Tuesday, September 17, 2024
ArticlesColumnistDr.Peeradej Nanan

The Digital Futurist (ตอนที่ 580) AI-Powered Healthcare

ขอยกตัวอย่าง บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ทางด้าน Healthcare ในหลายๆ มิติของการนำมาเป็นเครื่องมือดิจิทัลเสริมการทำงานด้านการแพทย์ เสริมในการค้นพบยาชนิดใหม่ในระดับโมเลกุล ช่วยลดระยะเวลาการพัฒนายาใหม่ เป็นกรณีศึกษา

ในวิกฤติ COVID-19 นี้ได้ทำลายหลายธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถปรับตัว อย่างไรก็ตามได้กระตุ้นให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) อย่างแพร่หลาย ธุรกิจต่างมองหานวัตกรรมเพื่อรองรับการทำงานการเรียนจากที่ไหนก็ได้

ยอดการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพเข้าถึงได้ง่ายเพิ่มความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการ รวมถึงการพัฒนายาใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยี AI มาเสริมเพิ่มประสิทธิภาพ

ผู้เขียน: ดร.พีรเดช ณ น่าน ที่ปรึกษา คณะกรรมการวิศวกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

การพัฒนายาเป็นหนึ่งธุรกิจที่มีความซับซ้อน นักวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการเรียนมามากกว่าสิบปีในสถาบันการศึกษา ต้องพยายามหาโมเลกุลที่จะมีผลต่อการรักษา สารประกอบต้องได้รับการทดสอบการไม่เป็นพิษต่อเซลล์ และความน่าจะเป็นที่จะมีผลต่อการรักษาโรค มีการทดสอบทางยากับสัตว์ทดลอง

จากยานับพันอาจจะเหลือเพียงหนึ่งที่เข้าสู่กระบวนการทดสอบในมนุษย์ จะเห็นได้ว่าจากเริ่มต้นพัฒนายาจนได้ยาพร้อมใช้ในการรักษาต้องผ่านเวลานับสิบปี มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และมีโอกาสล้มเหลวระหว่างการพัฒนาได้ตลอดเวลา

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามามีส่วนเสริมเพิ่มประสิทธิภาพด้านสุขภาพโดยในปี ค.ศ.2020 มีการลงทุน AI ด้านนี้มากถึง 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยในการคาดการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำขึ้น และช่วยร่นระยะเวลาในการพัฒนาลง

บทความนี้ เรามาศึกษาบริษัท AI ด้าน Healthcare ที่ถูกเลือกโดย Forbes  มาเป็นกรณีศึกษากัน

บริษัท AI ด้าน HEALTHCARE

Atomwise หนึ่งผู้นำที่ประยุกต์ AI มาช่วยพัฒนายาในระดับโมเลกุล นับเป็นการปฏิวัติการค้นพบยาในยุคดิจิทัลด้วยปัญญาประดิษฐ์ ด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) สำหรับการพัฒนายาโดยใช้ความรู้จากโครงสร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ว่าโมเลกุลจะเข้าจับกับโปรตีนอย่างไร

ด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) นี้ทำให้สามารถจำลองการทำงานร่วมของโมเลกุลนับล้าน ช่วยลดระยะเวลาในการเข้าสู่กระบวนการต่อไป มีการทำงานกับพันธมิตรทางการศึกษา บริษัทผู้ผลิตยา โดยได้ช่วยพัฒนายาสำหรับ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) และ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola) โดยเข้าสู่การวิจัยในสัตว์ทดลองแล้ว

Genesis Therapeutics อีกหนึ่งบริษัทพัฒนายาใหม่ด้วยการประยุกต์ใช้ AI ที่ช่วยศึกษาคุณสมบัติทางเคมีของโมเลกุลใหม่ พยากรณ์ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยา การค้นพบยาเพื่อการรักษาเปรียบเสมือนการงมเข็มในมหาสมุทร ด้วยการวิจัยค้นหายาแบบเดิมต้องใช้เวลานาน การนำ AI มาปรับปรุงกระบวนการจึงมีความสำคัญอย่างมาก

Intelligencia ก่อตั้งจากผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการปรึกษาทางสุขภาพ บริษัทนี้ได้นำ AI เข้าไปทำงานร่วมกับบริษัทเภสัชกรรม เพื่อลดความเสี่ยงจากความล้มเหลวในการพัฒนายาและการทดลองทางคลินิก นำ AI มาคาดการณ์ความน่าจะเป็นว่าการทดลองทางคลินิกจะประสบความสำเร็จเพียงใด และให้ข้อมูลว่าจะพัฒนาการทดลองเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างไร

Komodo Health ด้วยข้อมูลคนไข้มากถึง 325 ล้านราย การประยุกต์ใช้ AI ทำให้เข้าใจความเชื่อมโยง เกิดข้อมูลเชิงลึกช่วยการพยากรณ์ตลาดของยา ระบุผู้ที่ควรเข้าร่วมการทดลองทางคลินิก ติดตามประสิทธิภาพการรักษาหลังการใช้ยา

Ezra การตรวจพบมะเร็งได้เร็วขึ้นเท่าใด ก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษาได้มากขึ้นเท่านั้น การใช้ AI และระบบอัตโนมัติ เข้ามาช่วยศึกษาการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) ทำให้แพทย์ พบรอยโรคได้เร็วขึ้นลดเวลาของบุคลากรทางการแพทย์ช่วยระบุขนาดและขอบเขตของรอยโรคได้ เทคโนโลยีนี้ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐแล้ว

Nines ช่วยให้แพทย์และรังสีแพทย์ วินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น เครื่องมือ AI สามารถช่วยวิเคราะห์ ตุ่มเล็กในปอด ว่าเป็นโรคทางระบบการหายใจหรือไม่ ช่วยลดเวลาที่รังสีแพทย์ต้องใช้ในการวินิจฉัย

Verge Genomics ประมวลข้อมูลจีโนมมนุษย์ (Human genome) กับ AI เพื่อการค้นหายาใหม่สำหรับกลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท เนื่องจากยาหลายชนิดได้ผลดีในการทดลองในสัตว์ แต่ไม่สามารถนำมาใช้ในคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเกิดแนวคิดนำจีโนมมนุษย์ (Human Genome) มาช่วยพัฒนาตั้งแต่ต้น

Viz.ai ค้นหาทางที่ช่วยลดเหยื่อจากโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่ได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซอฟต์แวร์ช่วยวิเคราะห์การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT) แจ้งเตือนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนอาการรุนแรงจะเกิดขึ้น โดยระบบนี้ได้ถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว

Whisper ช่วยคนไข้ที่มีปัญหาการได้ยินสามารถสนทนาได้ บริษัทได้สร้างอุปกรณ์ไร้สายที่มี AI ช่วยแยกเสียงพูดจากเสียงรบกวน ระบบใช้ข้อมูลจากคนไข้เองเพื่อปรับปรุงโมเดลและส่งซอฟต์แวร์กลับมาปรับปรุงที่เครื่องได้

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นเครื่องมือดิจิทัลเสริมการทำงานด้านการแพทย์ เสริมในการค้นพบยาชนิดใหม่ในระดับโมเลกุล ช่วยลดระยะเวลาการพัฒนายาใหม่ AI เข้ามาเป็นตาที่สามช่วยวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่รวดเร็วและแม่นยำขึ้น AI ช่วยผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินกลับมาได้ยินเสียงได้ดีกว่าเดิม

References
Forbes, “AI 50 Companies to Watch,” April 2021.
Harvard, “AI and the Future of Health,” April 2021.