Saturday, April 20, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

Deep Blue Zone: ประเทศไทย พื้นที่คนอายุ 123 ปี แห่งแรกในโลก

ขอเสนอแนวคิดในการพัฒนาประเทศไทยเป็น Deep Blue Zone ซึ่งเป็นยุทธวิธีสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุการเป็นเมืองหลวงอภิบาลคนชราโลก

ระเด็นผู้สูงอายุนับเป็นความท้าทายสำหรับประเทศไทยในปัจจุบันและในอนาคต เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หรือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศแล้ว และกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ถึงกระนั้นการกำหนดนโยบายเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ โดยส่วนใหญ่ยังเป็นไปในทิศทางค่อนไปในเชิงรับ อาทิ การจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ การพัฒนาและส่งเสริมกลไกการดูแลผู้สูงอายุ การฝึกอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางที่จำเป็นต้องดำเนินการ แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากเราสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศจากเศรษฐกิจผู้สูงอายุ และดูแลผู้สูงอายุในประเทศไปพร้อมกัน

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

หลายสิบปีที่ผ่านมา ผมได้เสนอแนวคิด ประเทศไทย เมืองหลวงโลก 4 ด้าน[1] (Thailand’s Niches) โดยพิจารณาจากจุดแกร่งของประเทศ ซึ่ง เมืองหลวงอภิบาลคนชราโลก (Elderly Healthcare Capital) เป็น 1 ใน 4 ด้านของยุทธศาสตร์ในการพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้สูงอย่างรวดเร็ว

ในบทความนี้ ผมจึงขอเสนอแนวคิดในการพัฒนาประเทศไทยเป็น Deep Blue Zone ซึ่งเป็นยุทธวิธีสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุการเป็นเมืองหลวงอภิบาลคนชราโลก และสนับสนุนการเป็นเมืองหลวงโลกอีก 3 ด้านด้วย

Deep Blue Zone คืออะไร?

Deep_Blue Zone คือ พื้นที่ที่มีคนอายุ 123 ปี แห่งแรกในโลก และมีสัดส่วนของผู้สูงอายุ 100 ปีขึ้นไป (Centenarian) 110 ปีขึ้นไป (Supercentenarian) และ 120 ปีขึ้นไป (Ultracentenarian) สูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ

Deep_Blue Zone ต่อยอดมาจากแนวคิด Blue Zone ที่ Gianni Pes และ Michel Poulain บัญญัติขึ้นในปี 2004 เพื่ออธิบายถึงพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของผู้คนที่มีอายุยืน 100 ปีขึ้นไป มากกว่า ค่าเฉลี่ยของพื้นที่อื่นบนโลก

โดย 5 พื้นที่ที่ถูกจัดให้เป็น Blue Zone ประกอบด้วย โอกินาว่า ญี่ปุ่น, ซาร์ดิเนีย อิตาลี, อิคาเรีย กรีซ, คาบสมุทรนิโคยา คอสตาริกา และโลมา ลินดา แคลิฟอร์เนีย รวมทั้งยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่เข้าข่ายเป็น Blue Zone อย่างไม่เป็นทางการด้วย

การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นเมืองหลวงอภิบาลคนชราโลก จึงควรไปไกลกว่า การเป็น Blue Zone โดยการตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้ผู้ที่อยู่อาศัยสามารถไปถึงขีดจำกัดของอายุขัยของมนุษย์ ซึ่งตัวเลข 123 ปี

อ้างอิงจากอายุของมนุษย์ที่มีอายุยืนที่สุดในโลกเท่าที่มีหลักฐานการบันทึกที่น่าเชื่อถือในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ คือ Jeanne Calment ซึ่งมีอายุ 122 ปี 164 วัน และสอดคล้องกับงานวิจัยบางส่วนที่วิเคราะห์อัตราการเสื่อมของอวัยวะตามอายุ

ระบุขีดจำกัดของอายุขัยที่ประมาณ 120 ปี[2] เช่นเดียวกับการวิจัยโดยพิจารณาข้อมูลผลการทดสอบเลือดของประชากร 5 แสนคน และการคำนวณทางคณิตศาสตร์ พบว่า อายุขัยทางชีววิทยา (biological age) สูงสุดของมนุษย์อยู่ระหว่าง 120-150 ปี[3]

ทำไมประเทศไทยควรเป็น Deep Blue Zone?

เหตุผลที่ประเทศไทยควรเป็น Deep Blue Zone เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในขณะที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาระการพึ่งพิงที่สูงขึ้น ภาระงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น การขาดแคลนแรงงาน และความเสี่ยงที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัว จนทำให้ประเทศติดกับดักรายได้ปานกลางในระยะยาว การพัฒนาประเทศเป็น Deep_Blue Zone จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขสภาพ (wellness) ที่ดี

ซึ่งจะช่วยลดภาระด้านสาธารณสุขและการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานและสังคมมากเกินไป ในทางตรงกันข้าม ยังเป็นการขยายเวลาและโอกาสที่ผู้สูงอายุจะได้ใช้ศักยภาพในชีวิตสูงสุด รวมทั้งสามารถประกอบอาชีพและสร้างผลผลิตให้แก่สังคมได้ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น โลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ความต้องการบริการสำหรับผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ต้นทุนการดูแลผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนา คนในประเทศพัฒนาแล้วจึงแสวงหาพื้นที่ที่สำหรับการใช้ชีวิตในยามชราอย่างมีคุณภาพ

โดยที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงจนเกินไป สังเกตได้จากการจัดทำดัชนีชี้วัดเพื่อจัดอันดับเมืองสำหรับการเกษียณอายุ เช่น Global Retirement Index เป็นต้น ดังนั้นหากประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ผู้คนมีอายุยืนอย่างมีสุขสภาพที่ดีที่สุดในโลก ก็น่าจะเป็นจุดที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้สนใจเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตวัยเกษียณมากขึ้น

การที่คนทั่วโลกเข้ามาทำงานและเกษียณอายุในประเทศไทยมากขึ้น จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบรองรับผู้สูงอายุ และการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากจะทำให้ระบบบริการผู้สูงอายุในประเทศไทยมีทางเลือกและมีคุณภาพที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเพื่อนำมาดูแลผู้สูงอายุในประเทศได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น

ประเทศไทยจะพัฒนาเป็น Deep Blue Zone ได้อย่างไร?

การประมาณการของฝ่ายประชากร องค์การสหประชาชาติ โดยใช้ข้อมูลในปี 2020 พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 100 ปีขึ้นไป 65 คนต่อประชากรผู้สูงอายุ 1 แสนคน สูงกว่าค่าประมาณการของโลกและประเทศรายได้ปานกลางกลุ่มบน ซึ่งอยู่ที่ 54 และ 36 คนต่อประชากรผู้สูงอายุ 1 แสนคนตามลำดับ

อย่างไรก็ดี สัดส่วนคนอายุยืนในประเทศไทยยังอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 201 ประเทศ จึงถือว่า ประเทศไทยมีคนอายุยืนในสัดส่วนที่สูงพอสมควร แต่ยังต้องพัฒนาอีกมากเพื่อก้าวขึ้นเป็น Deep_Blue Zone

หากพิจารณาปัจจัยที่ทำให้คนมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ ประเทศไทยมีหลายปัจจัยที่สนับสนุนการมีอายุยืนยาว อาทิ อาหารไทยมีองค์ประกอบของพืชผัก สมุนไพร และความหลากหลายของวัตถุดิบ มีโอกาสพัฒนาเป็นอาหารที่ทำให้อายุยืนยาว ระบบสาธารณสุขของไทยมีคุณภาพ หลายพื้นที่ในประเทศไทยยังความเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์สวยงาม สังคมไทยในชนบทยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและเอื้ออาทรต่อกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการมีอายุยืนยาว อาทิ ปัญหาการใช้สารเคมีในภาคเกษตร ปัญหาคุณภาพน้ำและอากาศ ปัญหาวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่ทำลายสุขสภาพ การขาดความตระหนักและความรู้ด้านสุขสภาพของประชาชน สภาพสังคมที่มีความเป็นปัจเจกชนนิยมมากขึ้น ปัญหาคนขาดเป้าหมายและอุดมการณ์ชีวิต เป็นต้น

การพัฒนาประเทศไทยสู่ Deep Blue Zone ต้องพัฒนาอย่างครบวงจร ทั้งคน ระบบ และบริบท

การพัฒนาคน ควรเริ่มต้นจากการรวบรวมและวิจัยองค์ความรู้และแนวปฏิบัติ เพื่อสร้างสุขสภาพและการมีชีวิตยืนยาว การให้ความรู้ การสร้างความตระหนักและการเห็นคุณค่าการมีชีวิตยืนยาว และการพัฒนาพฤติกรรมของประชาชนทุกช่วงวัย เพื่อให้มีวิถีชีวิตที่สนับสนุนการมีชีวิตยืนยาว

การพัฒนาระบบ ครอบคลุมระบบอย่างกว้างขวาง อาทิ ระบบการผลิตอาหารตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ระบบเศรษฐกิจผู้สูงอายุ ระบบการผลิตและกิจกรรมที่เอื้อต่อสุขสภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระบบสุขภาพและสาธารณสุข ระบบสังคมและความสัมพันธ์ของคนในสังคม ระบบความเชื่อและอุดมการณ์ในสังคม รวมทั้งการพัฒนาทุกองค์ประกอบของระบบ เป็นต้น

การพัฒนาบริบท ครอบคลุมปัจจัยแวดล้อมทั้งหมดของการใช้ชีวิตและการทำงาน อาทิ การพัฒนาเมืองและชุมชน longevity wellness โดยอาจเริ่มต้นจากการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบของ Deep_Blue Zone การพัฒนาสถานประกอบการและสำนักงานที่เอื้อต่อการมีชีวิตยืนยาว การพัฒนาครัวเรือนที่เอื้อต่อการมีชีวิตยืนยาว เป็นต้น

ประเทศไทยต้องเผชิญความท้าทายจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้หน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาสู่ประเทศรายได้สูงกำลังจะปิดลง การพัฒนาประเทศจึงต้องอยู่บนฐานของจุดแกร่งของประเทศและตั้งเป้าให้สูง เพื่อเร่งนำพาประเทศให้สามารถเอาชนะขีดจำกัดและความท้าทายที่ต้องเผชิญให้ได้

[1] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. ประเทศไทย ‘เมืองหลวงโลก’ 4 ด้าน. กรุงเทพธุรกิจ (26 มกราคม 2564).

[2] Gambato C, Longhin E, Catania AG, Lazzarini D, Parrozzani R, Midena E. Aging and corneal layers: an in vivo corneal confocal microscopy study. Graefes Arch Clin Exp Ophthalmol. 2015 Feb;253(2):267-75. doi: 10.1007/s00417-014-2812-2. Epub 2014 Oct 14. PMID: 25311652.

[3] Pyrkov, T.V., Avchaciov, K., Tarkhov, A.E. et al. Longitudinal analysis of blood markers reveals progressive loss of resilience and predicts human lifespan limit. Nat Commun 12, 2765 (2021). https://doi.org/10.1038/s41467-021-23014-1

Featured Image: Old couple photo created by Lifestylememory – www.freepik.com