความเสี่ยงโดยรวมลดลง และเน้นย้ำให้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ในกรณีที่ไปลงทุนในต่างประเทศ

นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญกับการเสริมสภาพคล่องการลงทุนให้กับลูกค้า ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อการลงทุน ที่ใช้สินทรัพย์ทางการเงินเป็นหลักประกัน (Lombard Loan) หรือ อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน (Property-Backed Loan) และในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะมีบริการดิจิทัลที่มาช่วยให้ลูกค้าลงทุนได้สะดวก สบาย และตรงใจมากขึ้น เช่น บริการเตือนอัจฉริยะเมื่อตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือหลักทรัพย์ที่ลงทุนไว้ครบกำหนดไถ่ถอน รวมทั้งตัวช่วยที่จะประเมินความเสี่ยงและความต้องการลงทุนของลูกค้าลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น

สุกิจ  อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX)

สุกิจ  อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) เปิดเผยว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2566 ในไตรมาสที่ 1 ความเสี่ยงด้านนโยบายการเงินตึงตัวแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ยังคงไม่จบ ในขณะที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานชะลอตัวกำลังเพิ่มขึ้น ส่วนการเปิดประเทศของจีนเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจชะลอตัวได้บ้าง ในไตรมาส 2 เราคาดว่าจะเห็นสัญญาณของเศรษฐกิจและกำไรผ่านจุดต่ำสุด

รวมถึงความเสี่ยงของการส่งผ่านผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ราคาพลังงานของสหภาพยุโรป เหตุการณ์สำคัญในไตรมาส 2 ปี 2566 ที่อาจกระตุ้นให้ตลาดถึงจุดต่ำสุด ได้แก่ 1)นโยบายการเงินที่เริ่มลดระดับการตึงตัว  2) Real yield กลับมาเป็นบวก

ซึ่งหมายความว่าดอลล่าร์จะอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาด Emerging Market โดยจุดเข้าซื้อที่สำคัญอยู่ระหว่าง 1,550 -1,600 จุด เราคิดว่าตลาดหุ้นน่าจะยังมี downside อีกมากหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเต็มรูปแบบในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

ส่วนในไตรมาส 3 ตลาดหุ้นไทยรับประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตได้ดีกว่าสหรัฐ ยุโรป รวมถึงได้รับประโยชน์จากเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชีย และไตรมาส 4 ผลตอบแทนของตลาดดูเหมือนจะมีจำกัด เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของปี  2024 กลับมาสู่ภาวะปกติ valuation คาดว่าจะดึงตัวหลังจาก Rally อย่างแข็งแกร่ง

โดยคาดการณ์ดัชนีอยู่ที่ 1,750 จุด อย่างไรก็ตาม หุ้นไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากตลาดหุ้นจีนฟื้นตัว นักเศรษฐศาสตร์ของ InnovestX ประเมินว่า ข้อจำกัดเกี่ยวกับ COVID ส่งผลทำให้ GDP Output ของจีนปรับลดลงราว 4-5% จากระดับ Trend ทำให้ GDP ขยายตัวราว 5% เราคิดว่าตลาดจะตอบรับเชิงบวกต่อการผ่อนคลายนโยบายของจีน

เนื่องจากจีนคิดเป็น 1 ใน 3 ของ Traffic และรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศไทย และจะช่วยกระตุ้นให้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าสุทธิ หากตลาดหุ้นจีนฟื้นตัว ตลาดหุ้นไทยจะได้รับประโยชน์จาก Rally และส่งผลดีต่อ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ ขนส่ง  อาหารและเครื่องดื่ม และท่องเที่ยว เนื่องจากเศรษฐกิจในปี 2566   จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

เรามองว่า กำไรของกลุ่มพาณิชย์ จะเติบโต yoy ต่อเนื่องในปี 2566 ได้รับแรงสนับสนุนจากยอดขายปลีกที่ดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากขึ้น ประกอบกับการขยายสาขา และมาร์จิ้นที่ดีขึ้น  รายได้ค่าเช่ามีแนวโน้มฟื้นตัวเนื่องจากการให้ส่วนลดค่าเช่าลดลง

และอัตราการเช่าพื้นที่ที่ปรับตัวดีขึ้น และเราคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยที่ 25 ล้านคน ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มท่องเที่ยวฟื้นตัว ความต้องการใช้บริการจัดอีเว้นท์ เช่น สัมมนา และงานเลี้ยง จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การบริการด้าน Healthcare ที่ไม่เกี่ยวกับโควิดจะเติบโตเพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของบริการผู้ช่วยต่างชาติจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้กำไรของกลุ่มการแพทย์เติบโตในปี 2566 มาร์จิ้นของกลุ่มการแพทย์แข็งแกร่ง

เนื่องจากมีอำนาจกำหนดราคาสูง เราคาดว่าจะเห็นพัฒนาการเพิ่มมากขึ้นในธุรกิจใหม่ เช่น บริการสุขภาพดิจิทัล และบริการ Wellness ในปี 2566 กลุ่ม Bank เราคาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารจะเติบโต 13% ในปี 2566 โดยได้รับสนับสนุนจากการ    คาดาการณ์ว่าสินเชื่อจะเติบโต 6% Net Interest Margin (NIM ) จะขยายตัว 6 bps ส่วน Non-Nll จะอยู่ในระดับทรงตัว และ Credit Cost จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 7 bps

สุกิจ กล่าวต่อไปว่า หุ้นไทยเน้นการฟื้นตัวจากปัจจัยภายในและการท่องเที่ยว แม้ว่าปัจจัยภายนอกค่อนข้างท้าทายแต่เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ การเปิดประเทศของจีนที่จะทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องจากปี 2565 การบริโภคภายในประเทศยังแข็งแกร่ง

ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการส่งออกที่ชะลอตัว บริษัทจดทะเบียนไทยมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง นโยบายการเงินก็เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปทำให้ตลาดไม่ผันผวน สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 ได้แก่ 1) นักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตโดดเด่น ภาคบริการฟื้นตัว 2) ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3) ผลกระทบจากนโยบายการเงินค่อนข้างจำกัด 4) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 และ 5) การเติบโตมีแนวโน้มชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีนี้ ด้วยสภาพตลาดหุ้นที่ยังคงมีความผันผวน จึงแนะนำแบ่งหุ้นเป็น 2 พอร์ต สัดส่วน 70:30 โดยพอร์ตที่ 1 (70%) เน้นหุ้นพื้นฐานดีที่ได้ประโยชน์จากเปิดเมืองของจีนและเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว 2) มีอัตราการเติบโตดีต่อเนื่อง

3) มีความเป็นหุ้นเชิงรับ ส่วนพอร์ตที่ 2 (30%) เป็นหุ้นเก็งกำไร ที่คาดว่าผลการดำเนินงานจะ Turnaround ได้ในปี 2023 โดยเป็นบริษัทที่ความเสี่ยงด้านฐานะทางการเงินต่ำ  โดยหุ้นแนะนำ ในพอร์ตที่ 1 ได้แก่ AOT, BBL, BDMS, CPALL, CRC, GPSC และ SCGP ส่วนในพอร์ตที่ 2 ได้แก่ AU, HANA และ SECURE

ดร.สาธิต  ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Estate Planning & Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Estate Planning & Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 ในด้านกฎหมายภาษีอากรที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ มีอยู่สองประเด็นหลัก และอีกหนึ่งสิทธิ์ลดหย่อนภาษี ประกอบด้วย

1.ภาษีขายหุ้นที่เป็นการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในกรณีที่ขายหุ้นหรือหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่ากฎหมายจะมีผลให้เริ่มเสียภาษีตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. 2566 ในอัตรา 0.055% ของมูลค่าขายหลักทรัพย์ฯ แต่ต้นปี 2567 จะเก็บเต็มจำนวนที่ 0.11% ของมูลค่าขาย ภาษีขายหุ้นนี้มีแนวคิดมานานแต่มีการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2535 สรุปคือ ซื้อไม่มีภาษี แต่ขายมีภาษีไม่ว่าจะขายกำไรหรือขายขาดทุน ทำให้นักลงทุนมองว่ามีต้นทุนค่าขายเพิ่มขึ้น

เช่น หากซื้อหุ้นมีค่าธรรมเนียมซื้อประมาณ 0.157% (ค่าธรรมเนียม cash balance แบบ online) แต่เวลาขายแทนที่จะเหมือนกับการซื้อคือ 0.157% พอมีภาระภาษีทำให้ต้นทุนตอนขายในปี 2566 จะจ่ายเพิ่มเป็น 0.212% (0.157% + 0.055%) ผลกระทบนี้จะมีผลต่อนักลงทุนต่างกันแล้วแต่วัตถุประสงค์การลงทุนและระยะเวลาการถือครองหุ้น แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนไม่ต้องกังวลคือกฎหมายให้ Broker เป็นผู้ชำระภาษีและจัดการแทนนักลงทุน ทำให้ลดภาระความยุ่งยากของนักลงทุนไปได้

2.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2566 กฎหมายมีเรื่องอัปเดตสองเรื่อง คือการเลื่อนระยะเวลาการเสียภาษีของผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากเดิมกำหนดไว้ในเดือนเมษายน 2566 เลื่อนเป็นเดือนมิถุนายน 2566 และรัฐบาลลดภาษีให้ในอัตรา 15% ของภาระภาษีที่คำนวณได้

3.สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าและบริการและได้ใบกำกับภาษีระหว่าง 1 มกราคม 2566 – 15 กุมภาพันธ์ 2566 สามารถนำมาหักเงินได้เสียภาษีได้ 40,000 บาท โดยแบ่งเป็นส่วนแรก 30,000 เป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ หรือใบรับ โดยใช้ได้ทั้งแบบกระดาษ / e-Tax Invoice / e-Receipt

ส่วนที่ 2 อีกจำนวน 10,000 บาท ต้องมีใบกำกับภาษี หรือใบรับ โดยใช้ได้เฉพาะ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้ร้านค้าอยากเข้ามาร่วมในระบบจัดทำใบกำกับแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จึงมองว่ามาตรการนี้เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ในระบบภาษีของประชาชนอย่างมากทีเดียว

Leave a Response