Sunday, December 15, 2024
NEWSSustainability

ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ตัวช่วยรองรับเทรนด์ธุรกิจโลกอนาคต

อรมน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม มีโอกาสเติบโต ตลาดมีความต้องการสูง การค้าโลกมุ่งสู่ความยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (ECOXPERT) โตรับเทรนด์ธุรกิจโลกอนาคต ในไทยจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 ปี รายได้รวมแตะ 9 พันล้านบาท ผลกำไรรวมมากกว่า 500 ล้านบาท การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้ ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เข้ามามีบทบาทในทุกธุรกิจ เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยควรรีบคว้าไว้ เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง การค้าโลกมุ่งสู่ความยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีผลต่อการเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความเป็นอยู่ของผู้คน เป็นต้น” 

“ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หลายประเทศรวมทั้งไทยเตรียมหรือมีการออกกฎระเบียบ/มาตรการใหม่ๆ ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

“ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจมากขึ้น และมีโอกาสเติบโตตามกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการเตรียมความพร้อมรองรับกฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้ความต้องการที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น”

เฉลี่ยเปิดธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม 49 รายต่อปี

อธิบดี อรมน กล่าวต่อว่า ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทั้งด้านการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลและผลประกอบการแต่ละปี โดยการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) มีจำนวนเฉลี่ย 49 ราย / ปี 

แบ่งเป็น ปี 2562 จัดตั้ง 44 ราย ทุน 84.61 ล้านบาท ปี 2563 จัดตั้ง 40 ราย (ลดลง 4 ราย หรือ 9.09%) ทุน 47.75 ล้านบาท (ลดลง 36.86 ล้านบาท หรือ 43.57%) ปี 2564 จัดตั้ง 41 ราย (เพิ่มขึ้น 1 ราย หรือ 2.50%) ทุน 81 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 33.25 ล้านบาท หรือ 69.64%)

 ปี 2565 จัดตั้ง 44 ราย (เพิ่มขึ้น 3 ราย หรือ 7.32%) ทุน 57.26 ล้านบาท (ลดลง 23.74 ล้านบาท หรือ 29.31%) ปี 2566 จัดตั้ง 76 ราย (เพิ่มขึ้น 32 ราย หรือ 72.73%) ทุน 303.39 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 246.13 ล้านบาท หรือ 429.85%) ปี 2567 มกราคม – ตุลาคม จัดตั้ง 78 ราย ทุน 159.46 ล้านบาท 

แนวโน้มทำกำไรมากขึ้นทุกปี

รายได้รวมของธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม 3 ปีย้อนหลัง (2564 – 2566) พบว่า ปี 2564 รายได้รวม 7,152.69 ล้านบาท ปี 2565 รายได้รวม 7,227.91 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 75.22 ล้านบาท หรือ 1.06%) ปี 2566 รายได้รวม 8,941.95 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,714.04 ล้านบาท หรือ 23.72%) 

ขณะที่ผลประกอบการด้านกำไรขาดทุนรวมของธุรกิจ ปี 2564 กำไร 146.65 ล้านบาท ปี 2565 กำไร 375.99 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 229.34 ล้านบาท หรือ 156.39%) ปี 2566 กำไร 534.26 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 158.27 ล้านบาท หรือ 42.10%)

มูลค่าการลงทุนของต่างชาติที่ลงทุนในธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในนิติบุคคลไทย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 แบ่งเป็น มูลค่าการลงทุนโดยคนไทย 4,352.83 ล้านบาท (77.23%) และมูลค่าการลงทุนโดยชาวต่างชาติ 1,283.05 ล้านบาท (22.77%)

โดยต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 717.54 ล้านบาท (55.92%) 2) จีน 245.74 ล้านบาท (19.15%) และ 3) สหรัฐอเมริกา 76.89 บาท (5.99%) ทั้ง 3 สัญชาติส่วนใหญ่เน้นลงทุนในธุรกิจวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต และปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต 

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567) มีนิติบุคคลที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินกิจการอยู่ 728 ราย ทุนรวม 5,635.88 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) จำนวน 696 ราย (95.60%) ขนาดกลาง (M) 25 ราย (3.43%) และ ขนาดใหญ่ (L) 7 ราย (0.96%) ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด 698 ราย (95.88%) ทุน 5,605.43 ล้านบาท (99.46%) และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 30 ราย (4.12%) ทุน 30.45 ล้านบาท (0.54%) 

นิติบุคคลส่วนใหญ่ตั้งอยู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร 359 ราย (49.31%) (3 อันดับแรกตั้งอยู่ เขตจตุจักร เขตบางรัก และเขตบึงกุ่ม) รองลงมา ภาคกลาง 174 ราย (23.90%) (3 อันดับแรกตั้งอยู่ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และ จ.สมุทรปราการ) ภาคตะวันออก 70 ราย (9.62%) (3 อันดับแรกตั้งอยู่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.นครนายก) ภาคเหนือ 40 ราย (5.50%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 39 ราย (5.36%) ภาคใต้ 38 ราย (5.22%) และ ภาคตะวันตก 8 ราย (1.09%)

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจและองค์กรสามารถดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงความยั่งยืนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ เช่น 

1) การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมายจะช่วยให้ธุรกิจปฏิบัติตามข้อกำหนดได้อย่างถูกต้องและทันเวลา ลดความเสี่ยงต่อการเสียค่าปรับ หรือการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายได้ 

2) การประเมินและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยวิเคราะห์และประเมินผลกระทบของการดำเนินงานขององค์กรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้น้ำ และการจัดการของเสีย เพื่อหาวิธีลดผลกระทบให้มากที่สุด ซึ่งเป็นการเพิ่มความยั่งยืนและลดการสร้างมลภาวะในกระบวนการผลิต 

3) การสนับสนุนและพัฒนาโครงการเพื่อความยั่งยืน ช่วยให้องค์กรพัฒนาโครงการเพื่อความยั่งยืน เช่น การใช้พลังงานทดแทน การจัดการของเสีย หรือโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่องค์กร 

4) การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตและการลดคาร์บอน มีบทบาทในการช่วยองค์กรจัดการและซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมถึงการวางกลยุทธ์การลดคาร์บอนที่เหมาะสม การใช้คาร์บอนเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความเสี่ยง และค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต 

5) การบริหารความเสี่ยงจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม การที่ธุรกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนทรัพยากร หรือการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษาสามารถให้คำแนะนำในการวางแผนรับมือและปรับกลยุทธ์เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น 

6) การสร้างภาพลักษณ์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดและมีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคและคู่ค้าหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดังนั้น ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจึงจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายในและระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถวางกลยุทธ์ได้อย่างถูกต้อง ความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการผลิตและการพัฒนาสินค้า/บริการ วัตถุดิบทดแทน และห่วงโซ่อุปทานที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ 

และความเชี่ยวชาญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและผลกระทบภายหลังกระบวนการผลิต เช่น การบำบัดของเสีย การประเมินผลกระทบสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปและความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงต้องสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศให้สามารถพัฒนาศักยภาพการแข่งขันสู่ระดับโลก