สหรัฐฯ ขึ้นภาษี 36%: จุดเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจโลกและการตั้งรับเชิงยุทธศาสตร์ของไทย

“บทวิเคราะห์จากมุมมองของผู้เขียน ถึงผลกระทบที่ไทยต้องเผชิญ พร้อมเสนอ แนวทางการรับมือและยุทธศาสตร์เชิงรุก เพื่อผ่อนแรงกระแทกจากนโยบายสหรัฐฯ เปลี่ยนวิกฤตในครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ
การกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 47 สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจโลกอย่างฉับพลัน หนึ่งในนโยบายสำคัญที่ประกาศเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2025 คือ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า Reciprocal Tafiff จากประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยเฉพาะประเทศที่มีสหรัฐฯ มองว่า ได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม
ไทยซึ่งมีสหรัฐเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง และเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่องถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศที่ถูกเก็บภาษีสูงสุด โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเกษตรแปรรูป ที่ถูกกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสูงสุดถึงร้อยละ 36 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2025
มาตรการดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐฯ ต้องการคงไว้ซึ่งการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก และสะท้อนถึงการดำเนินนโยบายแบบเศรษฐกิจชาตินิยม
ผู้เขียนจึงได้วิเคราะห์ผลกระทบที่ไทยต้องเผชิญ พร้อมเสนอ แนวทางการรับมือและยุทธศาสตร์เชิงรุก เพื่อผ่อนแรงกระแทกจากนโยบายสหรัฐฯ เปลี่ยนวิกฤตในครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ
1. ผลกระทบที่ไทยต้องเผชิญจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ
การปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งสามารถจำแนกผลกระทบสำคัญได้ดังนี้
1.1 ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อยอดส่งออกทันที สินค้าไทยจะมีราคาแพงขึ้นในตลาดสหรัฐฯ เมื่ออัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ พุ่งสูงถึงร้อยละ 36 ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าสำคัญจะลดลงทันที ทั้งกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเกษตรแปรรูป
ยอดคำสั่งซื้อมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตที่ไม่มีฐานการผลิตในประเทศอื่น ส่งผลกระทบต่อทั้งรายได้ภาคเอกชน การจ้างงาน และเสถียรภาพในภาคอุตสาหกรรมส่งออก
1.2 ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง กระทบเศรษฐกิจมหภาค นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และพันธมิตร ลดระดับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย จากความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านนโยบายการค้าและแนวโน้มอัตราภาษีที่ไม่แน่นอน หรือเลื่อนการตัดสินใจลงทุนออกไป
ส่งผลให้เงินลงทุนใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจน้อยลง ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการเติบโตในระยะสั้น แต่ยังอาจทำให้โครงการสำคัญของประเทศ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ต้องชะลอตัว ซึ่งจะกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศลดลงในอนาคต
1.3 ปัญหาการว่างงาน ความเหลื่อมล้ำและผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคแรงงาน ทั้งในอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรภาคแรงงานในอุตสาหกรรมส่งออกอาจเผชิญกับการลดชั่วโมงทำงาน เลิกจ้าง หรือการปิดสายการผลิต ผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ต้องปรับตัว เช่น ลดกำลังการผลิต หรือลดต้นทุนด้านแรงงาน ซึ่งซ้ำเติมความเปราะบางด้านรายได้
ขณะที่ภาคเกษตรกรรมต้องรับผลกระทบจากสินค้าส่งออกที่ล้นตลาดภายในประเทศ เนื่องจากราคาขายที่สูงขึ้นจากต้นทุนภาษี ทำให้ไม่สามารถแข่งขันและส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้ตามปกติ ผลที่ตามมา คือ สินค้าจึงถูกระบายกลับสู่ตลาดในประเทศ ทำให้เกิดภาวะ สินค้าล้นตลาด และทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำและรายได้ของเกษตรกรลดลง ซึ่งอาจซ้ำเติมทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย
2. แนวทางการรับมือและยุทธศาสตร์เชิงรุก
เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน รัฐบาลไทยจำเป็นต้องตอบสนองต่อสถานการณ์นี้อย่างเป็นระบบ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังต่อไปนี้
2.1 นโยบายที่ไทยต้องดำเนินการในระยะสั้น
1) เร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ อย่างมีเงื่อนไข ไทยควรเสนอให้มีการปรับอัตราภาษีแบบรวดเร็วตามสถานการณ์หรือแบบรายเดือน โดยผูกโยงกับระดับดุลการค้า หากไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น หรือส่งออกลดลง อัตราภาษีนำเข้าจากไทยควรลดลงโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้ไทยมีแรงจูงใจในการรักษาดุลการค้าอย่างเป็นรูปธรรม
2) เปลี่ยนการเจรจาจากรายประเทศสู่กลุ่มพันธมิตร รัฐบาลไทยควรใช้จังหวะนี้เรียกประชุมประเทศขนาดเล็กและขนาดกลางทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากสหรัฐ เพื่อจัดทำข้อเสนอร่วมในการเจรจา แบบเป็นทีม เพื่อสร้างอำนาจต่อรองต่อแนวนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯหากประเทศเหล่านี้เจรจาร่วมกัน จะมีอำนาจต่อรองมากกว่าต่างคนต่างเจรจา
3) ปรับปรุงดุลการค้ากับสหรัฐให้ดีขึ้น ผ่านมาตรการเชิงรุก ไทยควรดำเนินมาตรการ 4 ด้านควบคู่กัน ได้แก่
- ประการที่หนึ่ง สั่งการให้กรมศุลกากรปรับลดภาษีนำเข้า สินค้าใดที่สามารถลดภาษีลงได้ ให้ปรับลดภาษีลงโดยมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน และ ช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยการชดเชย และ ช่วยลดต้นทุนผู้ส่งออก เช่น ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เป็นต้น
- ประการที่สอง ย้ายการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่สาม ไปยังสหรัฐฯ ภาครัฐอาจย้ายการนำเข้าสินค้าบางรายการจากประเทศอื่นมานำเข้าจากสหรัฐฯ แทนหรือช่วยอุดหนุนสินค้านำเข้าจากสหรัฐ เพื่อทำให้ราคาถูกลงและนำเข้าได้มากขึ้น
- ประการที่สาม อุดหนุนการส่งออกไปยังตลาดประเทศอื่น เช่น ยุโรป อินเดีย แอฟริกา ทำให้การส่งออกไปยังสหรัฐลดลง ซึ่งจะช่วยทำให้ไทยเกินดุลการค้าจากสหรัฐฯ ลดลง
- ประการที่สี่ ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐ ช่วยสร้างงานสหรัฐ ในอุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันและควรจะไปอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
4) ใช้กลไกนักท่องเที่ยวในการส่งออกสินค้าไทย วิธีส่งออกที่สร้างสรรค์ผ่านนักท่องเที่ยวคือ ใช้นักท่องเที่ยวเป็นผู้ขนส่งสินค้า ข้อมูลปี 2567 พบว่า มีนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ มาเยือนประเทศไทยประมาณ 1 ล้านคน ภาครัฐอาจอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวสหรัฐฯ นำสินค้าจากไทยกลับไปยังสหรัฐฯ
เช่น ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบสินค้า ลดภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้ข้อมูลและบริการที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อกำหนดในการนำสินค้าออกจากประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไทย
2.2 นโยบายที่ไทยต้องดำเนินการในระยะกลาง
1) สนับสนุนการย้ายฐานการผลิตอย่างชาญฉลาด ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยย้ายฐานไปยังประเทศที่ไม่ถูกเก็บภาษีสูง เช่น ประเทศในแอฟริกา ซึ่งจะช่วยรักษาการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ และขยายเครือข่ายการผลิตสู่ตลาดใหม่
2) ลงทุนในห่วงโซ่ใหม่ สร้างความสามารถในการผลิตสินค้าขั้นกลางในประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลดการพึ่งพาชิ้นส่วนจากภายนอก สร้าง ภูมิคุ้มกัน ให้ระบบการผลิตไทยจากแรงกระแทกภายนอก
3) ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับโลก เป็นหัวจักรพยุง จีดีพี หากไทยยังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักเพียงอย่างเดียว ก็เสี่ยงจะตกเป็นเป้าในสงครามภาษีของมหาอำนาจโลก
ไทยจึงควรพัฒนาการท่องเที่ยว ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจาก 40 ล้านเป็น 80 ล้านคนภายใน 5 ปีโดยใช้พลังของอาหาร วัฒนธรรม และบริการสุขภาพครบวงจร สร้าง Super Soft Power ทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และเสริมรากฐานเศรษฐกิจจากฐานล่างอย่างยั่งยืน
2.3 นโยบายที่ไทยต้องดำเนินการในระยะยาว
ไทยควรใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนี้
1) ตั้งกลุ่มการค้าเสรีใหม่ นอกเหนือจากสหรัฐฯ และจีน เมื่อสหรัฐฯ ถอยออกจากระเบียบโลกแบบเดิม ไทยควรก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการรวมกลุ่มประเทศที่ยังเชื่อมั่นในการค้าเสรี เปิดเสรีภาพให้กับสินค้า บริการและแรงงาน โดยใช้ระบบเดิมอย่าง RCEP, CPTPP เป็นฐาน
และพัฒนาแนวคิดใหม่ร่วมกัน ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของ ขั้วที่สาม ที่ไม่ยึดติดกับอิทธิพลของสหรัฐฯ หรือจีน แต่มีจุดยืนของตนเองอย่างมั่นคง จะเป็นการสร้างบทบาทนำของไทยในระเบียบเศรษฐกิจโลกยุคถัดไป
2) พลิกวิกฤตภาษีให้เป็นโอกาสในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจหากจีดีพีส่งออกลดลง ไทยต้องพึ่งพาการเติบโตจาก 4 จุดแกร่งประเทศ (4 Thailand’s Niches) ได้แก่ การท่องเที่ยวคุณภาพ (Tourism) สุขสภาพ (Wellness) อาหาร (Food) และการดูแลผู้สูงอายุครบวงจร (Elderly)
ไทยมีทรัพยากร วัฒนธรรม และความพร้อมด้านบุคลากรที่จะเป็นผู้นำในทั้ง 4 ด้าน หากใช้วิกฤตนี้เป็นจังหวะในการจัดโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ จะเปลี่ยนวิกฤตภาษีให้กลายเป็น จุดเริ่มต้นของไทยในเวทีโลกยุคใหม่
แนวนโยบายภาษีใหม่ของสหรัฐฯ (Reciprocal Tafiff) คือจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจโลกที่ไทยต้องไม่เพียงตั้งรับ แต่ต้องใช้เป็นโอกาสเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สร้างพันธมิตรใหม่ ย้ายฐานผลิตอย่างชาญฉลาด และขับเคลื่อนจุดแกร่งของไทย เพื่อเปลี่ยนวิกฤตเป็นจุดเริ่มต้นของบทบาทใหม่บนเวทีโลก
อ่าน การประกาศและช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง Reciprocal Tariff >> 2025 U.S. tariffs
อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
Featured Image: Whitehouse.gov