Wednesday, April 24, 2024
ArticlesColumnistSansiri Sirisantakupt

เทคโนโลยีดิจิทัล คือ เส้นทางสู่การพัฒนากองทัพอากาศสหรัฐฯ

USAF

ลองศึกษาแนวคิดเรื่อง ความเร็ว ในการใช้กำลังทางอากาศ ทั้ง Air, Space และ Cyber ในอนาคตของ ทอ.สหรัฐฯ เพื่อสร้างความได้เปรียบ จากเก็บรวบรวม การเผยแพร่ และการใช้ประโยชน์ ให้รวดเร็วกว่าฝ่ายตรงข้าม

มื่อได้กล่าวถึงภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในมุมมองของนายทหารระดับสูง ทอ.สหรัฐฯ ที่กล่าวไว้ในการประชุม AFA Air, Space and Cyber Conference จัดขึ้นเมื่อกันยายนปีที่ผ่านมา ณ รัฐแมรี่แลนด์ ในเวลาที่ผ่านมา

เพื่อนำผลที่ได้จากการประชุมฯ มาเป็นเส้นทางสู่การพัฒนาของ ทอ.สหรัฐฯ(USAF) โดยสมาคมกองทัพอากาศสหรัฐฯ (Air Force Association: AFA) ซึ่งภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่ ทอ.สหรัฐฯ กำลังเผชิญในอนาคตอันใกล้เกี่ยวกับ แนวคิดในเรื่องของ ความเร็ว

พล.อ.อ.จอห์น ไฮทัน อดีตผู้บัญชาการทางยุทธศาสตร์สหรัฐฯ และ พล.อ.อ.เดวิด โกลด์ฟีน อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศสหรัฐฯ เห็นพ้องต้องกันว่า กองทัพอากาศสหรัฐฯ นั้น ต้องการความเร็วที่เพิ่มขึ้นในด้านต่างๆ เช่น ด้านการตัดสินใจในสนามรบ, ด้านการดำเนินงานในอวกาศ และในด้านการดำเนินงานบนโลกไซเบอร์ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้

…ถือเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญและถูกกำหนดไว้สำหรับการทำสงครามในอนาคต

ปัจจุบันความต้องการดังกล่าวกำลังถูกดำเนินงานโดยฝ่ายตรงกันข้าม ทั้งในส่วน Air, Space และ Cyber ซึ่งพัฒนาได้เร็วกว่า ทอ.สหรัฐฯ แล้วในบางส่วน

บทความโดย: น.อ.สรรสิริ สิริสันตคุปต์ นักวิชาการกองทัพอากาศ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการรักษาความมั่นคงปลอยภัย ด้านอวกาศและไซเบอร์

ที่สำคัญสงครามในอนาคตจะถูกกำหนดด้วยความเร็วของการตัดสินใจ ความได้เปรียบนั้นจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เก็บรวบรวม (Collect), ที่เผยแพร่ (Disseminate) และที่ใช้ประโยชน์ (Exploit) ได้รวดเร็วกว่าฝ่ายตรงข้ามมากขนาดไหน

โดยบทความ ผู้เขียนมีมุมมองและรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

Air (ทางอากาศ)

แนวคิดในเรื่องของความเร็ว ถูกกำหนดไว้ในการใช้กำลังทางอากาศในอนาคต ของ ทอ.สหรัฐฯ (USAF’s Air Superiority 2030) ซึ่งในยุคของข้อมูลความได้เปรียบในการปฏิบัติการนั้น จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในการใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง ได้รวดเร็วทันตามความต้องการในทุกสถานการณ์

โดย F-22 และ F-35 จัดเป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ห้า (5th Generation Fighter) ถือเป็นกำลังทางอากาศที่สามารถรองรับข้อมูลทางยุทธวิธีในปริมาณที่มาก ด้วย ทอ.สหรัฐฯ นั้นตระหนักดีว่า การครองความเหนือชั้นของการใช้กำลังทางอากาศ (Air Superiority) มาจากการเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Data Link) ระหว่างเครื่องบินขับไล่

ซึ่งในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้นั้นจะทำให้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี สามารถที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเป้าหมายของเครื่องบินฯ ฝ่ายตรงกันข้ามระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว และทันตามความต้องการในทุกสถานการณ์ ด้วยความเร็วที่เหนือกว่าทำให้สามารถเอาชนะฝ่ายตรงกันข้ามได้

เหตุนี้ จึงเป็นที่มาในความต้องการทางอากาศ ของ พล.อ.อ.เดวิด โกลด์ฟีน อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศสหรัฐฯ ที่จะทำให้ F-22 และ F-35 มีความสามารถในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธีระหว่างกัน รวมทั้งกับเครื่องบินขับไล่ยุคที่สี่ (4th Generation Fighter) ซึ่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ มีนโยบายจะใช้อย่างต่อเนื่องในอนาคต เช่น F-15Cs และ F-16Cs

ข้อมูลจาก U.S. Air Force Magazine ฉบับเดือนมีนาคม 2018 บทความเกี่ยวกับ 5th Generation Comms เขียนโดย ไบรอัน เอเวอร์สทีน ได้นำเสนอหลายหนทางในการเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีระหว่างเครื่องบินขับไล่ ทำให้นักบินสามารถติดต่อสื่อสาร (Voice) และแลกเปลี่ยนข้อมูล (Data) ระหว่างกัน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการปฏิบัติการร่วมกันทางอากาศ (Interoperability) ทันตามความต้องการ

ซึ่งในมุมมอง ทางเทคนิค F-35 ใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีสำหรับเครื่องบินขับไล่ยุคที่ห้าแบบ Multifunction Advanced Data Link (MADL) ที่มีความสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี (Voice และ Data) ได้กับเครื่องบินขับไล่ยุคที่สี่ ที่ใช้ระบบฯ แบบ Link-16

ส่วน F-22 ถูกสร้างมาก่อน F-35 ประมาณ 10 ปี ใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีสำหรับเครื่องบินขับไล่ยุคที่ห้าแบบ Inter/Intra-Flight Data Link (IFDL) ด้วยข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี (Voice & Data) กับ F-35 และเครื่องบินขับไล่ยุคที่สี่นั้นกองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ปรับปรุง ทำให้ F-22 มีความสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี (Voice และ Data) กับ F-35 และเครื่องบินขับไล่ยุคที่สี่ (F-15Cs และ F-16Cs) ได้ในปี 2013

ผลที่ได้จากการปรับปรุงฯ นั้นทำให้ F-22 มีบทบาทที่สำคัญในปฏิบัติการ Operation Inherent Resolve ในเดือนพฤศจิกายน 2017 และยังตอบสนองแนวคิดในเรื่องของความเร็วการใช้กำลังทางอากาศในอนาคต (USAF’s Air Superiority 2030)

usaf
An F-35A Lightning II with the F-35 Demonstration Team flies over Hill Air Force Base, Utah during a demonstration practice Jan. 10, 2020. The F-35 Demo Team is scheduled to perform at 22 airshows during the 2020 season and is now assigned to the 388th Fighter Wing under Air Combat Command. (U.S. Air Force photo by R. Nial Bradshaw)
Space (ในอวกาศ)

กองทัพอากาศสหรัฐฯ นั้น ตระหนักดีถึงความได้เปรียบในการครอบครองห้วงอวกาศ (Space Dominance) มาตั้งแต่ปี 1982 และในปี 2007 สิ่งต่างๆ ที่ ทอ.สหรัฐฯ เคยครอบครองในห้วงอวกาศนั้นได้เปลี่ยนไปอย่างถาวร

เมื่อจีนสามารถพัฒนาอาวุธที่ทำลายดาวเทียมได้ในห้วงอวกาศ (Anti–Satellite Weapon) และได้โชว์ความสำเร็จให้เห็นด้วยการยิงอาวุธขึ้นไปทำลายดาวเทียมตรวจอากาศของตัวเอง

ผลที่ตามมาจนถึงปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่ออุปกรณ์ทางทหารที่อยู่ในห้วงอวกาศของ ทอ.สหรัฐฯ (Space Asset) อาทิ ดาวเทียมทหาร รวมทั้งอันตรายจากการชนกันของดาวเทียมกับขยะอวกาศ (Space Debris) ที่มีจำนวนที่มากขึ้นได้ล่องลอยอยู่ในวงโคจร

ซึ่งแนวคิด ในเรื่องของความเร็วได้ถูกกำหนดไว้ สำหรับการดำเนินงานในอวกาศของ ทอ.สหรัฐฯ โดย พล.อ.อ. จอห์น ดับเบิลยู เจย์ เรย์มอนด์ อดีตหัวหน้าหน่วยบัญชาการยุทธทางอวกาศ ที่มองห้วงอวกาศเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการรบในยุคของข้อมูล และกล่าวในที่ประชุมฯ ว่า

“หน่วยบัญชาการยุทธทางอวกาศ จะต้องปรับปรุงความสามารถในการระบุและการประเมินภัยคุกคามบนห้วงอวกาศ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งการหยั่งรู้สถานการณ์จริงในห้วงอวกาศ (SSA: Space Situational Awareness) ผลที่ได้จะทำให้ ทอ.สหรัฐฯ มีวงรอบการตัดสินใจในการดำเนินงานบนห้วงอวกาศที่เร็วกว่าฝ่ายตรงข้าม”

ด้วยงบประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ กับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อการพัฒนา SSA จะทำให้ ทอ.สหรัฐฯ สามารถติดตามการกระทำของฝ่ายตรงกันข้าม และติดตามขยะอวกาศได้ดีขึ้น

ซึ่งความสำคัญของ SSA นั้นถือเป็นสิ่งหนึ่งที่หน่วยบัญชาการยุทธ ทางอวกาศให้ความสำคัญสูงสุด อ้างข้อมูลจาก U.S. Air Force Magazine ฉบับเดือน สิงหาคม 2017 บทความ A Closer Watch on Space เขียนโดย วิลสัน บริสเซ็ตต์

เห็นได้จากความจำเป็นในการเร่งกระบวนการจัดซื้อ สืบเนื่องจากความต้องการใน SSA ถือว่าเหมาะสม เนื่องจากในเวลาที่ผ่านมาความเชี่ยวชาญ ด้านอวกาศของ ทอ.สหรัฐฯ นั้นไม่ทันกับภัยคุกคามใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ดังนั้น SSA จะมาช่วยปรับปรุงวิธีใหม่ๆ ในการหาข่าวกรองบนห้วงอวกาศ ที่สำคัญรัสเซียและจีนได้ทำการทดสอบอาวุธต่อต้านดาวเทียม (Anti-Satellite Test) ที่ซับซ้อนได้ทำอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งรัสเซียและจีนได้พัฒนาขีปนาวุธที่สามารถเดินทาง ด้วยความเร็วเหนือเสียงถึง 5 เท่าได้ (Hypersonic Missiles)

ณ ปัจจุบันกองทัพอวกาศสหรัฐฯ กำลังพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กสู่วงโคจรที่อยู่สูงน้อยกว่า 22,000 ไมล์เหนือพื้นโลกเพื่อต้องการเสริมการป้องกัน ด้วยการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นสู่วงโคจรมากขึ้นที่สามารถสังเกตเห็นขีปนาวุธฯ ของศัตรูได้

ซึ่งในเรื่องของความเร็วมีความจำเป็นสำหรับการดำเนินงานในห้วงอวกาศที่ ทอ.สหรัฐฯ จะต้องสามารถระบุและติดตามการกระทำของฝ่ายตรงกันข้ามได้อย่างถูกต้อง ในมุมมองความสามารถของการป้องกันภัยคุกคาม จากรัสเซียและจีนนั้นขึ้นอยู่กับว่า กองทัพอวกาศสหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปใช้ความสามารถ ใหม่ได้เร็วเพียงใด

Cyber (บนโลกไซเบอร์)

แนวคิดในเรื่องของความเร็ว ได้ถูกกำหนดไว้ในการดำเนินงานบนโลกไซเบอร์ ของ ทอ.สหรัฐฯ ซึ่ง พล.อ.อ.เดวิด โกลด์ฟีน อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้ในการประชุมฯ ว่า

“ต้องการให้การดำเนินงานบนโลกไซเบอร์ มีการพัฒนาขีดความสามารถในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าในรูปแบบเดิมๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาปรับใช้”

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอ้าง ข้อมูลจาก U.S. Air Force Magazine เดือนธันวาคม 2017 บทความ Meet USAF’s Most Widely Spread Cyber Weapon System โดย กิเดียน กรูโด จะเห็นได้จากในการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บนโลกไซเบอร์ของ USAF

ด้วยความก้าวหน้าด้าน ML (การเรียนรู้ของเครื่อง) ถือเป็นสาขาหนึ่งของ AI มีบทบาท ที่สำคัญต่อระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีความสามารถที่จะติดตามและตอบสนองต่อปฏิกิริยาหรือกิจกรรมใดที่น่าสงสัยได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว แทนที่การทำงานของมนุษย์ (Labor-Intensive Activities)

อาทิ ระบบอัตโนมัติแจ้งเตือนการโจมตีทางไซเบอร์ (ACD) ในมุมมองอนาคตของ ทอ.สหรัฐฯ จะมุ่งเน้นไปที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อันเป็นความพยายามที่จะปรับปรุงความสามารถ ในการรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ ด้วยการประยุกต์ใช้ ML และ AI บนโลกไซเบอร์ ซึ่งช่วยสร้างขีดความสามารถพิเศษบนโลกไซเบอร์ และลดการใช้บุคลากรที่มีความชำนาญสูง

ขณะเดียวกัน ML และ AI ก็ช่วยเพิ่มความสามารถพิเศษให้ฝ่ายตรงกันข้ามได้เช่นกัน อาทิ ปัญญาประดิษฐ์เชิงกำเนิด (Generative AI) ที่ได้รับความนิยมอย่าง ChatGPT โดยโมเดลเชิงกำเนิดเหล่านี้สามารถใช้สำหรับการโจมตีเชิงรุก ทางไซเบอร์ มีผลกระทบต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์

ซึ่ง พล.อ.ท.โรเบิร์ต สกินเนอร์ ผู้อำนวยการระบบสารสนเทศกองทัพอากาศสหรัฐฯ (DISA: Defense Information Systems Agency) ได้เพิ่ม Generative AI ไว้ในรายการเทคโนโลยีที่ต้องเฝ้าดู (Tech Watch List) ในปีนี้ (2023)

ข้อคิดที่ฝากไว้

ในปัจจุบันกองทัพอากาศสหรัฐฯ เห็นด้วยว่า เทคโนโลยีดิจิทัลนั้นมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาหน่วยงานหรือองค์กรให้มีความสามารถในการแข่งขัน

ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนหน่วยงานหรือองค์กร ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูง (CIO: Chief Information Officer) ที่มองเห็นประโยชน์ซึ่งจะได้รับจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้….อันเป็นเส้นทางไปสู่การพัฒนาของกองทัพอากาศสหรัฐฯ (USAF)

อ่านบทความทั้งหมดของ ..สรรสิริ สิริสันตคุปต์

Featured Image: United States Air Force PHOTO BY Staff Sgt. Jeremy Bowcock