Thursday, September 19, 2024
CybersecurityNEWS

ฟอร์ติเน็ตผนึก CIPAT จับมือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดอบรมหลักสูตรไซเบอร์ซีเคียวริตี้

ฟอร์ติเน็ต

ฟอร์ติเน็ต ผนึก CIPAT จับมือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดอบรมหลักสูตรไซเบอร์ซีเคียวริตี้ การบริหารจัดการอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยเครือข่ายไฟร์วอลล์ และการจัดการเหตุการณ์และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล เร่งสร้างกำลังพลพร้อมทักษะรักษาความปลอดภัย ตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจ

อร์ติเน็ต ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ (Cyber Innovation Promotion Association of Thailand หรือ CIPAT) จับมือสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดการฝึกอบรมหลักสูตรด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้เพื่อพัฒนา และยกระดับทักษะความรู้ผู้มีพื้นฐานความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างกำลังคนให้มีทักษะด้านดิจิทัลในระดับสูง รองรับการก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย_ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า “นอกจากการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ฟอร์ติเน็ตยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการฝึกอบรมบุคคลทั่วไปที่มีพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ต้องการเพิ่มทักษะ อย่างเร่งด่วน”

“เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์แบบใช้งานได้จริง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรและภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อความเสี่ยงในการถูกโจมตีขององค์กร”

“การทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล กรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการฝึกอบรมผู้มีความพร้อมพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ให้สามารถเสริมสร้างทักษะและต่อยอดไปสู่การดูแลรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ คืออีกหนึ่งเส้นทางของการพัฒนากำลังคนในเวลาอันรวดเร็ว”

“เพื่อเติมเต็มช่องว่างในตำแหน่งด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ขององค์กรและภาคธุรกิจ ฟอร์ติเน็ต_ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามามีส่วนในการให้การฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรที่มีทักษะด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้อย่างเต็มที่” ภัคธภา กล่าว

สมบัติ โพธิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ความร่วมมือกับฟอร์ติเน็ตและ CIPAT ในครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันใน โครงการฝึกอบรมหลักสูตรยกระดับฝีมือของบุคคลที่มีความรู้พื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ด้วยการฝึกอบรมใน 2 หลักสูตร ได้แก่ 

การเรียนการสอนในหลักสูตรการบริหารจัดการอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยเครือข่ายไฟร์วอลล์ FortiGate (FortiGate Firewall Administration) และหลักสูตรการจัดการเหตุการณ์และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล (Fortinet Security Information and Event Management หรือ FortiSIEM) 

โดยแต่ละหลักสูตรมีระยะเวลาในการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรละ 30 คน โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเพื่อการทำงานจริงจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญโดยตรงจาก ฟอร์ติเน็ต ประเทศไทย

ทั้งนี้ หลักสูตร FortiGate Firewall Administration คือหลักสูตรเทคโนโลยี Next-Generation Firewall ด้านความปลอดภัยเครือข่ายที่ช่วยป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ ที่จะช่วยตรวจจับและป้องกันการบุกรุกแบบ Real-Time พร้อมระบบป้องกันไวรัสและมัลแวร์แบบครบวงจร มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการรักษาความปลอดภัยเครือข่ายองค์กร โดยเฉพาะในยุคที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความซับซ้อนมากขึ้น 

ในขณะที่ FortiSIEM เป็นระบบที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความปลอดภัยจากแหล่งต่างๆ ในเครือข่ายองค์กร เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ทันสมัย ช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับภัยคุกคามที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งสองหลักสูตรมีความสำคัญต่อการป้องกันและการรับมือการโจมตีทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ

“ท่านอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน บุปผา เรืองสุด ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะด้านดิจิทัลที่ทันสมัยและตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังคนด้านความมั่นคงและปลอดภัยของข้อมูล จึงได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัลจัดทำหลักสูตรยกระดับฝีมือด้านดิจิทัลระดับสูงจำนวน 7 หลักสูตร โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิชาชีพต่างๆ”

“โดยหลักสูตรเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบต่อไปในอนาคต” สมบัติ โพธิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าฝึกอบรมต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีประสบการณ์ทำงานหรือประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้อง สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือเทียบเท่าในสาขาไอที หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์

และผ่านการฝึกทักษะออนไลน์ (DSD Online Training) ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หลักสูตร Basic Network สำหรับมือใหม่สายไอที หรือผ่านการฝึกอบรมยกระดับฝีมือ หลักสูตรการพัฒนาอาชีพเฝ้าระวังและป้องกันภัยทางไซเบอร์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน