Saturday, April 20, 2024
ArticlesSmart City

กุญแจสำคัญการสร้าง Smart City ในบริบทสังคมเมืองดิจิทัลของปี 2565

การสร้าง Smart City มีความพลวัตไปตามเวลา ตามเหตุปัจจัยที่ก้าวหน้าขึ้น ทั้งเทคโนโลยี ความปลอดภัย และเป้าหมาย คำถามสำคัญคือ อะไรคือ กุญแจในการสร้าง Smart City ในบริบทของปี 2565 ที่สังคมและเศรษฐกิจ ปฏิสัมพันธ์ของคนกับเมืองกลายเป็นดิจิทัล

มืองต่างๆ ของโลกกำลังเตรียมพร้อมสำหรับจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เนื่องจากเหล่าผู้นำต่างตระหนักว่าแนวทางการวางแผนและนโยบายที่ยึดถือมายาวนานนั้น จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบเมืองในอนาคตที่มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และเจริญรุ่งเรืองสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง

เมืองในอนาคต ต้องการแนวคิดและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ใหม่ที่มีการเชื่อมต่อดิจิทัลที่ไร้รอยต่อ บริการสาธารณะส่วนบุคคล (Personalized Public Service) และประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ปรับให้เหมาะสมที่สุด การเดินทางสู่อนาคตใหม่ของการออกแบบ การบริการ และการใช้ชีวิตในเมืองจะประกอบด้วยกลยุทธ์ที่ทันสมัยดังต่อไปนี้

การรับฟังในรูปแบบใหม่

การใช้เทคโนโลยีและช่องทางดิจิทัลที่ทันสมัยทำให้เมืองต่างๆ สามารถได้ยินเสียงตอบรับของผู้อยู่อาศัย เพื่อระบุความต้องการของสาธารณะชนและตอบสนองด้วยประสบการณ์ที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การวิจัยดัชนีประสบการณ์ลูกค้าของ Forrester แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลยังคงให้ประสบการณ์แก่ลูกค้าในระดับที่ได้รับความพึงพอใจน้อยกว่าประสบการณ์จากภาคเอกชน

และผู้นำไม่ถึงครึ่งมีความมั่นใจในความสามารถของการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นมีความสำคัญต่อการให้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนประสบการณ์ลูกค้าลูกค้าและนวัตกรรม

จุดหมายที่ชัดเจนสำหรับการเปลี่ยนแปลง

การกำหนดทิศทางของเมืองในอนาคตจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่แม่นยำและชาญฉลาด ซึ่งสอดคล้องกับเทคโนโลยี ความสามารถ และความเชี่ยวชาญที่จำเป็นในการบรรลุความคาดหวังด้านการบริการสาธารณะ การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกได้ช่วยเร่งความเร็วของการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อการลดลงของรูปแบบ เมืองศูนย์กลาง โดยมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับผลลัพธ์และความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่าที่ผ่านมา

แนวทางใหม่ในการอยู่อาศัยในเมือง

ทฤษฎีในการวางแผนและวางนโยบายของเมืองไม่สามารถใช้ได้กับทุกที่อีกต่อไปเมื่อการใช้ชีวิตในเมืองดำเนินไปในวิถีท้องถิ่นในรูปแบบใหม่ๆ อนาคตทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมความเป็นอยู่และความก้าวหน้า ต้องอาศัยบริการ ความสามารถ และทางเลือกที่ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนและชุมชนที่แสวงหาประโยชน์สูงสุดจากชีวิตในเมืองตามความชอบส่วนตัว แนวปฏิบัติแบบเดียวไม่เหมาะกับทุกคนอีกต่อไป เมื่อชีวิตในเมืองพัฒนาขึ้น

ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย

ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างเมืองทั่วโลกและผู้นำของเมืองต่างๆ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างเมืองและอุตสาหกรรมภาคเอกชน จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการให้บริการที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง รวมถึงการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีและยั่งยืนสำหรับทุกคน

ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากเมืองต่างๆ ของโลก ซึ่งผลิตก๊าซเรือนกระจกมากกว่าร้อยละ 60 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ตาม รายงานขององค์การสหประชาชาติ

การสำรวจ Outlook CEO ประจำปี 2564 ของเคพีเอ็มจี แสดงให้เห็นว่าองค์กรระดับโลกกำลังเพิ่มการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงท่ามกลางแรงกดดันของสาธารณชนในการสร้างความอย่างยั่งยืนสำหรับอนาคต

ทำลายระบบการทำงานที่ไม่เชื่อมต่อกันและอุปสรรคแบบดั้งเดิม

เมืองต่างๆ ในอนาคตมีความพร้อมที่จะเชื่อมโยงกันในรูปแบบที่ทำให้พลเมือง ธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนเป็นศูนย์กลาง ตัวอย่างเช่น การเป็นพันธมิตรระหว่างเคพีเอ็มจีประเทศนอร์เวย์และเมืองต่างๆ (United Cities) ที่ช่วยให้เมืองและเทศบาลเปิดกว้างสำหรับทุกคน ปลอดภัย ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น

โดยการรวบรวมการวิจัยที่สำคัญและข้อมูลซึ่งวัดความคืบหน้าระหว่างเมืองลักษณะใกล้เคียงต่างๆ และแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกอย่างทันท่วงทีและบทเรียนที่สำคัญ เพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าในเมืองทั่วโลกทั้งหมดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)

ซึ่งรวมถึงความพยายามเชิงกลยุทธ์ในการระบุช่องโหว่ในโครงการความยั่งยืน ความสามารถ และข้อกำหนดด้านเงินทุนในปัจจุบัน การลงทุนในฮับนวัตกรรมและการพัฒนาดิจิทัลคู่ขนานยังถูกนำมาใช้เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับความต้องการในอนาคตและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น

ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรือง

ความต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างและรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ การสำรวจรูปแบบใหม่ของการสร้างรายได้ตามเมืองต่างๆ จะมีความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

ความต้องการด้านความเร็วและความคล่องตัว

การวิจัยของ Forrester ซึ่งจัดทำโดยเคพีเอ็มจี แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจส่วนใหญ่ที่ทำแบบสำรวจ (ประมาณสองในสาม) เชื่อว่ากลยุทธ์ด้านกำลังคนและการออกแบบองค์กร ยังคงสนับสนุนกลยุทธ์และวัตถุประสงค์ของเมืองในปัจจุบัน

แต่ผู้มีอำนาจตัดสินใจเหล่านี้ก็ยังเห็นถึงความจำเป็นในการตอบสนองต่อความต้องการสาธารณะที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยความเร็วและความคล่องตัวที่มากขึ้น โดยการปรับปรุงกลยุทธ์การเป็นพันธมิตรและการจัดการผลลัพธ์

เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ

เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาว กล่าวว่า “เมืองที่มีวิสัยทัศน์และมองไปข้างหน้าได้ลงมือวางแผนและออกแบบบริการสำหรับยุคสมัยใหม่ โดยเพิ่มขีดความสามารถที่เชื่อมต่อด้วยระบบดิจิทัล”

“สำหรับประเทศไทย โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีเป้าหมายที่จะสร้างเมืองอัจฉริยะใน 3 จังหวัด ซึ่งจะมีการพัฒนาศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง การลงทุน การค้า และประตูยุทธศาสตร์สู่ภูมิภาคเอเชีย โดยภายในปี 2565 ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การมีเมืองอัจฉริยะ 100 เมืองทั่วประเทศ”

ขณะที่ ธเนศ เกษมศานติ์ หัวหน้าฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและรัฐบาล เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า “เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยได้นั้น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดต้องร่วมมือกันและทำงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

ความท้าทายต่างๆ ไม่สามารถเอาชนะได้โดยลำพัง เมืองต่างๆ จำเป็นต้องเชื่อมต่อกันเพื่อแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกและทรัพยากร เพื่อเร่งความก้าวหน้าและนำไปสู่การกำกับดูแลที่ชาญฉลาด”

“อนาคตของเมืองต่างๆ นอกจากจะต้องเชื่อมต่อถึงกันแบบไร้รอยต่อ และเน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลางแล้ว ยังต้องมีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย”

“ในขณะที่ประชาคมโลกให้คำมั่นว่าจะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ความสนใจจะตกมาอยู่ที่พื้นที่ในเมือง ตลอดจนผลกระทบที่เมืองมีต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้กับเมืองหนึ่งจากอีกเมืองหนึ่ง”

“ไม่ใช่แค่สิ่งอำนวยความสะดวกและความสะดวกสบายที่มีให้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปล่อยคาร์บอนสุทธิและผลกระทบที่มีต่อโลกด้วย” กาเนสัน โคลันเดเวลู หัวหน้าฝ่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวเสริม

สถานะที่เป็นอยู่ซึ่งกำหนดทิศทางของหน่วยงานภาครัฐแบบดั้งเดิมในปัจจุบัน อาจจะล้าสมัยเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้เผยให้เห็นอนาคตขององค์กรต่างๆ ที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งจะส่งมอบบริการส่วนบุคคลที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นท้องถิ่นมีเวลาเหลือไม่มากเพื่อเริ่มต้นการเดินทางที่น่าตื่นเต้นนี้