Thursday, April 25, 2024
ESGNEWS

Esri คว้ารางวัล ผู้นำการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านสภาพอากาศปี 65

Esri

Esri คว้ารางวัลผู้นำการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านสภาพอากาศปี 65 จาก Forrester ย้ำเทคโนโลยี GIS เครื่องมือสำคัญแก้ปัญหาภัยธรรมชาติอย่างยั่งยืน

Esri ผู้ให้บริการ Location Intelligence การวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศในมุมมองใหม่ ได้รับรางวัล The Forrester New Wave: Climate Risk Analytics, 2022 จากบริษัทวิจัย Forrester จากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS ในการช่วยแก้ปัญหาด้านความเสี่ยงของสภาพอากาศ

ตอกย้ำประสิทธิภาพเทคโนโลยี GIS ด้านการนำข้อมูลต่างๆ มาใช้วิเคราะห์ ประมวลผลขั้นสูง และนำเสนอข้อมูลปัญหาที่เกี่ยวกับภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกที่มีผลกระทบโดยตรงกับความยั่งยืนในภาพรวมของทุกภาคส่วน

ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด

ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “บริษัท อีเอสอาร์ไอ ได้รับการประกาศจาก Forrester บริษัทด้านการวิจัยและวิเคราะห์เทคโนโลยี IT ชั้นแนวหน้าในสหรัฐอเมริกา ให้บริษัทฯ เป็นผู้นำด้านการทำรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ ประจำปี 2565 จากรายงาน The Forrester New Wave: Climate Risk Analytics, 2022”

“ในรายงานของ Forrester กล่าวถึงจุดเด่นของแพลตฟอร์ม Esri ว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีความสามารถในการนำเสนอข้อมูล และการประมวลผลขั้นสูง อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ให้บริการข้อมูลสภาพอากาศ (NASA, NCAR, NOAA ฯลฯ) และการดำเนินงานในภาคธุรกิจ”

เทคโนโลยี GIS เป็นเครื่องช่วยแก้ปัญหาในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และการเกิดภัยพิบัติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั่วโลก หนึ่งในปัญหาของการแก้ปัญหาภัยพิบัติ คือการเข้าไปช่วยเหลือไม่ทันเวลา หรือไม่มีข้อมูลในการเข้าถึงและแก้ปัญหาได้เร็ว

เทคโนโลยี GIS สามารถนำมาช่วยทำให้เห็นภาพรวมทั้งหมด มอนิเตอร์เหตุการณ์ และวางแผนรับมือแก้ปัญหา รวมถึงบริหารจัดการด้านภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและรัดกุมมากขึ้น ซึ่งการมองเห็นด้วยภาพหรือ Location ช่วยทำให้วิเคราะห์สถานการณ์ได้ดีกว่าการเห็นแค่ตัวเลข หรือตัวหนังสือทั่วๆ ไป

“หนึ่งในจุดเด่นของการทำงานของเทคโนโลยี GIS ที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาด้านภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ คือความสามารถในการรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและนำมาวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง สามารถสร้างแบบจำลองการวิเคราะห์ข้อมูล”

“ด้วยการนำเทคโนโลยีด้าน Deep Learning และ Machine Learning รวมทั้ง AI เข้ามาทำงานร่วมกัน ทำให้วิเคราะห์ข้อมูลได้สะดวกรวดเร็วและแม่นยำ สามารถนำข้อมูลมาเปรียบเทียบระหว่างปัจจุบันและอดีต เพื่อคาดการณ์แนวโน้ม วางแผนป้องกัน และหาโซลูชันแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน” ธนพร อธิบาย

“นอกจากนี้ เทคโนโลยี GIS มีเครื่องมือที่พร้อมใช้งาน สะดวกต่อการพัฒนาต่อยอด สามารถมอนิเตอร์ติดตามสถานการณ์จริงแบบเรียลไทม์ เพื่อหาแนวทางเข้าควบคุม แก้ไข หรือวางแผนตอบสนองในพื้นที่ที่ต้องการแก้ไขได้อย่างทันทีผ่านเว็บแอปพลิเคชันที่สามารถสร้างได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม หรือ โค้ดดิ้ง”

“พร้อมการนำเสนอข้อมูลด้วยรูปแบบที่เข้าใจง่าย ไม่ว่าจะเป็น Dashboard หรือแผนที่ 3 มิติ ที่แสดงผลได้ทั้งบน Mobile และ Desktop ทำให้ประชาชนหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อวางแผนหรือเตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา รวมถึงสามารถแบ่งปันข้อมูลร่วมกันในรูปแบบ Open Data ที่เป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ”

Esri

ประเทศไทยใช้ GIS พยากรณ์ภัยพิบัติ

ธนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในส่วนของในประเทศไทยได้มีการนำเทคโนโลยี GIS มาใช้ในการพยากรณ์ด้านภัยพิบัติ โดย Esri ได้ขยายความร่วมมือกับ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ด้วยการนำเทคโนโลยี GIS ไปใช้งานด้านภัยพิบัติและด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การนำเสนอฮับสภาพแวดล้อมเพื่อพยากรณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดกับ กรุงเทพฯ ในช่วง 100 ปีข้างหน้า”

“นอกจากนี้ เทคโนโลยี GIS สามารถนำไปใช้ในการพยากรณ์ด้านภัยพิบัติอื่นๆ อาทิ มลพิษทางอากาศ รวมทั้ง ติดตามเหตุการณ์สึนามิ ไฟป่า แผ่นดินไหว ภัยแล้ง พายุ น้ำท่วม จำนวนยอดผู้ป่วยจากโรคระบาดทั่วโลก COVID-19 ฯลฯ”

“โดยภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน สามารถนำข้อมูลจากแอปพลิเคชันไปช่วยยกระดับการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมคาดการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตนเอง ชุมชนเมือง และประเทศ ได้แม่นยำกว่า”

“ในฐานะผู้ให้บริการด้าน Location Intelligence อันดับหนึ่ง Esri มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ ที่ล้วนมีผลกระทบต่อความยั่งยืนในอนาคต โดยการใช้เทคโนโลยี GIS ที่อัปเดต เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

“ช่วยแสดงรูปแบบ ความสัมพันธ์ของข้อมูลให้เห็นมุมมองที่แตกต่าง เชื่อมโยงและสร้างความเข้าใจแบบองค์รวมอย่างครอบคลุม เพื่อจัดการกับความท้าทายที่ต่างกำลังเผชิญอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ สู่การวางแผนดำเนินการแก้ปัญหาให้ตรงจุดและยั่งยืนด้วยข้อมูลที่รวบรวมไว้ในแพลตฟอร์ม เพื่ออนาคตที่ดีกว่า” ธนพร กล่าวทิ้งท้าย