Friday, March 29, 2024
NEWS

ดีอีเอส วอนอย่าหลงเชื่อข่าวทำแบบสอบถามแลกเงินหมื่น

กระทรวงดิจิทัลฯ วอนประชาชนหยุดหลงเชื่อเฟคนิวส์ตอบแบบสอบถามแลกเงินหมื่น ส่องสถานการณ์ข่าวปลอมรอบสัปดาห์ล่าสุด พบติด 2 อันดับในท็อป 10 ข่าวปลอมที่คนสนใจมากสุด

นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส)

พวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 12-18 ส.ค. 65 จากการประสานงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข่าวที่ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 67 เรื่อง ในจำนวนนี้พบว่าข่าวปลอมที่ติดกระแสความสนใจของคนส่วนใหญ่ เกาะกลุ่มอยู่ที่เรื่องการเงินถึง 9 เรื่อง จากการจัดอันดับข่าวคนสนใจมากสุด

สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับ ในรอบสัปดาห์ล่าสุดนี้ ได้แก่ อันดับ 1 เรื่อง PTT Company Limited เชิญชวนให้ตอบแบบสอบถามเพื่อได้รับเงินจำนวน 10,000 บาท อันดับ 2 เพจปล่อยเงินกู้ธนาคารกรุงไทย อันดับ 3 ธ.กรุงไทย ธ.ออมสิน พร้อมอีก 6 ธนาคารไทย ร่วมมือปล่อยสินเชื่อ Piggybank ให้กู้ 10,000 บาท ผ่อน 660 บาท/เดือน อันดับ 4 ไปรษณีย์ไทยเชิญชวนตอบแบบสอบถามเพื่อได้รับเงินจำนวน 10,000 บาท อันดับ 5 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดลงทุนเทรนหุ้น เริ่มต้น 1,000 บาท ได้รับผลตอบแทนสูง 18,000 บาท/เดือน

อันดับ 6 ธ. กรุงไทย ธ. ออมสิน ปล่อยสินเชื่อเพื่อคุณ สูงสุด 500,000 บาท ผ่าน WWW .สินเชื่อเพื่อคุณ. NET และไลน์ อันดับ 7 แอปพลิเคชันเป๋าตัง ให้ยืม 45,000 บาท ติดต่อผ่านไลน์ อันดับ 8 เพจบน Facebook และ Line เชิญชวนเปิดพอร์ตลงทุน รับปันผลสูง เกี่ยวข้องกับ ก.ล.ต. อันดับ 9 ข้าวสุกที่แช่ตู้เย็นส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าข้าวหุงสุกใหม่ และอันดับ 10 ออมสินเปิดให้กู้สินเชื่อไทรทองอเนกประสงค์  ผ่านไลน์ วงเงิน 5,000 – 300,000 บาท ได้ทุกอาชีพ

“น่าเป็นห่วงที่ยังมีคนสนใจ และหลายคนหลงเชื่อข่าวปลอมที่เกี่ยวกับการแจกเงิน กู้ง่าย หลอกลงทุน ส่งผลให้สัปดาห์ล่าสุด ข่าวประเด็นเหล่านี้เกาะกลุ่มอยู่ในท็อป 10 ข่าวที่มีคนสนใจมากสุดถึง 9 ข่าว ขณะที่ข่าวสุขภาพ ซึ่งเคยมาแรงกลับติดอันดับมาแค่ 1 ข่าว จึงอยากฝากประชาชนผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียล ตระหนักว่าอะไรที่ดูดีเกินจริง หรือให้เงินง่ายๆ ย่อมไม่มีอยู่จริง อย่าหลงเชื่อหรือส่งต่อ และสามารถแจ้งเบาะแสข่าวปลอมเหล่านี้มาที่ช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพื่อประสานงานตรวจสอบนำข้อเท็จจริงมาเผยแพร่ต่อไป”นพวรรณกล่าว

ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจากประชาชนช่วยกันแก้ไขปัญหาข่าวปลอม เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

ไลน์ @antifakenewscenter  เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/

ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87

Leave a Response