Friday, April 26, 2024
AICloudNEWS

ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศเป้าหมายและทิศทางการดำเนินธุรกิจ ปี 2565 เน้นสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน

ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศเป้าหมายขับเคลื่อนธุรกิจ การสนับสนุนรัฐ-เอกชน-การศึกษา ด้วยวิสัยทัศน์ The New Era of Sustainable Business Underpinned by AI & Hybrid Cloud

วัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย และ Managing Partner กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม คอนซัลติง ร่วมด้วย สุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี เปิดแถลงข่าวเรื่อง การประกาศเป้าหมายการดำเนินธุรกิจประจำปี 2565 โดยเป็นการกำหนด ทิศทางการดำเนินธุรกิจของไอบีเอ็ม ประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของเทคโนโลยีเอไอและไฮบริดคลาวด์

โดยเป้าหมายของไอบีเอ็ม ประเทศไทย จะเน้นไปใน 3 มิติหลักๆ ที่ประกอบด้วย

1. การสร้างความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรอย่างยั่งยืน (Sustainable Partnership)
สวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย

ประการแรก คือ การสร้างความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรอย่างยั่งยืน (Sustainable Partnership) ที่มุ่งมั่นถึงความสำเร็จของลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจเป็นเป้าหมายสำคัญ ตลอดระยะเวลาการดำเนินการ 70 ปีในประเทศไทย ไอบีเอ็ม ได้สร้างความร่วมมือและการนำเทคโนโลยีเข้าสนับสนุนระบบและโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา อาทิ

ระบบคอร์แบงค์กิ้งของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank ช่วยให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามและตรวจจับการฉ้อโกงต่างๆ ได้เร็วและถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น สามารถมอนิเตอร์การชำระเงินหลายพันรายการต่อวินาทีและป้องกันการทุจริตในการชำระเงินได้ในทุกช่องทาง

การร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม Open API ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เชื่อมต่อคู่ค้าในอีโคซิสเต็มของธนาคารเข้ากับบริการดิจิทัลต่างๆ อาทิ การเติมเงินวอลเล็ต โอนเงิน ชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ รีวอร์ด สินเชื่อ ฯลฯ โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ พร้อมยกระดับประสบการณ์ลูกค้า

ทั้งนี้ เป้าหมายต่อจากนี้ไปคือ การเข้าไปมีร่วมช่วยลูกค้าและพันธมิตรวางโร้ดแม็ปเทคโนโลยีและธุรกิจ เพื่อพัฒนาระบบและเทคโนโลยีที่จะรองรับการเติบโตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในยุคของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบไอที และการเปลี่ยนผ่านสู่โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่การสร้างแพลตฟอร์มการให้บริการลูกค้าจะทวีความสำคัญ

IBM Sustainable Business

2. การนำเทคโนโลยีเข้าช่วยสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน (Technology for Sustainable Business)

ประการต่อมาคือ การนำเทคโนโลยีเข้าช่วยสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน (Technology for Sustainable Business) โดย สวัสดิ์ อธิบายว่า “หนึ่งในกุญแจสำคัญด้านเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล คือ เทคโนโลยีไฮบริดคลาวด์ และเอไอ”

“เทคโนโลยีไฮบริดคลาวด์ของไอบีเอ็ม จะช่วยให้องค์กรสามารถเชื่อมโยงระบบและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่อยู่ภายในองค์กร (on-premise) บนพับลิคคลาวด์ และไพรเวทคลาวด์ได้อย่างไร้รอยต่อ หรือ Develop Once and Deploy Anywhere เพื่อให้สามารถเดินหน้าพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนแอปพลิเคชันและระบบต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว รองรับพลวัตรโลกดิจิทัลและความต้องการของลูกค้าภายใต้บริบทของความเปลี่ยนแปลง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”

สุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย

“นอกจากนี้ไอบีเอ็มยังมองว่าจุดต่างที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แต่ละองค์กรได้ คือความสามารถในการไขรหัสมุมมองเชิงลึกที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลมหาศาล และในปีนี้ ไอบีเอ็มจะมุ่งเน้นที่การนำเทคโนโลยีเอไอสำหรับธุรกิจ (AI for Business) ตั้งแต่อนาไลติกส์ ออโตเมชัน AIOps เทคโนโลยีการคาดการณ์และแจ้งเตือนการซ่อมบำรุงระบบ เป็นต้น”

“พร้อมด้วยเทคโนโลยีซิเคียวริตี้จาก IBM Security เข้าสนับสนุนการดำเนินงาน การเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นทุน การวางแผนคาดการณ์ ฯลฯ ขององค์กรไทยในทุกอุตสาหกรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้องค์กรก้าวข้ามความท้าทายในการใช้และเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีต่างๆ ภายใต้ปัจจัยผันผวนรอบด้านที่กระทบต่อธุรกิจ”

นอกจากนี้ ไอบีเอ็ม นำโดยศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม (IBM Research) ยังจะมุ่งมั่นเดินหน้าต่อเนื่องในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยตัวอย่างเทคโนโลยีล่าสุดที่ได้พัฒนาขึ้น อาทิ

ชิปขนาด 2 นาโนเมตร (nm) ตัวแรกของโลก ภายใต้ประสิทธิภาพที่คาดว่าจะสูงขึ้น 45% และใช้พลังงานน้อยลง 75% เมื่อเทียบกับชิปขนาด 7 นาโนเมตรในปัจจุบัน โดยจะนำสู่คุณประโยชน์หลักๆ อาทิ การช่วยเพิ่มอายุแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือสี่เท่า การลดปริมาณคาร์บอนฟุตปรินท์ลงอย่างก้าวกระโดด เป็นต้น

โร้ดแม็ปการพัฒนาควอนตัมคอมพิวติ้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาท้าทาย ซึ่งรวมถึงความซับซ้อนของปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันไม่มีพลังประมวลผลมากพอที่จะทำการคำนวณผลลัพธ์ได้

โดยในปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มประสบความสำเร็จในการพัฒนาควอนตัมคอมพิวติ้งขนาด 127 คิวบิตเป็นครั้งแรกของโลก และปัจจุบันกำลังเดินหน้าสู่การพัฒนาควอนตัมคอมพิวติ้งขนาด 1,000 คิวบิต โดยตั้งเป้าหมายไว้ภายในปี 2566 นี้

การสร้างระบบเอไอที่เชื่อถือได้ โดยไอบีเอ็มได้กำหนด Principles for Trust and Transparency สำหรับการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ ประกอบด้วย

1) วัตถุประสงค์ของการใช้เอไอคือ การต่อยอดความสามารถในการเรียนรู้และการใช้ทักษะความรู้ของมนุษย์

2) ข้อมูลและมุมมองเชิงลึกที่ได้รับการวิเคราะห์จากข้อมูลนั้นๆ ต้องเป็นของผู้สร้างข้อมูลนั้นๆ และ

3) เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเอไอต้องโปร่งใส อธิบายที่มาของการตัดสินใจของระบบได้ และต้องมีการบรรเทาผลเสียอันอาจเกิดขึ้นจากอคติที่รุนแรงและไม่เหมาะสม

ที่ผ่านมา นักวิจัยไอบีเอ็มได้พัฒนาแนวทางและเครื่องมือในการต่อกรกับปัญหาความน่าเชื่อถือของเอไอ ตัวอย่างเช่น AI Factsheets ที่จะทำหน้าที่เหมือนฉลากโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์อาหาร หรือ AI Explainability 360 และ AI Fairness 360 ที่จะช่วยตรวจสอบว่าโมเดลเอไอดำเนินการตัดสินใจภายใต้หลักจริยธรรม โดยปราศจากการแทรกแซงจากมนุษย์หรือไม่ เป็นต้น

IBM Sustainable Business

3. การพัฒนาคนเพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจและประเทศอย่างยั่งยืน (Talent for Sustainable Growth)

ประการที่สาม คือ การพัฒนาคนเพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจและประเทศอย่างยั่งยืน (Talent for Sustainable Growth) โดย สวัสดิ์ กล่าวว่า “ปีนี้ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ยังจะวางแผนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเร่งสร้างและผลิตทรัพยากรบุคคลด้านไอทีและดิจิทัล เพื่อรองรับการเติบโตก้าวกระโดดของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในประเทศไทย”

“นอกจากนี้ ยังจะมีการช่วยสนับสนุนการสร้างทักษะที่จำเป็นแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ผ่านสองแนวทางหลัก คือ 1) การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายใต้โครงการ Academic Initiative โดยการมอบหลักสูตรการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี อาทิ AI, Machine Learning, การใช้งานระบบเมนเฟรม เป็นต้น ให้แก่มหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมการ Train the Trainer และการส่งผู้เชี่ยวชาญของไอบีเอ็มเป็นวิทยากรให้ความรู้ในโอกาสต่างๆ”

“และ 2) การเดินหน้าโครงการ P-TECH อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเชิงบูรณาการ ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ ภายใต้หลักสูตร 5 ปี

โดยที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือระหว่างไอบีเอ็ม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และพันธมิตรภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด” สวัสดิ์ สรุป