Thursday, March 20, 2025
CybersecurityData ProtectionNEWS

AOC 1441 เตือนภัยโจรออนไลน์ ยก 5 กรณีศึกษาให้ประชาชนระวัง

AOC 1441

AOC 1441 เตือนภัย โจรออนไลน์ หลอกให้รัก – ลวงเป็นญาติ หลอกลงทุนหารายได้เสริม พบสูญเงินกว่า 28 ล้านบาท

.

ฆษก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง วงศ์อะเคื้อ บุญศล เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 3-9 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC_1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 3,561,505 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ใช้โพรไฟล์เป็นชายหนุ่ม หน้าตาดีทักมาทำความรู้จักผ่านทาง Messenger Facebook และได้เพิ่มเพื่อนทาง Line พูดคุยสนทนากันจนสนิทใจแต่ยังไม่เคยพบเจอกัน 

จากนั้นมิจฉาชีพแจ้งว่าให้โอนเงินไปร่วม ลงทุนเทรดหุ้นเพื่อเป็นเงินในการสร้างอนาคตร่วมกัน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ต่อมามิจฉาชีพแจ้งว่ากำลังป่วยต้องการเงินมารักษา จึงขอให้ผู้เสียหายโอนเงินไปให้อีกหลายครั้ง ยอดเงินครั้งสุดท้ายเป็นเงินจำนวนสูงมากจนน่าสงสัย จึงขอพูดคุยผ่านวิดีโอคอล แต่อีกฝ่ายปฏิเสธและทำการบล็อกไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 คดีหลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 5,700,000 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาลงทุนเทรดเงินดิจิทัลผ่านช่องทาง Tiktok ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนผ่านทาง Line จากนั้นมิจฉาชีพให้ทำการกรอกข้อมูลส่วนตัวและติดตั้งแอปพลิเคชันที่ใช้ในการลงทุน 

โดยแจ้งว่าให้โอนเงินตามที่แนะนำเพื่อรับผลตอบแทนคืนกลับมาเร็ว หลังจากโอนเงินไปแล้วทำการเทรดอีกหลายครั้ง ช่วงแรกได้กำไรจากการเทรดและถอนได้จริง 

ต่อมา ผู้เสียหายต้องการถอนเงินแต่ไม่สามารถถอนได้ มิจฉาชีพแจ้งว่าหากต้องการถอนเงินต้องโอนเงินเพื่อเป็นค่าใช้บริการแอปพลิเคชันก่อนจึงสามารถถอนเงินได้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงิน ไป ภายหลังจากโอนเงินไปไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 คดีหลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน มูลค่าความเสียหาย 3,505,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างเป็นหลาน แจ้งให้เพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นแจ้งให้ลบเบอร์โทรศัพท์เเละ Line เก่าทิ้ง เนื่องจากทำโทรศัพท์สูญหาย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงทำตามที่มิจฉาชีพบอก 

ต่อมามิจฉาชีพแจ้งว่าขอยืมเงินเพื่อนำไปลงทุนเทรดหุ้น หากได้ผลตอบแทนกลับมาจะนำมาแบ่งปัน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปหลายครั้ง ภายหลังไม่สามารถติดต่อได้ จึงโทรศัพท์ติดต่อญาติที่อยู่กับหลานพบว่าโทรศัพท์ของหลานไม่ได้สูญหาย และไม่ได้ติดต่อมา ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 7,423,305 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook ชักชวนหารายได้พิเศษ ผู้เสียหายสนใจจึงเพิ่มเพื่อนทาง Line แล้วถูกดึงเข้าร่วม Group Line เพื่อลงขายสินค้าของตนเอง 

จากนั้นมิจฉาชีพแจ้งว่าจะต้องโอนเงินเพื่อเป็นค่าสมัครใช้บริการก่อนจึงจะสามารถลงขายสินค้าได้ ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไป ในช่วงแรกสามารถขายสินค้าและได้รับเงินจริง ต่อมามีการให้เข้าร่วมกิจกรรมโดยให้โอนเงินลงทุนเพื่อซื้อสินค้าหลากหลายประเภท 

มิจฉาชีพแจ้งว่าให้โอนเงินซื้อสินค้าราคาสูงเพื่อจะได้รับค่าตอบแทนจำนวนมากและรวดเร็ว ภายหลังผู้เสียหายต้องการถอนเงินแต่ไม่สามารถติดต่อกับทางมิจฉาชีพได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก

และคดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 8,061,259 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัท ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แจ้งว่าผู้เสียหายเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลสินค้าจากทางบริษัท 

จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line และส่งรางวัลสินค้าให้เลือก ต่อมาดึงเข้า Group Line เพื่อให้ยืนยันสิทธิ์และร่วมทำภารกิจกลุ่ม โดยให้กดติดตามเพจที่บริษัทกำหนด มีการให้โอนเงินเข้าไปในระบบก่อนและหากทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดจะได้รับเงินรางวัลจำนวนมาก พร้อมทั้งส่วนลดราคาสินค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 

ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ผู้เสียหายจึงเพิ่มเงินลงทุนเข้าไปในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้และไม่ได้รับรางวัลหรือส่วนลด ตนเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก

AOC 1441

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 28,251,069 บาท

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,461,074 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,142 สาย

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 517,954 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,224 บัญชี

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่

  • หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 160,655 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 30.94
  • หลอกลวงหารายได้พิเศษ 122,086 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.62
  • หลอกลวงลงทุน 75,076 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.53
  • หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 51,128 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 9.69
  • หลอกลวงให้กู้เงิน 37,964 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.39
  • และคดีอื่นๆ 71,045 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 13.83

“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพ ใช้วิธีการต่างๆ หลอกลวงผู้เสียหาย ทั้งการหลอกให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หลอกให้ลงทุนซื้อสินค้า เพื่อหารายได้พิเศษ หรือหลอกลวงชวนเทรดหุ้น ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ Facebook และส่วนใหญ่มีการให้เพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อสมัครเข้าร่วมลงทุน และมีการใช้ข้ออ้างต่างๆ เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง” 

“ขณะเดียวกันยังพบเคสที่หลอกลวงว่าเป็นญาติผู้เสียหาย ยืมเงินเพื่อไปลงทุนแล้วอ้างให้ผมตอบแทน ทั้งนี้ขอย้ำว่า การลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบ”

“และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด รวมทั้งหากมีการอ้างว่าเป็นญาติ ควรตรวจสอบกับกับญาติหรือคนใกล้ชิดให้แน่ใจ ก่อนมีการโอนเงิน หรือทำธุรกรรมใดๆ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง” วงศ์อะเคื้อ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดย กระทรวง ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) สามารถเพิ่มเพื่อนผ่านไอดีแอปพลิเคชันไลน์ @antifakenewscenter หรือเว็บไซต์ Anti Fakenews Center