Thursday, March 28, 2024
ArticlesColumnistPairoj Waiwanijchakij

Vehicle to Vehicle Charge โอกาสใหม่ในอุตสาหกรรม EV

Vehicle to Vehicle Charge มีโอกาสกลายเป็นธุรกิจใหม่ รองรับดีมานด์ของผู้ใช้รถ EV ที่ให้บริการจุดชาร์จรถยนต์แบบเคลื่อนที่ สามารถเรียกใช้บริการด้วยแอปพลิเคชัน มองหาตำแหน่งชาร์จที่อยู่ใกล้ที่สุด หรือเป็นบริการพิเศษของหน่วยงานคมนาคมของภาครัฐ

มเติบโตมาในอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมและสื่อสารไร้สาย ผ่านนวัตกรรมของการสร้างโซลูชันใหม่ๆ ที่มากกว่าการสื่อสารระหว่างมนุษย์ (Man-to-Man Communication) หนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็คือ Intelligent Traffic Communication ซึ่งเรื่องนี้เกิดมีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว

ทุกวันนี้การดึงศักยภาพของเครือข่ายสื่อสารไร้สายทั้งเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ การสื่อสารผ่านดาวเทียม เซ็นเซอร์ทั้งประเภท LiDAR – Image Processing ไปจนถึงน้องใหม่อย่าง Ultra Wideband (UWB) กับทั้งการที่ยานยนต์ต่างๆ มีความสามารถในการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ผ่านทางเทคโนโลยี Autonomous_Vehicle ส่วนที่ว่าจะ Autonomous ระดับไหนนั่นก็แล้วแต่รุ่น และสภาพท้องถนน ไปจนถึงยุทธศาสตร์การขนส่ง ในแต่ละเมือง แต่ละประเทศ

บทความโดย: ไพโรจน์ ไววานิชกิจ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ธุรกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมสตาร์ทอัพ ธุรกิจพลังงาน ลอจิสติก และเทคโนโลยีสารสนเทศ

เมื่อมีโอกาสผมจะได้ขอเล่าถึงเรื่องของเทคโนโลยีสื่อสารระหว่างยานยนต์ด้วยกัน (Vehicle_to_Vehicle Communication) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า V2V วันนี้เวลานี้ผมขอนำเรื่องใหม่ๆ สดๆ ที่เพิ่งมีโอกาสได้สนทนากับผู้เชี่ยวชาญด้านระบบพลังงานเพื่ออุตสาหกรรมขนส่งเรื่องหนึ่งมาเล่าสู่กันฟัง

ทำความเข้าใจมาตรฐานของการชาร์จไฟ

V2V นอกเหนือจากในมุมของการสื่อสารระหว่างยานยนต์ด้วยกันเองแล้ว ปัจจุบันมีการคิดค้นและพัฒนาระบบจัดเก็บและบริหารพลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ให้มีความสามารถในการทำตัวเป็นต้นทางในการชาร์จพลังงานให้กับรถยนต์ไฟฟ้าคันอื่นๆ ซึ่งในทางเทคนิคแล้วจะใช้ประโยชน์จากหัวชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงแบบด่วน มาตรฐาน CCS2 (Combined Charging System 2)

ซึ่งโดยพื้นฐานทางเทคนิคแล้วก็คือ การพัฒนาหัวชาร์จแบบกระแสสลับ ตามมาตรฐาน AC Type 2 มารวมเข้ากับหัวชาร์จแบบกระแสตรง กลายเป็นหัวชาร์จแบบ CCS2 ซึ่งถึงวันนี้มาตรฐานหัวชาร์จแบบ CCS2 มีกำลังในการชาร์จพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุดที่ 350 กิโลวัตต์ ซึ่งวางใจได้ว่ามาตรฐานหัวชาร์จแบบ CCS2 จะได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งในเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้เพราะมาตรฐานหัวชาร์ตแบบ CCS ซึ่งได้รับการผลักดันและพัฒนาโดยสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 สำหรับให้ยานยนต์ที่ผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายในภาคพื้นยุโรปได้ใช้หัวชาร์จที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นการสร้างความสะดวกทั้งต่อผู้ขับขี่ ผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า และต่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

โดยสหภาพยุโรปกำหนดให้สถานบริการ โครงข่ายตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และตัวรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในภูมิภาค ใช้หัวชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับแบบ AC Type 2 และหัวชาร์จกระแสตรงแบบ DC CCS2 ทั้งหมด

ที่กล่าวอารัมภบทมาข้างต้นก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าเมื่อมีขาใหญ่อย่างสหภาพยุโรปกำหนดมาตรฐานหลักอย่างหัวชาร์จไฟฟ้าแบบ DC CCS2 มาแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ การขานรับของแบรนด์ผู้ผลิตยานยนต์ที่จะต้องนำเอามาตรฐาน CCS2 ไปติดตั้งในยานยนต์ที่ตนผลิต

ก็เท่ากับว่าในแง่ของมาตรฐานหัวชาร์จน่าจะไม่มีรถยนต์ยี่ห้อใดรุ่นใดแตกแถว เมื่อมาตรฐานมีร่วมกันโดยส่วนใหญ่ การประยุกต์ใช้งานก็จะชัดเจนมากขึ้น การชาร์จไฟจากยานหาพนะที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าไปยังปลายทางต่างๆ ก็ไม่ใช่มีเพียงว่าการชาร์จจากรถยนต์ไปสู่รถยนต์เท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องของการชาร์จจากรถยนต์สู่บ้านพักอาศัย (Vehicle_to Home หรือ V2H) ไปจนถึงจากรถยนต์ไปสู่ระบบเครือข่ายไฟฟ้า (Vehicle_to Grid หรือ V2G) ซึ่งผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป

ถนนที่วิ่งไปสู่ธุรกิจ Vehicle to Vehicle Charge

สำหรับเรื่องของ Vehicle_to_Vehicle Charge กับการใช้งานอย่างเห็นๆ ทันตาในประเทศไทย ก็น่าจะเป็นการลงทุนสร้างรถไฟฟ้าที่มีขนาดการจุพลังงานไฟฟ้าสูงๆ สำหรับหน่วยงานที่บริหารเส้นทางการจราจร เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศ และผู้ให้บริการทางหลวงแผ่นดินระหว่างจังหวัด โดยสามารถใช้เป็นจุดชาร์จแบบฉุกเฉินที่สามารถเคลื่อนที่ไปหารถยนต์ไฟฟ้าที่เกิดปัญหาแบตเตอรี่หมด

ที่มา: electrek.co

ทั้งที่แบตเตอรี่หมดบนทางด่วน บนทางหลวงระหว่างแผ่นดิน และหน่วยงานเอกชนต่างๆ ก็สามารถสร้างธุรกิจรถยนต์ชาร์จไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่ได้ สำหรับไปจอดให้บริการในงานเทศกาล ที่มีผู้คนจำนวนมาก ในยามที่สัดส่วนรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ส่วนหนึ่งก็มาจากความเป็นจริงที่ว่าความพร้อมของระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงดันปานกลาง และแรงดันสูงในประเทศไทยนับตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงอีกหลายปีในอนาคต อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะเนรมิตให้ใครก็ได้ไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชนสามารถสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ได้ในลักษณะที่ว่านึกจะสร้างตรงนั้นตรงนี้ก็ทำได้ตามใจ

เรื่องนี้ก็จะเป็นการจุดประเด็นต่อเนื่องไปถึง ความต้องการและการพัฒนาระบบเก็บสำรองพลังงานไฟฟ้า (Battery Backup System) ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มมีแนวโน้มที่ราคาและการลงทุนซึ่งแพงมากๆ ในอดีตที่ผ่านมากำลังมีการปรับราคาลง จนมีแนวโน้มว่าสามารถลงทุนและได้รับผลตอบแทนในระยะเวลาที่สั้นลงได้

การผสมผสานระบบแบตเตอรี่สำรองพลังงานเข้ากับยานยนต์ขนาดใหญ่ทำให้เป็นจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถเคลื่อนที่ไปยังที่ต่างๆ ได้ก็จะกลายเป็นธุรกิจใหม่ และยิ่งครอบการให้บริการด้วยแอปพลิเคชัน ทั้งในการมองหาตำแหน่งชาร์จที่อยู่ใกล้ที่สุด การจองและเรียกรถชาร์จไฟฟ้าเคลื่อนที่ได้ ให้เข้ามาใกล้พื้นที่ที่ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าอยู่

การเพิ่มฟังก์ชันเรียกรถชาร์จไฟฟ้าเคลื่อนที่ได้มาหาตนในกรณีของบริการของทางหลวงแผ่นดินหรือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือไม่แปลกถ้าเราจะเห็นฟังก์ชันดังกล่าวปรากฏอยู่ในแอปพลิเคชันของ จส. 100 ทั้งหมดนี้จะเป็นการสร้าง Business Model ใหม่อีกประเภทหนึ่งให้กับเรา

ยังไม่นับถึงการใช้ AI ในการศึกษาและวิเคราะห์ความถี่บ่อย พฤติกรรมของการเรียกรถชาร์จไฟ จะทำให้เป็นการต่อยอดไปสู่การปรับปรุงการให้บริการขนส่ง การชี้เป้าให้มีการขยาย Power Grid ไปยังพื้นที่ที่บ่งชี้ว่ามีปัญหารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานหมดบ่อยๆ บนทางหลวงหรือจุดพักรถต่างๆ กับอีกหลากหลายมากมายการต่อยอด

เมื่อพูดถึงเรื่องของ Vehicle_to_Vehicle Charge แล้ว บทความตอนต่อไปผมก็ขอสลับกลับไปพูดถึงเรื่องพื้นฐานที่วันนี้อาศัยเพียงแค่พูดถึงเพื่อต่อยอดมาถึงประเด็นด้านธุรกิจพลังงาน ในบทความตอนหน้าผมจะหยิบยกเรื่องราวของ Vehicle_to_Vehicle Communication มาพลิกมองหาทิศทางทางธุรกิจกัน

แล้วพบกันในบทความตอนต่อไปครับ…

อ่านบทความทั้งหมดของ ไพโรจน์ ไววานิชกิจ

Featured Image: Image by frimufilms on Freepik

Leave a Response