Monday, April 29, 2024
NEWS

สสว. เผยผลสำรวจ ภาคธุรกิจการเกษตร นำโด่ง นำเข้าสินค้ามากสุด

สสว. เผยผลสำรวจ ภาคธุรกิจการเกษตร นำโด่ง นำเข้าสินค้ามากสุด โดยนำเข้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นหลัก  

สว. เผยผลสำรวจการนำเข้าสินค้าของเอสเอ็มอีไทย พบว่า ภาคธุรกิจเกษตร นำเข้าสินค้ามากที่สุด ส่วนกลุ่มสินค้าที่ครองแชมป์นำเข้าสูงสุด ได้แก่ กลุ่มเคมีภัณฑ์ เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าศัตรูพืช น้ำยาทำความสะอาด และกลุ่มสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค แหล่งนำเข้าหลักมาจาก จีน ญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลีใต้ และ เวียดนาม ฯลฯ โดยนำเข้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นหลัก แต่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่ราคาขนส่งและความล่าช้าในการขนส่ง ผู้ประกอบการ SME จึงต้องการให้ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องสนับสนุนการพัฒนาสินค้าในประเทศให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อทดแทนการนำเข้า

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยผลสำรวจเรื่องการซื้อสินค้า/วัตถุดิบนำเข้าของผู้ประกอบการ SME โดยสอบถามผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 2,741 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19-29 มกราคม 2567 พบว่า การนำเข้าสินค้า/วัตถุดิบของเอสเอ็มอี เกือบร้อยละ 30  เป็นการนำมาเพื่อประกอบกิจการเป็นส่วนใหญ่

โดยเฉพาะในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางขนาดกลาง การนำเข้าสินค้า/วัตถุดิบคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21-40 ของต้นทุนสินค้าทั้งหมด เมื่อจำแนกตามภาคธุรกิจ พบว่า ภาคธุรกิจการเกษตรมีการนำเข้าสินค้า/วัตถุดิบมากถึงร้อยละ 67 แหล่งสินค้า/วัตถุดิบที่นำเข้า มาจากจีน ญี่ปุ่น อเมริกา เกาหลีใต้ และ เวียดนาม

หากพิจารณาตามสาขาธุรกิจที่มีการนำเข้าสินค้า/วัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบกิจการ พบว่า กลุ่มสาขาผลิตภัณฑ์จากพลาสติกมีการนำเข้ามากถึงร้อยละ 78.9 รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจการเกษตร การก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์จากยาง วัสดุก่อสร้าง เสื้อผ้าและสิ่งทอ การผลิตเครื่องหอม/เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ ตามลำดับ

หากพิจารณาตามกลุ่มสินค้าที่ SME นำเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าศัตรูพืช น้ำยาทำความสะอาด สารตั้งต้น หัวเชื้อ รองลงมา คือ กลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ผลิตภัณฑ์จากยาง ผลิตภัณฑ์จากโลหะ ผลไม้และเฟอร์นิเจอร์ ร้านอาหารหรือภัตตาคาร รวมถึงกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

นอกจากการนำเข้าสินค้า/วัตถุดิบเพื่อประกอบกิจการแล้ว เอสเอ็มอีบางส่วนได้มีการนำเข้าสินค้า/วัตถุดิบเพื่อการบริโภคเช่นกัน โดยจะสั่งซื้อผ่านคนกลางและผ่านช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม  สำหรับสินค้าที่ เอสเอ็มอีนำเข้ามาบริโภค ส่วนใหญ่เป็นของใช้ในบ้านทั่วไป รองลงมา คือ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและเครื่องสุขภัณฑ์ ขนมขบเคี้ยว เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความล่าช้า และค่าขนส่ง นับเป็นปัญหาสำคัญที่ SME กำลังเผชิญจากการนำเข้าสินค้า/วัตถุดิบ ส่วนในมุมมองของการบริโภคปัญหาจะอยู่ที่เรื่องของคุณภาพสินค้าไม่ตรงปก ดังนั้นเอสเอ็มอีจึงต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือในการควบคุมอัตราการเก็บค่าขนส่งสินค้า การมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพและการตีกลับสินค้า รวมถึงการส่งเสริมความรู้ในการนำเข้าส่งออกสินค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจได้สะท้อนถึงมุมมองการนำเข้าสินค้า/วัตถุดิบจากต่างประเทศของ SME พบว่า ร้อยละ 30 เป็นกลุ่มที่นำเข้าสินค้า/ วัตถุดิบมาใช้ประกอบธุรกิจและจะยังคงนำเข้าต่อไปเพราะความต้องการของลูกค้าและคุณภาพของสินค้าที่เหมาะสมกับราคา ขณะที่ SME ร้อยละ 70 ที่ไม่มีการนำเข้า มองว่าการนำเข้าสินค้าไม่จำเป็นต่อธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีการให้บริการที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย อย่างไรก็ตาม SME รายย่อยมีสัดส่วนได้รับผลกระทบจากการนำเข้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากที่สุด โดยเฉพาะภาคการค้า

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังกล่าวถึงความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ กรณีที่ธุรกิจ SME มีการนำเข้าสินค้า/วัตถุดิบโดยตรง พบว่า ร้อยละ 62.1 ของกลุ่มนี้ประเมินว่าธุรกิจของตนยังสามารถแข่งขันได้เพราะมีความได้เปรียบด้านประสบการณ์และการเข้าถึงลูกค้า ในทางกลับกัน เอสเอ็มอีบางสาขาธุรกิจ มีความกังวลถึงความสามารถในการแข่งขัน เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมลองสินค้าใหม่ จากตัวเลือกที่มีเพิ่มมากขึ้น การขาดความรู้ในการสร้างกลยุทธ์เพื่อการแข่งขัน ซึ่งสาขาธุรกิจที่พบปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ สาขาค้าส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค สาขาบริการซ่อมบำรุง สาขาค้าปลีกอุปโภค/บริโภค (modern trade)

ดังนั้น การผลักดันการพัฒนาสินค้าในประเทศให้มีมาตรฐานรองรับ นโยบายสนับสนุนการซื้อสินค้าในประเทศ รวมถึงการประชาสัมพันธ์/โปรโมทสินค้าและวัตถุดิบของไทย เป็นแนวทางสำคัญที่ SME มองว่าจะช่วยให้ผู้ผลิตหันมาใช้สินค้า/วัตถุดิบในประเทศ ทดแทนการนำเข้าได้

ทั้งนี้ SME สามารถค้นหาบริการหรือความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนหรือสถาบันการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการในการประกอบธุรกิจของท่านได้ที่ https://www.smeone.info/ หรือสอบถามข้อมูลผ่านศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร โทร. 1301