“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส แนะประชาชนรู้ทันภั
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปัจจุบันการฉ้อโกง หลอกลวง และการกระทำผิดกฎหมายออนไลน์ ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก
โดยมิจฉาชีพเข้าถึงเหยื่อได้มากขึ้น จากการที่โครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตเข้าถึงครอบคลุมทุกหมู่บ้านทุกชุมชน และประชาชนมีการใช้มือถือสมาร์ทโฟนแตะหลัก 100 ล้านเครื่อง เข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่าร้อยละ 70 ทำให้มิจฉาชีพใช้ช่องทางนี้หลอกลวงต้มตุ๋นข่มขู่ด้วยกระบวนการต่างๆ มากมาย
ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งกระทรวงดิจิทัลฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดแก้ไขปัญหา โดยในส่วนของกระทรวงฯ ได้นำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 64 โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีการทำธุรกิจออนไลน์มีการซื้อขาย มีการโอนเงิน ต้องมาจดแจ้งการประกอบธุรกิจ และจะมีมาตรการกำกับดูแลที่ต้องปฏิบัติตาม
“เช่น ลูกค้าที่มาใช้บริการต้องมีการพิสูจน์ตัวตน ยืนยันตัวตนทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย ระบบการจ่ายเงิน การโอนเงินก็ต้องใช้ระบบการยืนยันตัวตน 2 ชั้น เพื่อป้องกันการเอาข้อมูลลูกค้าไปตัดบัญชีโดยเจ้าตัวไม่รู้ เพื่อคุ้มครองประชาชนในการซื้อขายออนไลน์ เสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเพื่อป้องกันความเสียหายแก่สาธารณชนหรือประชาชนที่ใช้บริการ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้” ชัยวุฒิกล่าว
ขณะที่ ในส่วนของประชาชนที่เป็นผู้เสียหายทางโซเชียล ด้วยหลักการของกฎหมาย สามารถไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ หรือปัจจุบันสามารถแจ้งตามออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ซึ่งมีจำนวนผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความผ่านออนไลน์แล้วหลักหมื่นรายต่อเดือน
“มีคดีความจำนวนมากเพราะกรณีออนไลน์เกิดการหลอกลวง ฉ้อโกงต่างๆ ในคดีออนไลน์ มันง่ายไม่เหมือนสมัยก่อน เมื่อก่อนการจะหลอกขายของก็ต้องไปเปิดร้าน หลอกลงทุน เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง เพราะหลอกลวงผ่านออนไลน์ บางเคสสืบสวนสอบสวนหลายพันล้านเปิดบริษัทหลอกลงทุน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกระทรวงดีอีเอสพยายามแก้ปัญหาอยู่” ชัยวุฒิกล่าว
ทั้งนี้ มองว่าปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ต่างๆ มีเกิดขึ้นทุกวัน ทางกระทรวงดิจิทัลฯ เน้นบังคับใช้กฎหมายและปราบปราม แต่ที่สำคัญที่สุดคือการให้ความรู้กับประชาชน ต้องให้ประชาชนมีภูมิต้านทานป้องกันการถูกหลอกลวง อย่าเชื่อ อย่าโอนเงิน
ชัยวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประกาศบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 สามารถช่วยลดปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ในระดับหนึ่ง เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้ได้ชื่อ ได้เบอร์ไปจากร้านค้าหรือกิจกรรมที่ประชาชนไปติดต่อ เช่น ส่งของออนไลน์ ซื้อของออนไลน์ ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้ว ข้อมูลเหล่านี้ก็ต้องจัดเก็บให้ดี องค์กรธุรกิจต่างๆ จะไปถ่ายโอนหรือส่งต่อให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้ มีความผิด เพราะถือเป็นข้อมูลส่วนตัว
นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการที่มีข้อมูลของลูกค้าหรือผู้มาติดต่อ หรือบริษัทที่มีข้อมูลของผู้มาสมัครงาน หรือแม้แต่พรรคการเมืองเองก็จะมีข้อมูลของคนที่มาสมัครเป็นสมาชิกพรรค ข้อมูลเหล่านี้จะต้องเก็บให้ดี ไม่ให้รั่วไหล และคนที่จะเปิดดูข้อมูลได้ก็ต้องมีความรับผิดชอบที่ชัดเจน หากข้อมูลรั่วไหลออกไปจะเป็นความผิด ถูกดำเนินคดีถูกฟ้องร้องได้
ดังนั้นจะต้องมีระบบป้องกันให้ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จะต้องจัดทำระบบ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะออกระเบียบและประกาศไว้