Friday, March 29, 2024
NEWS

PLANET เซ็น MOU บริหารศูนย์นวัตกรรมขั้นสูง ในอีอีซี มูลค่ารวม 5 พันลบ.

ประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน)

PLANET ตอกย้ำผู้นำด้านเทคโนโลยี เซ็น MOU บริหารโครงการ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง (EEC SILICON TECHNOLOGY PARK) ชูเป็นต้นแบบเมืองดิจิทัล (Digital City) ที่ล้ำสมัยที่สุด

PLANET ตอกย้ำผู้นำด้านเทคโนโลยี เซ็น MOU บริหารโครงการ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง (EEC SILICON TECHNOLOGY PARK) มูลค่ารวม 5 พันลบ. ชูเป็นต้นแบบเมืองดิจิทัล (Digital City) ที่ล้ำสมัยที่สุด รองรับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ได้เข้ามามาลงทุนวิจัยพัฒนา (R&D) เทคโนโลยีขั้นสูงต่อยอดธุรกิจ ในพื้นที่อีอีซี

ประพัฒน์  รัฐเลิศกานต์ กรรมการผู้อำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANET

ประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ กรรมการผู้อำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANET ผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลแบบครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท ซิลิคอน เทคโนโลยี่ พาร์ค จำกัด เพื่อการก่อสร้างและพัฒนาโครงการศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง หรือ EEC SILICON TECH PARK (EECTP)

โดยมอบหมายให้บริษัท แพลนเน็ตยูทิลิตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการออกแบบและสร้างต้นแบบเมืองดิจิทัล (Digital City) ที่ล้ำสมัยที่สุด เพื่อดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ให้มาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ที่โครงการ EEC SILICON TECH PARK

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะมีรายได้จากค่าดำเนินการในการบริหารโครงการร้อยละ 10 ของมูลค่าโครงการในแต่ละเฟส โดยมูลค่ารวมของโครงการรวม 3 เฟส ประมาณ 5,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเฟสแรกได้เริ่มดำเนินการแล้วในปี 2565 นี้ มูลค่าราว 500 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจะสามารถเพิ่มโอกาสในการขายผลิตภัณฑ์ดิจิทัล (Digital Product) ของระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสื่อสารให้แก่ลูกค้าในทั้งกลุ่มภาครัฐ และภาคเอกชนได้เพิ่มขึ้น สำหรับ ต้นแบบเมืองดิจิทัล (Digital City) ที่จะดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ให้มาลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ดังกล่าวประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐาน 6 ด้าน คือ

1.ระบบสื่อสารมั่นคง (Telecom High Availability) ที่มีระบบสื่อสารสำรอง ทำให้เชื่อมต่อได้ตลอดเวลา

2.ระบบไฟฟ้ามั่นคง (Electricity High Availability) มีระบบไฟฟ้าสำรอง ทำให้มีไฟฟ้าใช้ตลอดเวลา

3.น้ำประปาที่มีคุณภาพดื่มได้ทันที (Clean Water Supply)

4.อากาศที่ไร้มลพิษ (No Air Pollution)

5.ความปลอดภัยทางชีวิต ทรัพย์สิน และข้อมูล (Security/CSOC) และ

6.การบริหารสิ่งปฏิกูล (Waste Management)

โดยโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 6 ด้านดังกล่าวนั้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) อาทิเช่น Cloud Computing, Ai/Analytic, IoT, Twin Digital, and GIS ในการควบคุมและตรวจสอบผ่านศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center) โครงการนี้มี 3 เป้าหมายหลัก คือ เพื่อลดโลกร้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ บริษัทฯจะนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลล่าสุด มาใช้ในโครงการนี้ เพื่อให้ที่นี่เป็นต้นแบบของเมืองดิจิทัล (Digital City) ที่มีระบบโครงสร้างพื้นที่ที่ดีที่สุดในทุกด้าน อาทิ ด้านเทคโนโลยีด้าน Telecom ที่จะมีโครงข่ายสื่อสารอัจฉริยะ (Smart networks) อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสุด

ทั้ง 5G , Fiber Optic, และดาวเทียม ระบบน้ำ-ไฟอัจฉริยะ ที่เน้นมาจากพลังงานสะอาด จนถึงสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Charger) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยะมีศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะที่ควบคุมระบบโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านในโครงการนี้ทั้งหมด ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในเมืองไทย และจะเป็นต้นแบบให้หน่วยงานราชการหรือเอกชนได้มาเยี่ยมชม เพื่อพิจารณานำไปใช้ในอนาคต” ประพัฒน์กล่าว

ณไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ประธานกรรมการ บริษัท ซิลิคอน เทคโนโลยี่ พาร์ค จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง (EEC SILICON TECHNOLOGY PARK) ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) คือแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

โดยศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ จะเป็นเครื่องมือตามนโยบายและโครงสร้างพื้นที่ฐานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนภาพเอกชนในการลงทุนพัฒนาเพื่อนำพาระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ที่สมดุลและยั่งยืน โดยช่วยส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ของประเทศไทยให้เข้มแข็งและเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมภาคการศึกษาและการวิจัยภาครัฐและภาคชุมชนท้องถิ่นโดยมีเป้าหมายช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

อนึ่ง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 6 แห่ง ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อเพิ่มจุดแข็งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และรองรับการลงทุนในอนาคต เนื่องจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มีพื้นที่รับรองการประกอบกิจการอุตสาหกรรมและการค้า จำนวน 15,836 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะรองรับการลงทุนได้เพียง 5 ปี จึงต้องจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้น 6 แห่ง แบ่งเป็น อุตสาหกรรมรูปแบบนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง โดยมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 6,884 ไร่

และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ 1 แห่ง คือ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง มีพื้นที่รวม 519 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการพัฒนางานวิจัย กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและกิจการที่เกี่ยวข้องไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จะกำหนดพื้นที่นำร่องของอีอีซีในการพัฒนาระบบโครงข่าย 5G เต็มรูปแบบ

Leave a Response