Friday, April 19, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

สร้างทีมแกร่งผ่าน Neo-CV

Applying for job, giving CV, job competition, concept

“ขอแนะอีกหลักการ สำหรับการคัดเลือกพนักงาน ด้วยการพิจารณาแบบ Neo-CV เป็นการมองชีวิตทั้ง กระบวนการตั้งแต่ ความคิด ความรู้ ตัวตน และวิถีชีวิตซึ่งจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ตัวตน ความหลงใหลของคนๆ นั้นได้ผ่านการแสดงออกทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ”

ในยุคที่การแชร์ความสำเร็จเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดหรือการสร้างตัวตนในสังคม ความสำเร็จที่เปิดเผยออกมาจึงอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากชีวิตที่สำเร็จจริง และชีวิตที่ดูเหมือนสำเร็จ แต่หากความสำเร็จของชีวิตแต่ละคนคือการไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

คนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม จึงจำเป็นต้องสร้าง Curriculum Vitae (CV) หรือเรื่องราวชีวิตของตนให้ดูเหมือนมีโอกาสประสบความสำเร็จให้มากที่สุด เพื่อให้ได้รับการยอมรับในความสามารถ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ หรือสมัครเข้าทำงานในที่ดีๆ

อย่างไรก็ดี CV ในปัจจุบันอธิบายความรักหรือความหลงใหลต่องานของเจ้าของ CV ได้น้อยมาก ทั้งที่ในระยะยาว ความรักหรือความหลงใหลในงานเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่า ใครที่ควรนำมาเป็นทีมงานหรือร่วมมือกันแล้วจะทำให้งานสำเร็จได้

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ฉะนั้นในการเลือกคนเพื่อเป็นทีมงานหรือร่วมมือทางธุรกิจ จึงต้องพิจารณา CV ในแบบ Work-Life Integration คือ มองคนทั้งชีวิต ซึ่งรวมถึงความหลงใหลของคนๆ นั้นที่มักจะไม่มีระบุใน CV แบบเดิม เช่น งานอดิเรกที่ทำ เพื่อนที่คบ เวลาว่างที่ใช้เหตุผลของการทำธุรกิจ ฯลฯ ตั้งแต่อดีตไปจนถึงปัจจุบัน โดยไม่แยกชีวิตออกจากงาน

เหตุที่ต้องพิจารณาเช่นนี้ เพราะในระยะยาว ความสุขจากงานและความสุขจากชีวิตแยกกันไม่ขาด บางงานที่ระบุใน CV อาจทำเพื่อปากท้อง แต่บางงานทำเพราะเป็นสิ่งที่หลงใหล การนำ Neo-CV มาใช้จึงจำเป็นต่อความสำเร็จในระยะยาวของทุกองค์กร เพราะจะช่วยทำให้รู้จักคนที่จะมาเป็นทีมงานได้ดีกว่า

Neo-CV คือ เรื่องราวชีวิตที่ “แสดงออก” โดยมีประวัติและคำอธิบาย เช่น อุดมคติชีวิต แนวความคิดต่อเรื่องต่างๆ แรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการทำงาน โดยที่ไม่จำเป็นผูกกับตำแหน่งในองค์กร หรือบทบาททางสังคมที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนตัวตนชีวิตที่แท้จริงของคนๆ นั้นได้ดีกว่า

Neo-CV เป็นการมองชีวิตทั้ง “กระบวนการ”โดยเริ่มตั้งแต่ ความคิด (Thinking) ความรู้ (Knowing) ตัวตน (Being) และวิถีชีวิต (Living)ซึ่งจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ตัวตน ความหลงใหลของคนๆ นั้นได้ผ่านการแสดงออก (Manifesting)ทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ

ซึ่งในหนังสือ ลายแทงนักคิด ที่ผู้เขียนแต่งนั้นเรียกกระบวนการนี้ว่า“กระบวนการแสดงออกมนุษย์” (Human-Manifesting Process)ซึ่งสามารถสะท้อนชีวิตในด้านที่สำคัญ 6 ด้าน (ฉลักษณ์ชีวิต) ว่า “ดี งาม จริง” และเหมาะที่จะร่วมงานหรือไม่

1. ชีวิตที่แสดงอุตมลักษณ์ (MEANING OF LIFE)

“งาน” ในมุมมองของผม หมายถึง การรับจิตสำนึก (Inner Calling) เกิดจากการสังเคราะห์ความหมายคำว่างาน 7 คำ ได้แก่ work, employment, job, career, occupation, profession และ vocation โดยให้น้ำหนักคำว่า vocation หรือเสียงเรียกในจิตใจให้อุทิศตัวมากที่สุด

ชีวิตที่แสดงอุตมลักษณ์ คือ ชีวิตที่รับ “เสียงเรียกในหัวใจ” มาเป็นจิตสำนึก จนเกิดเป็นอุดมคติอันเป็นสิ่งที่มีลักษณะดีแท้ งามแท้ และจริงแท้ ที่คนๆ นั้นปฏิเสธไม่ได้ จึงทำให้ใช้ทั้งชีวิตคิดหาวิธีที่สามารถทุ่มเททำงานเพื่อให้อุดมคตินั้นเกิดขึ้นจริง และทำงานในลักษณะ “Lifelong Calling”ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นในอดีต ที่ทำงานเหมือนเป็นทุกอย่างของชีวิต

2. ชีวิตที่แสดงอมตลักษณ์ (TRUTH OF LIFE)

อมตลักษณ์ หมายถึง ลักษณะที่จริงธรรมเสมอ โดยไม่ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ ชีวิตที่มีอมตลักษณ์ จึงเป็นชีวิตที่เรียนรู้สัจธรรมแห่งชีวิตตลอดชีวิต เป็น “Lifelong learning” ส่งผลให้คนๆ นั้นมีจุดยืนเรื่องความจริงของชีวิตและโลก และตัดสินใจในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการเลือกทำหรือปฏิเสธสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสัจธรรมที่ตนยึดถือ โดยไม่ทำให้ส่วนรวมเดือดร้อน

3. ชีวิตที่แสดงอัตลักษณ์ (IDENTITY OF LIFE)

อัตลักษณ์ คือ ลักษณะที่สะท้อนตัวตน ซึ่งหากไม่ถูกใช้เท่ากับทีมงานหรือสังคมจะเสียโอกาสที่จะได้ประโยชน์คนๆ นั้นอย่างเต็มที่ เพราะไม่มีใครทดแทนใครได้อัตลักษณ์ของคนจึงต้องถูกใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ชีวิตที่แสดงอัตลักษณ์จึงเป็นชีวิตที่ใช้ตามเนื้อแท้ของตน เป็น “Lifelong discipling”จึงจะส่งต่ออุดมคติที่ยึดถือได้

4. ชีวิตที่แสดงอัคคลักษณ์ (WORTHINESS OF LIFE)

ความรักที่อารยะ คือ การให้ตนเองทั้งกายใจ และจิต แก่ผู้อื่น เพราะเห็นคุณค่ากับสิ่งนั้นมากกว่าตนเองโดยไม่ขัดแย้งกับความดีงามจริง เช่น การเห็นแก่ประเทศชาติและสังคมส่วนรวมก่อนเห็นแก่ผู้อื่นก่อน ชีวิตที่แสดงอัคคลักษณ์จึงเป็นชีวิตที่เอาทั้ง กาย ใจ และจิตวิญญาณ ไปผูกพันกับสิ่งที่เห็นคุณค่าจนต้องแสดงออกเป็นวิถีชีวิต หรือ “Worthiness of Life” ดังนั้นหากเรามอบหมายงานที่สอดคล้องกับสิ่งที่แต่ละคนให้คุณค่า เขาจะผูกพันกับงานนั้นอย่างแท้จริง และแสดงออกเป็นการให้เวลา ทรัพย์ ความสามารถแก่สิ่งนั้นๆ

5. ชีวิตที่แสดงอุโฆษลักษณ์ (Echo of Life)

อุโฆษลักษณ์ คือ การแสดงสารหลักของชีวิตจนสามารถเป็นต้นแบบแก่ผู้อื่น และต้องเป็นต้นแบบที่ดีจนผู้อื่นเดินตาม สามารถโน้มน้าวให้คนทำในเรื่องที่ตนเห็นดีงาม และไม่ทำในเรื่องที่ไม่เห็นด้วยได้ ชีวิตที่แสดงอุโฆษลักษณ์ จึงเป็นชีวิตที่สามารถส่งข้อความของชีวิตได้อย่างชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องพูดเสมอไป เป็นเหมือนแบรนด์ หรือภาพลักษณ์ติดตัว การตัดสินใจทำหรือไม่ทำสิ่งใดจะตั้งอยู่บนความรับผิดชอบในการเป็นต้นแบบผู้อื่น เช่น การเป็นหัวหน้าทีมที่ลูกน้องสามารถยกเป็นไอดอลได้ เป็นต้น

6. ชีวิตที่แสดงเอกลักษณ์ (UNIQUENESS OF LIFE)

ชีวิตที่แสดงเอกลักษณ์ คือ ชีวิตที่แสดงอุตมลักษณ์ อมตลักษณ์ อุโฆษลักษณ์ อัตลักษณ์ อัคคลักษณ์ และสอดคล้องกันตั้งแต่ความคิดไปจนถึงการกระทำชัดเจน จนคนอื่นหมดข้อสงสัย ยอมรับในความดี ความเก่ง ความกล้า เกิดเป็นเอกลักษณ์ และกลายเป็นตำนานชีวิตที่ไม่มีใครทดแทนได้

ไม่นานมานี้มียูทูปเบอร์ชื่อดังโพสคลิปแชร์ประสบการณ์การทำธุรกิจที่ขาดทุน 17 ล้านบาท ซึ่งแทนที่เขาจะปิดบังความล้มเหลวไว้ แต่กลับบอกว่า 17 ล้านบาทนี้เปรียบเป็นค่าเรียนปริญญา สิ่งนี้สะท้อนความคิดตัวตนของเขาได้เป็นอย่างดีว่า ไม่ได้มองความล้มเหลวเป็นเรื่องน่าอาย

เช่นเดียวกัน ผมสอนทีมงานเสมอว่า ไม่ให้นำความสำเร็จที่คนส่วนใหญ่มอบให้มาเป็นความหมายชีวิต แต่ทำสิ่งที่เลือกแล้วว่าสอดคล้องกับเสียงเรียกของชีวิตตน ดังนั้นแม้ผมมอบหมายงานที่ไม่ตรงกับความถนัดจนเกิดการผิดพลาดบ้าง แต่สุดท้ายเขาก็จะทำงานจนเสร็จ และทำได้เกินศักยภาพของตนเสมอ