Friday, March 29, 2024
5GNEWSSmart CityTechnology

ชัยวุฒิ ลงพื้นที่เชียงใหม่เร่งเครื่อง 5G ด้านการแพทย์-สมาร์ทซิตี้

ชัยวุฒิ

ชัยวุฒิ รมว.ดีอีเอส ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ติดตามนโยบายหนุนใช้ประโยชน์ดิจิทัล ทั้งโครงการนำร่อง 5G ต้นแบบ เพิ่มจำนวนศูนย์ดิจิทัลชุมชน และผลักดันเมืองอัจฉริยะภาคเหนือ สานเป้าหมายพัฒนาบริการประชาชนทั่วถึง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 20-22 ม.ค. 65 ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติราชการ ณ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการที่ขับเคลื่อน

โดยหน่วยงานในสังกัด ขานรับนโยบายของรัฐบาล ที่สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ให้มีประสิทธิภาพสูงครอบคลุมทั่วประเทศที่ทุกคนเข้าถึงได้

โดยวันนี้ (20 มกราคม 2565) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ ในการนำเทคโนโลยีระดับโลกมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขรูปแบบใหม่ให้บริการประชาชน ดำเนินการโดยโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ซี่งสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในสังกัดดีอีเอส จัดสรรงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กรอบนโนบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย

ชัยวุฒิ

โดยโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างดีอีเอส และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.โครงการนำร่องการพัฒนาย่านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบ สำหรับให้บริการประชาชน (5G District) จังหวัดเชียงใหม่ (โครงการ 5G smart health) และ 2.โครงการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อขยายการเข้าถึงการให้บริการประชาชน

ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการปรึกษาและรักษาผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลประจำอำเภอ ในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ร่วมโครงการ จำนวน 20 แห่ง

ชัยวุฒิ

โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพียงเดินทางไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอที่ใกล้เคียงที่พัก หรือที่สะดวกในการเข้ารับบริการ อีกทั้งยังทำให้สามารถลดต้นทุนด้านการเดินทาง และลดเวลาแก่ผู้ป่วยได้ ที่สำคัญผู้ป่วยยังสามารถได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

ในโอกาสลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ ยังได้เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบครุภัณฑ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนบ้านไร่ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนโรงเรียนวังน้ำหยาด ศูนย์ดิจิทัลชุมชน กศน. อำเภอดอยหล่อ

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเทศบาลตำบลบ่อหลวง ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเทศบาลตำบลท่าผา และศูนย์ดิจิทัลชุมชนเทศบาลตำบลอมก๋อย และตรวจเยี่ยมและสอบถามการใช้งานโครงการเน็ตประชารัฐกับประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ด้วย

ชัยวุฒิ

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2563– 2565 สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ดำเนินการขยายผลและยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนสู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวนรวม 500 ศูนย์

โดยจะจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับบริบทและวัฒนธรรมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เพื่อใช้ในการผลักดันประชาชนในพื้นที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนจำนวน 13 ศูนย์

ได้แก่ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนสถาบันพัฒนาเยาวสตรี มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ศูนย์ดิจิทัลชุมชนวัดเจดีย์งาม ศูนย์ดิจิทัลชุมชนโรงเรียนบ้านกาด (เขมวังส์) ศูนย์ดิจิทัลชุมชนวัดจันทร์ และศูนย์ดิจิทัลชุมชนวัดพระธาตุดอยสะเก็ด ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเทศบาลตำบลท่าผา ศูนย์ดิจิทัลชุมชนโรงเรียนวังน้ำหยาด

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนบ้านไร่ ศูนย์ดิจิทัลชุมชน กศน.อำเภอดอยหล่อ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเทศบาลตำบลยางเนิ้ง ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเทศบาลตำบลอมก๋อย ศูนย์ดิจิทัลชุมชนวัดแม่ตื่นน้อย ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเทศบาลตำบลบ่อหลวง

โดยวันนี้ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดศูนย์ฯ จำนวน 3 แห่ง ณ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนบ้านไร่ โรงเรียนบ้านไร่ ต.ดอยเต่า อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ และเปิดศูนย์ดิจิทัลชุมชนโรงเรียนวังน้ำหยาด ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และศูนย์ดิจิทัลชุมชน กศน.อำเภอดอยหล่อ ต.ดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ในรูปแบบออนไลน์

โดยมุ่งหวังให้ศูนย์ดิจิทัลชุมชน สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนในชุมชน ให้มีความเข้มแข็งในด้านต่างๆ อาทิ เป็นกลไกประชารัฐในการสร้างโอกาสให้ประชาชนและรัฐ ร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างความร่วมมือ ร่วมใจของรัฐและประชาสังคม

เพื่อร่วมพัฒนาและแก้ปัญหาเศรษฐกิจเละขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สร้างโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างรายได้/สร้างงาน ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงการสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สู่เป้าหมายในการยกระดับสู่เอสเอ็มอี และการเป็นอุตสาหกรรม

Leave a Response