
“e-Contract เป็นหนึ่งในธุรกรรมสำคัญที่องค์กรต้องพิจารณาใช้ให้มากขึ้นในยุคดิจิทัล ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นถึง เงื่อนไข วิธีการ และการเตรียมตัวเมื่อต้องการใช้ e-Contract ให้เป็นธุรกรรมที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และได้รับการรองรับตาม พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
แม้พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 จะมีผลบังคับใช้ในไทยมานานกว่า 20 ปี และมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานทางกฎหมายสำหรับการทำธุรกรรมในยุคดิจิทัล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้เราทุกคนเริ่มหันมาทำธุรกรรมออนไลน์อย่างจริงจัง กลับเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19
เมื่อโลกต้องเผชิญกับมาตรการล็อกดาวน์ การเดินทางและการดำเนินธุรกิจรูปแบบเดิมถูกจำกัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำธุรกรรรมออนไลน์ จากที่เคยเป็นทางเลือก ก็กลายมาเป็นทางหลักในทุกวันนี้
โดยเฉพาะ การทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ_e-Contract ที่ถูกพูดถึงและใช้เพิ่มมากขึ้น เพราะเข้ามาเปลี่ยนวิธีการจัดทำและลงนามในสัญญา จากเดิมที่ต้องใช้กระดาษและพบปะกันโดยตรง กลายเป็นกระบวนการที่ทำได้ผ่านระบบออนไลน์
อย่างไรก็ดี แม้หลายองค์กรจะเริ่มนำ_e-Contract ไปใช้งานจริงแล้วแต่ก็ยังมีอีกไม่น้อยที่ยังมีคำถามในใจ ไม่ว่าจะเป็น สัญญาอิเล็กทรอนิกส์ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่? ปลอดภัยและเชื่อถือได้แค่ไหน? ต้องเตรียมพร้อมเรื่องเทคโนโลยีอย่างไรบ้าง?
บทความนี้ ได้นำความรู้จากงานเสวนาออนไลน์ ที่จัดโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ที่มี สมประสงค์ โหรชัยยะ ผู้ชำนาญการอาวุโสจากศูนย์พัฒนากฎหมาย ETDA และ สิริณัฐ ตั้งธรรมจิต หัวหน้าทีมที่ปรึกษาและวิทยากรจาก ADTE by ETDA มาร่วมให้ความรู้เพื่อสร้างความมั่นใจว่า e-Contract ปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีกฎหมายรับรอง
กฎหมายรองรับ e-Contract แค่ แสดงเจตนาและระบุตัวตน ให้ชัดเจน
คำว่า e-Contract_อาจฟังดูเหมือนไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วเราทุกคนต่างใช้ e-Contract_อยู่แทบทุกวัน เพราะ e-Contract_คือการทำข้อตกลงระหว่างบุคคลหรือองค์กรผ่านช่องทางดิจิทัล โดยไม่ต้องใช้กระดาษหรือเซ็นชื่อด้วยปากกา แต่สามารถยืนยันข้อตกลงได้ผ่านระบบดิจิทัล
ไม่ว่าจะเป็น การกดยอมรับเงื่อนไขในแอปพลิเคชัน การคุยโต้ตอบทางอีเมลที่ลงชื่อกำกับไว้ท้ายข้อความ การแนบไฟล์สัญญาบนแพลตฟอร์มออนไลน์แล้วคลิก ยืนยัน หรือการใช้ e-Signature และ Digital Signature เช่น การเซ็นชื่อด้วยปากกา Stylus บนแท็บเล็ต
ขอเพียงแค่ แสดงเจตนา และ ระบุตัวตน ของผู้ลงนามได้อย่างชัดเจน ก็ถือเป็น_e-Contract ทั้งสิ้น และมีผลทางกฎหมาย เช่นเดียวกับการทำสัญญาบนกระดาษทุกประการ
ปัจจุบัน e-Contract_ใช้ได้เกือบทุกธุรกรรมทั้ง ภาครัฐและเอกชน ยกเว้นแค่บางกรณีที่กฎหมายระบุไว้ว่าต้องใช้สัญญาแบบเดิมเท่านั้น อย่างสัญญาที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก เช่น พินัยกรรม การหย่า หรือสัญญาครอบครัวอื่นๆ ซึ่งมีเนื้อหาละเอียดอ่อน จำเป็นต้องมีพยานและเจ้าหน้าที่ร่วมรับรู้
ดังนั้นการทำ e-Contract_ในกรณีทั่วไป เมื่อทุกอย่างทำได้ครบ จบทุกขั้นตอนในโลกออนไลน์ ก็ไม่จำเป็นต้องพิมพ์ ไม่ต้องใช้กระดาษ ไม่ต้องนัดพบกันเพื่อเซ็น และไม่ต้องรอรับ-ส่งเอกสารไป-มาให้เสียเวลา แค่ปลายนิ้วคลิก ก็สามารถทำสัญญาได้ทุกที่ ทุกเวลา
พร้อมมีผลทันทีแบบ Real-time ไม่เพียงช่วยลดต้นทุน ประหยัดเวลา แต่ยังช่วยลดภาระในการจัดเก็บเอกสาร เพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบ ติดตาม และลดความเสี่ยงจากเอกสารสูญหายหรือถูกปลอมแปลง
e-Contract_ข้อดีเพียบ แต่ทำไมหลายองค์กร ยังไม่ใช้
แม้ e-Contract_ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมี พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รองรับการใช้งานมานานแล้ว อีกทั้งยังมีข้อดีมากมาย แต่หลายๆ องค์กรก็ยังไม่มั่นใจ และยังไม่กล้าเปลี่ยนมาทำสัญญาแบบ e-Contract เพราะยังมีความกังวลหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น
- ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับผลและประเด็นทางกฎหมาย แม้จะมีกฎหมายรับรองแล้ว แต่หลายองค์กร
ยังกังวลว่าศาลอาจจะไม่ยอมรับ e-Contract_หากเกิดข้อพิพาท ฟ้องร้อง - เทคโนโลยีที่ใช้ลงนาม เชื่อถือได้แค่ไหน เช่น ปากกา Stylus, PIN, หรือการลงชื่อท้ายอีเมล จะถือเป็นการลง ลายมือชื่อ ตามกฎหมายได้จริงหรือไม่ สามารถยืนยันตัวตนหรือแสดงเจตนาได้หรือไม่
- กังวลเรื่องความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือของเอกสาร ว่าหากไม่มีระบบจัดเก็บที่ดี ไฟล์อาจถูกปลอมแปลง แก้ไขโดยไม่รู้ตัวหรือไรม่
- มองว่าต้องลงทุนเพิ่ม ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการติดตั้งเซิร์ฟเวอร์หรืออบรมพนักงาน จึงทำให้มองว่า เป็นภาระมากกว่าโอกาส
- ยึดติดกับวัฒนธรรมเดิมที่ใช้กระดาษและลายเซ็นด้วยปากกา
- คู่สัญญา ยังไม่พร้อม นอกจากความพร้อมขององค์กรตนเองแล้ว ยังต้องดูความพร้อมของอีกฝ่าย เพราะหากคู่สัญญายังไม่พร้อม ไม่เข้าใจ หรือยังชินกับระบบกระดาษแบบเดิมก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง
- แนวทางที่มีอาจยังไม่ตอบโจทย์และไม่เข้ากับบริบทขององค์กร และหลายองค์กรก็ยังต้องการคำแนะนำที่ลงลึกในรายละเอียดและตอบโจทย์เฉพาะของตนเอง
ใช้ e-Contract อย่างไรให้กฎหมายรองรับ
e-Contract_หรือสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหนึ่งในธุรกรรมสำคัญที่หลายองค์กรหันมาใช้กันมากขึ้นในยุคดิจิทัล ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และลดภาระจากเอกสารกระดาษ
โดยผู้เชี่ยวชาญจาก ETDA ยืนยันชัดเจนว่า “e-Contract_เป็นธุรกรรมที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และได้รับการรองรับตาม พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544”
แต่การใช้งาน e-Contract_ให้ถูกต้องตามกฎหมายและปลอดภัย ต้องมี องค์ประกอบหลักครบ 3 ด้าน ดังต่อไปนี้
- ตัวเอกสารและเนื้อหาของสัญญาข้อมูลทั้งหมดต้องสามารถเข้าถึงได้ (Accessible) มีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ สามารถเปิดดูย้อนหลังได้เสมอ โดยเนื้อหาต่างๆ ยังคงเหมือนเดิม ไม่ถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลง
- ต้องมี ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ที่ระบุตัวตนผู้ลงนาม และแสดงเจตนาได้ชัดเจน แม้ไม่ได้เซ็นลงบนกระดาษ แต่ต้องมี e-Signature ซึ่งมี 2 แบบหลักๆ ได้แก่ e-Signature ทั่วไปที่ระบุตัวตนได้ เช่น การลงชื่อท้ายอีเมล การล็อกอินเข้าใช้งานแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ การกดยืนยัน กดยอมรับ การใช้ PIN/Password รวมถึงการเซ็นผ่าน Stylus Pen และอีกรูปแบบ Digital Signature คือ e-Signature อีกรูปแบบหนึ่งที่มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะมีการเข้ารหัสและถอดรหัสด้วยระบบ Public/Private Key ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นคนลงนาม ลงเมื่อไหร่ มีการแก้ไขภายหลังหรือไม่ และมีกระบวนการที่พิสูจน์ได้ว่าคนที่ลงนามเป็นคนนี้จริงๆ
- มีระบบจัดเก็บที่ปลอดภัย ตรวจสอบได้ และรองรับการพิสูจน์ย้อนหลัง ควรมีการจัดเก็บไว้ในระบบกลางขององค์กร (Central Storage) ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ส่วนตัว เพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งต้องมีระบบดูแลความปลอดภัย ควบคุมสิทธิ์ การเข้าถึงข้อมูล มีระบบป้องกันการเปลี่ยนแปลง แก้ไข และแจ้งเตือนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งตรวจสอบย้อนหลังได้
องค์กรต้องเตรียมตัวอย่างไร เมื่อต้องการใช้ e-Contract
สำหรับองค์กรที่สนใจอยากเปลี่ยนมาใช้ e-Contract_แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ผู้เชี่ยวชาญ ETDA แนะนำแนวทางเบื้องต้นไว้คือ ก่อนติดตั้งระบบหรือโซลูชันใดๆ สิ่งที่องค์กรควรมีเป็นอันดับแรกคือ ความเข้าใจที่ถูกต้องทั้งในมุมกฎหมาย เทคโนโลยี และวิธีการใช้งาน
ซึ่งปัจจุบัน ETDA ได้จัดทำ Guideline ที่ชื่อว่า ข้อเสนอแนะแนวทางการจัดทำนิติกรรมหรือสัญญาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้กับผู้ที่สนใจ
ต่อมาคือ เลือกโซลูชันที่ตอบโจทย์และเหมาะกับบริบทขององค์กร โดยการใช้ e-Contract_ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง เพราะสามารถเลือกโซลูชันที่เหมาะกับขนาดและบริบทของแต่ละองค์กรได้ และไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ คู่สัญญา ความเสี่ยง และความซับซ้อนของสัญญาแต่ละประเภท
เช่น บางธุรกิจอาจเหมาะกับระบบง่ายๆ เพียงแค่ให้ลูกค้ากดยืนยันผ่านอีเมล บางธุรกิจต้องการความปลอดภัยสูง จำเป็นต้องใช้ Digital Signature บางธุรกิจมีคู่สัญญาหลายแบบก็อาจใช้หลายโซลูชันผสมกัน
นอกจากนี้ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังไม่พร้อมใช้ e-Contract_แบบ 100% ก็สามารถใช้แนวทางแบบผสม (Hybrid) ได้ เช่น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งอาจลงลายมือชื่อบนกระดาษ แล้วสแกนหรือแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัล และส่งให้อีกฝ่ายลงนามด้วย Digital Signature ก็สามารถทำได้ตามกฎหมาย
หากกระบวนการจัดเก็บและพิสูจน์ตัวตนถูกต้อง และต้องมั่นใจได้ว่าระบบหรือวิธีการที่ใช้นั้นสามารถระบุตัวตน แสดงเจตนา และมีการจัดเก็บที่ปลอดภัยสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ หากครบถ้วนตามนี้ก็ถือว่าถูกต้องสมบูรณ์และมีผลทางกฎหมายทันที
1 ตุลาคม 2568 e-Contract ใช้ได้ทั่วโลก
นอกจาก พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่รับรองการใช้ e-Contract_แล้ว อีกหนึ่งความก้าวหน้าที่ช่วยเสริมความมั่นใจยิ่งขึ้นคือ การที่ประเทศไทยได้เข้าร่วม อนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการใช้การติดต่อสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ในสัญญาระหว่างประเทศ หรือเรียกย่อๆ ว่า อนุสัญญา ECC ขององค์การสหประชาชาติ
ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากลที่หลายประเทศใช้เป็นกรอบร่วมกันในการรับรองธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2568 เป็นต้นไป นั่นหมายความว่าในอนาคตอันใกล้ e-Contract_ไม่เพียงแค่มีกฎหมายรองรับในประเทศไทย แต่ยังได้รับการยอมรับในระดับสากล
ผู้เชี่ยวชาญ ETDA ย้ำ การใช้_e-Contract ไม่ใช่การ บังคับให้เปลี่ยน แต่คือ การชี้ให้เห็นโอกาส และ เสนอทางเลือก ที่ช่วยประหยัดเวลา ทรัพยากร และเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง