Thursday, April 25, 2024
NEWS

4 กูรู เผยเทคนิคเท่าทันภัยคุกคามการเงินโลกดิจิทัล

อาชญากรไซเบอร์กำลังพัฒนาศักยภาพตนเองในโลกออนไลน์ ด้วยกลโกงรูปแบบใหม่ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชากรโลกดิจิทัล สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเสวนาออนไลน์ร่วมหาทางออก

ปัจจุบันการพัฒนาของโลกดิจิทัลได้เปลี่ยนวิถีชีวิตคนยุคใหม่ทั่วโลก ให้สร้างความร่ำรวยจากการลงทุนสกุลเงินที่จับต้องไม่ได้ ซื้อของด้วยการใช้ปลายนิ้วสัมผัส ทำงานจากบ้าน และเข้าแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่สร้างความสนุกสนานและสะดวกสบายในโลกออนไลน์

แต่ในภาพโลกดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็วและทันสมัยนี้ มีมุมมืดที่อาชญากรไซเบอร์กำลังพัฒนาศักยภาพตนเองในโลกออนไลน์เช่นกัน ด้วยกลโกงรูปแบบใหม่ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชากรโลกดิจิทัลอย่างมหาศาล สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเสวนาออนไลน์ระดมเหล่านักวิชาการและนักธุรกิจการเงินออนไลน์ ร่วมหาทางออกหลังผู้บริโภคไทยต้องเผชิญหน้าภัยคุกคามทางการเงินในโลกออนไลน์แบบรายวันในเวทีวันสิทธิผู้บริโภคโลกสากล 15 มีนาคม

โดยสอดคล้องกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ที่ได้หยิบยกประเด็นหลักในการรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) ภายใต้หัวข้อ “การเงินในโลกดิจิทัลที่เป็นธรรม” (Fair Digital Finance) เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงภัยใกล้ตัวที่อาจทำความเสียหายถึงขั้นล้มละลายหรือกลายเป็นหนี้สินในชั่วพริบตา

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ในการเสวนานี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นำเสนอภาพรวมด้านเทคโนโลยีทางการเงินในโลกดิจิทัล โดยมี สุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด เปิดมุมมองด้านนวัตกรรมทางการเงิน ส่วน ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สิ่งที่ผู้บริโภคควรทราบถึงสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางการเงิน

ในปัจจุบัน และ ปิดท้ายด้วยความรู้เกี่ยวกับความเป็นธรรมทางการเงินโดยสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อสร้างให้ผู้บริโภคชาวไทยได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ไปจนถึงภัยคุกคามที่แฝงมาในรูปแบบดิจิทัล รู้เท่าทันต่อภัยคุกคามการเงินออนไลน์ ดำเนินรายการโดยพิธีกรผู้คร่ำหวอดในวงการดิจิทัล หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ และสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค

เริ่มจากดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงภาพรวมเทคโนโลยีทางการเงินในโลกดิจิทัลในปัจจุบันว่า เทคโนโลยีทางการเงินเกิดขึ้นในโลกมานานและมีวิวัฒนาการทางรูปแบบอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน (IoT) มาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อยมากยิ่งขึ้น เปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางธุรกิจได้มากมาย

“ปัจจุบันเกิดแอปพลิเคชันทางการเงินใหม่ๆ ขึ้นมาก และสิ่งที่สร้างความสนใจและได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนี้คือ สกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคริปโตเคอเรนซีที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือบิทคอยน์ ที่ถูกสร้างขึ้นโดยเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่าบล็อกเชนหรือเทคโนโลยีตัวช่วยด้านความปลอดภัย (Security) และความน่าเชื่อถือ (Trust) ในการทำธุรกรรมการเงินโดยไม่ต้องอาศัยคนกลางซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของผู้บริโภค และดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้าไปถือครองในวงกว้างมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปกติแล้วเงินที่ถูกต้องตามหลักเศรษฐศาสตร์ต้องมีหน้าที่ 3 ประการ คือ 1. สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในตลาด 2. ใช้เป็นมาตรวัดด้านราคาได้ และ 3. สามารถเก็บมูลค่าได้ แต่เมื่อพิจารณาถึงบิทคอยน์จะพบว่า ไม่สามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ดี มีศักยภาพการชำระเงินค่อนข้างช้า มีต้นทุนและความผันผวนสูง มูลค่าเปลี่ยนไป ตลอดแบบวันต่อวัน มีความผันผวนมากกว่าหุ้นของบริษัทชั้นนำกว่า 10 เท่า ทั้งยังหาปัจจัยที่ส่งผลได้ยาก ทำให้บิทคอยน์ไม่สามารถใช้แทนเงินได้อย่างเต็มรูปแบบ และถือเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงประเภทหนึ่ง

ดังนั้นการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ ผู้บริโภคจึงควรใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งเพราะเป็นฟองสบู่ที่มีราคาเพิ่มจากการเก็งกำไรเปรียบเสมือนแชร์ลูกโซ่ที่เมื่อมีผู้ลงทุนรายใหม่เข้าเล่นทำให้ราคาวิ่งขึ้นจนถึงจุดหนึ่งก็จะแตกเหมือนฟองสบู่ และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวจำนวนมาก หากพิจารณาด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะพบว่าบิทคอยน์ใช้พลังงานมากเกิดการบริโภคไฟฟ้าสูงขึ้น เป็นสาเหตุของก๊าซเรือนกระจกทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

สุกฤษฏิ์ พุ ทธวิริยะ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด

ซึ่งปัจจุบันการพูดคุยถึงผลกระทบดังกล่าวในไทยยังมีอยู่น้อยมาก” ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กล่าว “หากเปรียบเทียบกับการลงทุนรูปแบบอื่นเช่นการซื้อบ้านหรือทองคำที่เป็นการผสมผสานระหว่างส่วนเก็งกำไรและการเพิ่มมูลค่า การซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดีก็จะได้รับเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 3 การลงทุนจึงไม่ใช่การเก็งกำไรเพียงอย่างเดียว ในขณะที่บิทคอยน์จะชัดเจนแค่ด้านเก็งกำไรแต่ขาดความชัดเจนด้านมูลค่าพื้นฐาน

ดังนั้นราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจึงไม่สามารถอธิบายได้ด้วยปัจจัยพื้นฐานตามหลักเศรษฐศาสตร์จึงถือว่าเป็นภาวะฟองสบู่ และการที่ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่าบิทคอยน์กำลังดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มมากกว่าเม็ดเงินที่ไหลออกซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับแชร์ลูกโซ่ ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลกว่า 8 ท่านทั่วโลก ซึ่งมองว่าเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก หากผู้ลงทุนขาดความเชี่ยวชาญและลงทุนโดยเงินกู้หรือเงินสะสมในบั้นปลายชีวิตก็เสี่ยงต่อการขาดเสียรภาพทางการเงิน”

ในขณะที่ สุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แล็บส์ จำกัด ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงินพร้อมมองต่างมุมว่า สกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี ไม่ได้มีเฉพาะแง่ลบหากผู้ลงทุนมีความเข้าใจพื้นฐานที่ดี

ปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลง การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมีเพิ่มมากขึ้นในทุกด้านโดยเฉพาะด้านธุรกรรมทางการเงินรูปแบบออนไลน์ ทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินเริ่มเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจและบริการให้เป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น และคริปโตเคอร์เรนซีก็ถือเป็นหนึ่งนวัตกรรมยุคใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

โดยมีระบบบล็อกเชนเข้ามาทำหน้าที่แทนธนาคาร แค่มีอินเตอร์เนตก็สามารถทำธุรกรรมได้ทั่วโลก ทั้งยังมีความโปร่งใสที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินซึ่งอยู่ในบล็อกเชนทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีจุดอ่อนที่ยังไม่สามารถควบคุมได้บางส่วนซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน

“บิทคอยน์ถือเป็นการลงทุนประเภทหนึ่งที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ชัดเจนเช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นหรือทองคำ แต่บิทคอยน์ช่วยลดการใช้ทรัพยการธรรมชาติและการเกิดปัญหาด้านอาชญากรรมด้วยการเปลี่ยนไปถือเงินผ่านระบบออนไลน์แทน สามารถใช้แลกเปลี่ยนมูลค่ากันได้ทั่วโลก

โดยเริ่มมีการนำบิทคอยน์ไปใช้ซื้อสินค้าในประเทศต่างๆ แพร่หลายยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยลดปัญหาเงินเฟ้อและช่วยบริหารจัดการด้านการกระจายเงินได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญเมื่อเกิดภาวะไม่มั่นคงหรือเกิดสงครามคนก็จะหันมาถือสินทรัพย์ต่างๆ นอกเหนือจากเงินสด และหนึ่งในสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมก็คือบิทคอยน์” สุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ กล่าว “การลงทุนด้านคริปโตเคอร์เรนซีถือเป็นเรื่องใหม่ของนักลงทุนไทย หลายรายลงทุนโดยไม่มีความรู้พื้นฐานที่มากพอทำให้เกิดความเสี่ยงสูงซึ่งถือเป็นข้อควรระวังอย่างมาก

ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

นอกจากนี้การใช้แพลตฟอร์มก็ถือเป็นเรื่องใหม่ที่มีความยุ่งยาก เช่น เวลาการโอนเหรียญที่โอนผิดเน็ตเวิร์คหรือโอนผิดกระเป๋าจะทำให้เงินในส่วนที่โอนผิดพลาดนั้นสูญหายไปทันที ซึ่งอยากฝากนักลงทุนให้ศึกษาวิธีการต่างๆ ให้ดีก่อนเริ่มลงทุน นอกจากนี้ การศึกษาด้านการป้องกันบัญชีของตนเองเพราะข้อมูลทุกอย่างอยู่เก็บบนโลกออนไลน์ทั้งหมด

ซึ่งแนะนำให้กำหนดรหัสเข้าบัญชีไว้ 2 ขั้น เพราะนักลงทุนจำนวนมากมักไม่ได้ทำขั้นตอนดังกล่าว ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดการโจรกรรมผ่านระบบออนไลน์ และปัญหาที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดแชร์ลูกโซ่คริปโตเคอร์เรนซีนั้น หากนักลงทุนมีข้อมูลที่แม่นยำและถูกต้องเพียงพอก็จะทำให้ลดความเสี่ยงในส่วนนี้ได้ และไม่ตกเป็นเหยื่อพวกอาชญากรไซเบอร์”

แน่นอนว่าเมื่อเกิดผลประโยชน์ด้านการลงทุน ภัยคุกคามก็มักจะเกิดขึ้นเช่นกัน ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นดังกล่าวว่า ด้วยความรวดเร็วด้านธุรกรรมการลงทุนออนไลน์ทำให้เกิดโอกาสผิดพลาดสูง และเป็นช่องทางให้อาชญากรไซเบอร์ใช้หลอกลวงผู้บริโภค

จึงอยากรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีความพร้อมและตื่นตัวในการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้บริโภคจะต้องเจอกับรูปแบบกลโกงที่เกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ โดยมักจะใช้ผลประโยชน์เป็นตัวล่อและมีทีมจัดตั้งที่คอยหลอกให้หลงเชื่อทำให้เสียทรัพย์ในที่สุด ซึ่งมีผู้เสียหายเพิ่มขึ้นจำนวนมากในแต่ละวัน ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถแจ้งความได้ผ่าน thaipoliceonline.com ภายใต้การดำเนินงานของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)

“ปฎิเสธไม่ได้ว่าความสะดวกรวดเร็วของการใช้สกุลเงินดิจิทัลย่อมมาพร้อมความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกเวลา เพราะหลายครั้งหากผู้บริโภคไม่ระวังรักษารหัสรักษาความปลอดภัยของตนก็อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ โดยส่วนนี้หากเป็นไปได้อยากขอให้สภาองค์กรของผู้บริโภคประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยการสร้างข้อกำหนดในการหยุดระบบการเคลื่อนไหวทางบัญชีเพื่อตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมการเงินออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสการได้เงินคืนเพิ่มขึ้นกว่าในปัจจุบัน

ซึ่งจะช่วยเหลือคนได้จำนวนมาก” ดร.ปริญญา หอมเอนก กล่าว “ที่สำคัญอยากให้ผู้บริโภคเปลี่ยนความคิดเพื่อให้เกิดความระมัดระวังมากขึ้น โดยคิดว่าหากตนต้องตกเป็นเหยื่อ จะต้องดำเนินการจัดการและแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพราะทุกวันนี้อำนาจของผู้บริโภคอยู่ที่ผู้บริโภคเอง การจัดสรรเรื่องกำหนดวงเงินในบัญชีที่ต้องการทำธุรกรรมออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรใส่เงินไว้จำนวนมากในบัญชีที่ใช้ประจำเพราะเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมเพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัยเพิ่มมากยิ่งขึ้น”

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าที่วิจัยผู้วิจัยด้านความเป็นธรรมทางการเงิน

ด้านความเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความโปร่งใสของโลกการเงินออนไลน์ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าที่วิจัยผู้วิจัยด้านความเป็นธรรมทางการเงิน ได้เปิดเผยข้อมูลจากโครงการวิจัยเรื่องแฟร์ไฟแนนซ์ (Fair finance) ว่า โครงการดังกล่าวได้ผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) อย่างแท้จริง ผ่านการนำมาตรฐาน Fair Finance Guide International (แนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ) มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ เริ่มจากปี พ.ศ. 2562 เป็นปีแรก

ซึ่งปัจจุบันได้ทำการประเมินธนาคารไทยรวม 11 แห่งโครงการนี้ เกิดจากความร่วมมือของ 5 สถาบัน ประกอบด้วย  บริษัท ป่าสาละ จำกัด  International Rivers  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ(EARTH) เพื่อสร้างแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยได้ติดตามผลกระทบและความท้าทายของธุรกิจธนาคาร

“ปัจจุบันโลกของธุรกรรมการเงินออนไลน์นั้นเป็นโลกที่กว้างใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทุกคนอาจจะอยู่ใน 2 สถานะคือนักลงทุนและผู้บริโภคทางการเงิน โดยต่างคาดหวังว่าจะได้ใช้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ แบบไม่ผ่านตัวกลางอีกต่อไป นับเป็นโอกาสดีที่ในปีนี้สหพันธ์ผู้บริโภคสากลและสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เห็นความสำคัญของการรณรงค์ด้าน Fair Digital Finance

โดยต้องการให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงการเงินได้มากขึ้น ปลอดภัยเมื่อทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ทั้งยังได้ความคุ้มครองด้านข้อมูลส่วนตัวโดยเฉพาะเมื่อทำธุรกรรมด้านการเงินอย่างไม่เลือกปฎิบัติ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านธุรกรรมการเงินใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนด้วยเช่นกัน” สฤณี อาชวานันทกุล กล่าว

“ปัจจุบัน เงินคริปโตเคอร์เรนซี แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ สกุลเงินที่ต้องการสร้างบทบาทให้เหมือนเงิน สกุลเงินเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย และสกุลเงินในแบบกระจายศูนย์แบบไม่มีผู้ควบคุม ซึ่งทุกประเภทล้วนมีความเสี่ยง จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า กว่า 50% ของการเปิดการระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขาย ดิจิทัลโทเคน (Digital token) ผ่านระบบบล็อกเชนต่อสาธารณชนจะล้มเหลวภายใน 4 เดือน ซึ่งพิสูจน์ได้ยากว่าตั้งใจหลอกหรือดำเนินธุรกิจผิดพลาดไป

ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีอัตราเสี่ยงที่สูงมาก ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรจะได้รับข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจก่อนการลงทุน เช่น มูลค่าเพิ่มที่จะเกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นโดยวิธีใด จึงอยากเรียกร้องให้สร้างกระบวนการและมาตรฐานในเรื่องนี้ให้ชัดเจน รวมถึงการคุ้มครองเมื่อผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนแล้ว เพราะหากไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ระบุไว้ผู้ลงทุนจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้เงินคืน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่นักลงทุนต้องการแม้จะทำได้ไม่ง่ายนักก็ตาม ทั้งยังมีข้อแตกต่างในการกำกับดูแลในแต่ละประเทศ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนผู้ลงทุนต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ละเอียดรอบคอบ”

“หากพิจารณาในบาทบาทผู้ใช้บริการทางการเงิน ในมุมของการโอนเงินโดยใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนมีข้อดีคือมีความโปร่งใสสูงเพราะสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ว่าที่ผ่านมามีการทำธุรกรรมอย่างไร ลดต้นทุนและเวลาในการทำธุรกรรมลงอย่างมาก ทำให้เริ่มมีการกระจายรูปแบบดังกล่าวไปสู่ผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร นอกจากจะทำธุรกรรมโดยไม่ผ่านตัวกลางแล้วยังสร้างประวัติหรือฐานข้อมูลทางการเงินได้ด้วยเช่นกันซึ่งจะเอื้อต่อการขอสินเชื่อ หากสามารถใช้ประวัติดังกล่าวได้ก็จะเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้บริโภคได้อีกมาก

การเริ่มใช้สมาร์ทคอนแทรคหรือกระบวนการทางดิจิทัลที่กำหนดขั้นตอนการทำธุรกรรมโดยอัตโนมัติไว้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง เช่นเดียวกันกับแอปพลิเคชันทางการเงินรูปแบบใหม่ดีไฟ (DeFi) ที่ไม่จําเป็นต้องมีตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ถูกต่อยอดมาจากเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งทำหน้าที่คอยจัดเก็บข้อมูลธุรกรรม มีเป้าหมายเพื่อสร้างบริการทางการเงินที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน

โดยแพลตฟอร์มดีไฟสามารถดำเนินการได้ด้วยตัว ล้วนเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น ดังนั้นเรื่องของความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในการกำกับดูแลจึงเป็นประเด็นที่ต้องคิดให้ครบ เนื่องจากมีทั้งผู้เล่นที่เป็นสถาบันการเงินและผู้เล่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จะทำอย่างไรที่จะกำกับให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่

โดยส่วนตัวมองว่าบล็อคเชนและสมาร์ทคอนแทรคก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือกำกับดูแลได้เช่นกันหาก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างเงื่อนไขสินเชื่อที่เป็นธรรมไว้ในระบบ แม้จะเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจแต่ต้องไม่ละเลยเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยเช่นกัน” สฤณี อาชวานันทกุล กล่าวเสริม

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวเตือนผู้บริโภคว่า “เงินที่จะลงทุนในสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีต้องเป็นเงินเก็บในส่วนที่ไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ควรใช้เงินกู้เพื่อลงทุน และผู้บริโภคต้องยอมรับความเสี่ยงให้ได้หากตัดสินใจลงทุนเพราะหากเข้าลงทุนในจังหวะที่ดีอาจมีกำไร แต่หากเข้าไปในจังหวะที่ไม่ดีก็ต้องขาดทุน

ซึ่งเป็นจุดที่ผู้บริโภคต้องระวัง และอยากฝากไปยังผู้ประกอบการสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี ให้พัฒนาระบบช่วยเหลือผู้บริโภคเมื่อเกิดการโอนผิดให้สามารถตรวจสอบและนำเงินกลับคืนผู้บริโภคได้ หรือกรณีถูกหลอกลวงผ่านออนไลน์ ส่วนนี้ผู้ประกอบการก็ควรต้องช่วยเหลือผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในไทยยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม จึงอยากผลักดันให้ภาครัฐเร่งดำเนินการในส่วนนี้ เพราะได้ขยับออกมาหลายครั้งซึ่งไม่อยากให้ละเลย เพราะการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลถูกกำหนดให้เป็นข้อตกลงในระดับสากลแล้ว โดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากลได้เดินหน้าขับเคลื่อนให้ก้าวสู่การเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิก”

“ปัจจุบันพบว่าระบบคุ้มครองผู้บริโภคของไทยมีการกระจายตัวสูง ทำให้เกิดความล่าช้าหากผู้บริโภคร้องเรียนผิดหน่วยงานหรือผิดขั้นตอน จุดรับแจ้งเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ควรเป็นแบบให้บริการจบในที่เดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ปัจจุบันมีการตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศฮอตไลน์ 1441 ขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภค

นอกจากนี้ ปัญหาที่ทางสถาบันการเงินหรือธนาคารไม่สามารถปิดบัญชีของผู้ใช้บริการได้ ก็ทำให้อาชญากรโลกไซเบอร์สามารถโอนเงินของผู้เสียหายไปใช้ได้โดยง่าย หากดำเนินการได้ไม่รวดเร็วพอ และเพื่อเป็นการลดปัญหาภัยคุกคามทางการเงินในโลกออนไลน์ สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงได้เดินหน้าจัดอบรมเยาวชนเพื่อให้พร้อมและรู้จักวิธีบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ให้พร้อมก้าวสู่โลกธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ได้อย่างมั่นใจ

เพื่อให้เรื่องดังกล่าวคือความรู้พื้นฐานที่ทุกคน   ต้องเข้าใจได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างให้เกิดความเป็นธรรมด้านธุรกรรมการเงิน ลดการถูกหลอกลวงซึ่งเป็นภารกิจที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างขึ้น”  การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคด้านการเงินการธนาคาร นั้นเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540-2560 ซึ่งต้องถือว่าไทยเป็นประเทศที่ก้าวหน้ามากเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคเพราะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการจัดตั้งสภาผู้บริโภคขึ้น

โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวแทนของผู้บริโภครวมตัวกันกว่า 150 องค์กร เพื่อจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ จนทำให้สามารถจัดตั้งสำเร็จได้ในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 และได้มีการออกกฎหมายเฉพาะว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคและกำหนดให้เป็นตัวแทนของผู้บริโภคทุกด้านครอบคลุม 8 ด้าน ทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิสามารถเข้าขอความช่วยเหลือจากองค์กรเครือข่ายได้

โดยปัจจุบันได้ดำเนินการตรวจสอบ และเฝ้าระวังปัญหาที่กระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคอยู่เสมอ พร้อมหาทางออกให้ผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม ทำให้เกิดกติกาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงคุ้มครองสนับสนุนให้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกว่า 247 องค์กรใน 33 จังหวัด”

ทั้งนี้ วันสิทธิผู้บริโภคโลกสากล (World Consumer Rights Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคทั่วโลกตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคทุกคนอย่างทั่วถึงทั้งโลก สิทธิผู้บริโภค ถูกพูดถึงครั้งแรกโดย จอห์น เอฟ. เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2505

โดยได้กล่าวถึงสิทธิผู้บริโภคที่สำคัญอย่างน้อย 4 ประการ คือ 1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ 2.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย 3.สิทธิที่จะเลือก และ 4.สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย นอกจากนี้ยังได้พูดถึงผู้บริโภคที่หมายถึงทุกคน ผู้บริโภคเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจที่ทั้งส่งผลบวกและได้รับผลกระทบจากเกือบทุกการตัดสินใจของภาครัฐและเอกชน แม้ว่า 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมาจากผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคก็เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ไม่มีการจัดตั้งตัวแทน ดังนั้นความเห็นของพวกเขาจึงไม่ถูกรับฟัง

สิทธิผู้บริโภค ได้ถูกรณรงค์และเคลื่อนไหวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525 โดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) การรณรงค์ในการสร้างความตื่นตัวของผู้บริโภค ส่งผลต่อการพัฒนาสิทธิผู้บริโภคสำคัญไว้ 8 ประการ รวมทั้งประสบความสำเร็จในการผลักดันให้สหประชาชาติ กำหนดแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคและได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2528 โดยการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การปรับปรุงแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2558 และเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก