Friday, December 6, 2024
AIFinTechInsurTechNEWS

เปิดมุมมองตอบรับเทรนด์เทคโนโลยี AI กับการวางแผนการเงินในยุคดิจิทัล

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เปิดมุมมองตอบรับเทรนด์เทคโนโลยี AI กับการวางแผนการเงินในยุคดิจิทัล ในงาน TFPA WEALTH MANAGEMENT FORUM 2024 พร้อมเจาะลึกแนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงอนาคต และการจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล และทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบดิจิทัล

มาคมนักวางแผนการเงินไทย หรือ TFPA ชี้เทรนด์ AI กับการวางแผนการเงินในยุคดิจิทัล ผ่านงานสัมมนาใหญ่ TFPA WEALTH MANAGEMENT FORUM 2024, สำนักงาน คปภ. รุกพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีรองรับ AI, เกียรตินาคินภัทร มองการมาของโดนัลด์ ทรัมป์ จะสร้างการเปลี่ยนแปลง 5 เรื่องใหญ่ พร้อมประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 68 ท้าทาย

ส่วน สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และ ผู้บริหาร ViaLink – สถาบันอนาคตไทยศึกษา มอง AI ยังไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ 100% ขณะที่ สำนักงาน ก.ล.ต. เร่งกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เล็งย้าย Investment token อยู่ใต้การกำกับของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และ EY Thailand – เมพ คอร์ปอเรชั่น แนะการส่งมอบทรัพย์สินทางปัญญาและสินทรัพย์ดิจิทัล ควรทำทะเบียนทรัพย์สินและพินัยกรรม
เปิดเวที กูรูการเงิน การลงทุน เทคโนโลยี ประเมินทิศทางอนาคต
วิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้เล็งเห็นถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ที่มีผลต่อการวางแผนการเงิน ล่าสุดได้จัดงานสัมมนาใหญ่ “TFPA WEALTH MANAGEMENT FORUM 2024 ภายใต้แนวคิด AI กับการวางแผนการเงิน” เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
โดยมุ่งเน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) แนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงในอนาคตทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม และแนวทางการเตรียมตัวรับมือ 2) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กับผลกระทบที่มีต่อบริการทางการเงิน และการประกันภัย
โดยมีความเห็นว่า AI จะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อนักวางแผนการเงินในแง่ของการเสริมประสิทธิภาพการทำงาน และการให้บริการที่มีความแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ความสามารถของมนุษย์อย่างสมบูรณ์ เพราะในการให้คำแนะนำกับลูกค้า
ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความต้องการที่หลากหลายและภายใต้สถานการณ์ที่ซับซ้อนของลูกค้า ความเข้าใจในอารมณ์และความรู้สึกของลูกค้า ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจเชิงลึก รวมถึงในมิติของการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และการสร้างความไว้วางใจ ซึ่ง AI ยังขาดทักษะในด้านนี้ และ 3) สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) และทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบดิจิทัล (Digtial Intellectual Property) และกระบวนการบริหารจัดการส่งมอบให้ทายาท
สำนักงาน คปภ. เตรียมพร้อมรับ AI
ดร.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึง AI และการขับเคลื่อนการประกันภัยและความท้าทายว่า สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการขับเคลื่อนภายในสำนักงาน คปภ. และอุตสาหกรรมประกันภัย จึงได้พัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี” เพื่อรองรับ ได้แก่
1) การแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล โดยการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันทุกมิติ เช่น การรับเรื่องร้องเรียนด้านประกันภัย, โมบายแอปพลิเคชัน OIC Protect การออกใบอนุญาตด้วยระบบ E-License เป็นต้น
2) การเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการประกันภัย โดยดำเนินการพัฒนา Insurance Bureau System (IBS) และ OIC Gateway เพื่อให้บริการข้อมูลแก่อุตสาหกรรมประกันภัย และมีแผนขยายบริการข้อมูลไปสู่ทายาทผู้เอาประกันภัยในปี 2568
และ 3) ข้อมูลเปิดด้านการประกันภัย เช่น พัฒนา OIC connect การเชื่อมข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก เป็นต้น
ทั้งนี้ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก ได้ประมาณการว่าเทคโนโลยี AI จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยทั่วโลกได้ถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ต่อปี โดยมีตัวอย่างของบริษัทที่นำ AI มาเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน
เช่น PINGAN บริษัทประกันภัยรายใหญ่จากจีน นำ AI มาใช้ในกระบวนการเคลมประกันภัยรถแบบครบวงจร Lemonade จากสหรัฐฯ นำ AI ใช้ประเมินความเสี่ยงและอนุมัติกรรมธรรม์ประกันภัย เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศไทยอยู่ในระยะแรกของการประยุกต์ใช้ Generative AI โดยมีผลสำรวจพบว่า มีองค์กร 30.8% ที่เริ่มใช้งาน Generative AI แล้ว และในจำนวนนี้ 19.2% ได้ใช้งานต่อเนื่องกว่า 1 ปี และ 23.1% ใช้งานแล้ว 6-12 เดือน
และพบว่า 5 อันดับแรกของประเภทการใช้งาน Generative AI ของบริษัทประกันภัย ได้แก่ 1) ปรับปรุงกระบวนการเคลมประกันภัย 2) ตรวจสอบการทุจริตเคลมประกัน 3) กำหนดราคา 4) บริการลูกค้า และ 5) กิจกรรมการตลาด
โดยในปี 2568 สำนักงาน คปภ. มีแผนจัดทำ AI Framework เพื่อกำกับดูแลและสร้างความสมดุลในการใช้ AI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ และจริยธรรม
5 การเปลี่ยนแปลงที่มากับ โดนัลด์ ทรัมป์
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวถึงแนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ปี 2568 ว่า การได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเกิดการเปลี่ยนแปลง 5 เรื่องใหญ่ ได้แก่
1) การดำเนินการกับผู้อพยพมายังสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย อาจมีผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 2) นโยบายการคลัง เช่น การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจทำให้สหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดดุลการคลัง 3) De-Regulation เช่น การยกเลิกกฎระเบียบเกี่ยวกับพลังงานทดแทน เป็นต้น 4) การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและประเทศอื่นๆ รวมถึงนโยบายทางการค้า
โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ประมาณ 18% และได้ดุลการค้าประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์ หากถูกปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ส่วนการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 60% มองว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองมากกว่าจะสามารถขึ้นภาษีในอัตราดังกล่าวได้ทุกอุตสาหกรรม
และ 5) นโยบายกับต่างประเทศด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การเจรจาระหว่างยูเครน-รัสเซีย การเจรจาสงครามการค้ากับจีน
ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาเติบโตช้ากว่าที่ควร และมีปัญหาด้านขีดความสามารถการแข่งขัน รวมถึงการขาดดุลการค้ากับประเทศจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เปรียบเสมือนอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “บุญเก่าหมดเร็ว สร้างบุญใหม่ไม่ทัน” และปัจจุบันแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะเติบโตปีละ 4-5%
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2568 มีความท้าทายคือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะยังเป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อไปหรือไม่ ขณะที่การปฏิรูปทางการคลังและการปรับขึ้นอัตราภาษีบางประเภทจะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างแน่นอน และค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลงอีก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกในปีหน้าคือ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลงและสหรัฐฯ น่าจะยังไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอย
ชี้ AI ไม่สามารถแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด
รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรสิทธิ์ เกษตรเกษม กรรมการสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวถึงการปฏิวัติการเงินและประกันภัยด้วย AI & Data Analytics ว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการสรุปและวิเคราะห์ข้อมูล โดยในอุตสาหกรรมการเงินสามารถนำมาปรับใช้กับ Micro Lending หรือ สินเชื่อรายย่อย
คนกลุ่มนี้อาจไม่มีประวัติในฐานข้อมูลระบบการเงิน หากนำ AI มาใช้ก็จะช่วยรวบรวมข้อมูลประวัติการใช้ชีวิตและพฤติกรรมทางการเงินบางอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าควรอนุมัติสินเชื่อหรือไม่ วงเงินเท่าไร และเหมาะกับสินเชื่อประเภทไหน หรือใช้เพื่อพิจารณาสินเชื่อแก่เกษตรกร
โดยการนำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่เพื่อนำมาวิเคราะห์การให้สินเชื่อ อย่างไรก็ตาม มองว่า AI ยังไม่สามารถทดแทนการทำงานของมนุษย์ได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่มีความรู้สึก แตกต่างจากนักวางแผนการเงินเมื่อได้พูดคุยกับลูกค้า ก็อาจจะเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ดีกว่า
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ViaLink และกรรมการผู้จัดการแห่งสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า AI มีความสามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจะมีผลกระทบต่อการทำงานของหลากหลายอาชีพ เช่น AI สามารถวิเคราะห์การทำ Discount Cashflow (DCF) ซึ่งต้องใช้ข้อมูลและระยะเวลา
แต่ AI สามารถวิเคราะห์ได้ในระยะเวลาไม่นานและสามารถแสดงข้อมูลในเชิงสถิติได้ นำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
ดังนั้น มองว่าในอนาคตการนำ AI มาใช้ในการเคลมประกันภัย การตอบคำถามผ่านระบบแชตบอท หรืองานที่ต้องทำเป็นประจำซ้ำกันทุกวัน จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการใช้ AI ก็มีเช่นกัน เช่น ต้นทุนการใช้สำหรับ SME จะสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ จะต้องมีมนุษย์มารับผิดชอบเมื่อมีการตัดสินใจใช้ข้อมูลที่มาจากการวิเคราะห์ของ AI
สภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ อดีตรองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา กล่าวว่า โลกกำลังอยู่ในสภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงทั้งจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเข้ามาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI และสภาพอากาศที่แปรปรวนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการพัฒนาประเทศ
ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสมดุลของธรรมชาติ หากไม่เร่งแก้ไขสภาพภูมิอากาศจะไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีก โดยโลกจะเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำนักงาน ก.ล.ต. เตรียมย้าย Investment Token อยู่ใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
นภนวลพรรณ ภวสันต์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กล่าวถึงสถานะแนวนโยบาย การกำกับดูแล และพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ในประเทศไทยและต่างประเทศว่า
“ประเทศไทยได้มีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ในการกำกับดูแล Digital Asset และได้มีทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับสากล โดยสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่”
1. คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin,  Ethereum เป็นต้น 2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เช่น สิทธิในส่วนแบ่งรายได้ ผลกำไรจากการลงทุน ซึ่งคล้ายกับหลักทรัพย์ สำนักงาน ก.ล.ต.จึงอยู่ระหว่างเสนอปรับปรุงให้ Investment token บางลักษณะเป็น หลักทรัพย์ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ
โดยปัจจุบันประเทศไทยได้เสนอขาย Investment token แล้ว  3 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 5.1 พันล้านบาท ได้แก่ สิริฮับ เดสทินี โทเคน และเรียลเอ็กซ์ และอยู่ระหว่างหารือเพื่อเสนอขายอีก 10 ราย และ
3. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำกับดูแลการเสนอขาย Digital Asset เพื่อระดมทุน จะต้องดำเนินการเช่นเดียวกับการเสนอขาย IPO โดยจะต้องขออนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ขณะที่การเสนอขาย Investment token จะต้องมีผู้ให้บริการระบบเสนอขาย (ICO Portal) เป็นระยะเวลา 1 ปี และมีทรัสตี (Trustee) เข้ามารับโอนทรัพย์สิน
โดยทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือ Token ซึ่งในเร็วๆ นี้ อาจจะได้เห็น Investment Token ที่ระดมทุนในโครงการผลิตคาร์บอนเครดิต (Carbon credit)
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเรื่องภาษีของสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตั้งแต่ต้นปี 2567 ผู้เสนอขาย Investment token ได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนผู้ลงทุนใน Investment token และ Real Estate-Backed Token จะเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 15% แต่สามารถยื่นเสียภาษีพร้อมกันกับภาษีเงินได้ในช่วงปลายปีได้ และเสียภาษีจากส่วนต่างการขายสินทรัพย์ฯ (Capital Gain Tax)
ขณะที่ Cryptocurrency ที่เทรดในตลาดทั่วไปได้รับการยกเว้น VAT และสามารถนำกำไรขาดทุนมาหักลบกันได้ ส่วน Utility Token มีการเสีย VAT ซ้ำซ้อนทั้งตอนออก Token และตอนใช้สิทธิ์ ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกรมสรรพากร ให้มีการเสียภาษีเทียบเคียงกับ Token ทั่วไป
คำแนะนำส่งมอบ Digital Intellectual Property & Digital Asset ให้ทายาท
เกษม เกียรติเสรีกุล หัวหน้าสายงานบริการด้านภาษีอากร EY Thailand กล่าวถึง การจัดการ และการส่งมอบ Digital Intellectual Property & Digital Asset ว่า ตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กำหนดว่าผู้ถือครองสิทธิอนุญาตให้ขาย หรือผลิตและขาย หลังหักค่าใช้จ่ายจะเสียภาษีเงินได้ในอัตรา 5-35%
ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัล ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ผลประโยชน์จากการครอบครองหรือหากจำหน่าย จ่ายโอนหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล เงินได้ที่เกินกว่าที่ลงทุน ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% และเสียภาษีเงินได้อีก 5-35%
โดยสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถเก็บรักษาในหลากหลายรูปแบบ เช่น Hot Wallet กระเป๋าเงินที่สร้างขึ้นบนระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบและมีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา แต่มีความเสี่ยงถูกแฮ็ก และความมั่นคงของ Broker หรือ Platform ส่วน Cold Wallet กระเป๋าเงินที่สร้างในรูปแบบ Hardware และไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต มีความปลอดภัยมากกว่า หากสูญหายก็ยากที่จะเข้าถึงการใช้งานใน Private Key ได้
กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การส่งมอบ Intellectual Property & Digital Asset ให้กับทายาท ควรมีการจัดทำทะเบียนทรัพย์สินและพินัยกรรม เพื่อให้ทายาทได้ทราบถึงจำนวน Digital Asset ที่มี  โดยอาจทำทะเบียนทรัพย์สินในรูปแบบออนไลน์ซึ่งหากเจ้าของไม่ได้ใช้อีเมลเป็นเวลานาน ระบบจะมีอีเมลแจ้งเตือนไปยังอีเมลของทายาทที่ระบุไว้ในระบบ
Featured Image: Freepik futuristic robot